ชุมชนกัลยาณมิตร,  บันทึกรุ่งอรุณ,  รอบรั้วรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

โครงการ “สามเณรน้อย แม่ชีน้อย พบธรรม ครอบครัวพบสุข” ครั้งที่ ๒

“ศาสนาพุทธไม่ใช่พิธีกรรม  ไม่ใช่กระทั่งการนั่งสมาธิและการเดินจงกรม สิ่งที่เป็นจุดสำคัญของศาสนาพุทธคือ ตัวปัญญา ตัวความรู้ถูก ความเข้าใจถูก คือตัวสัมมาทิฐินั่นเอง ถ้ามีคนถามเราว่า อะไรคือศาสนาพุทธ  เราตอบไปเลยเสียงดังๆ ว่า สัมมาทิฐิ  คือตัวศาสนาที่แท้จริง สมาธิ สติ เป็นตัวประกอบเพื่อให้เราเกิดปัญญา เกิดความรู้ถูก เข้าใจถูกเท่านั้นเอง

เมื่อไรที่เราเห็นร่างกายนี้ตามความเป็นจริง  เรียกว่ารู้ถูก มีปัญญา เข้าใจกาย เราจะพบว่าร่างกายนี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา เป็นของที่ควบคุมบังคับไว้อย่างใจนึกไม่ได้ เราไม่อยากแก่เราก็แก่ เราไม่อยากโต เราก็โต ไม่อยากตาย เราก็ตาย ไม่อยากป่วย เราก็ป่วย บังคับไว้ไม่ได้จริง

พอเราเห็นความจริงของร่างกายแล้ว เวลาอะไรเกิดขึ้นกับร่างกายแล้ว เราจะไม่ทุกข์ เราเห็นว่าความสุขอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับไป ความทุกข์อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับไป บุญ บาปทั้งหลาย กุศล อกุศลทั้งหลาย อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับไป สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับทั้งสิ้น พอเห็นอย่างนั้นแล้ว ใจเราจะไม่อยากได้ความสุข รู้ว่าสุข สงบไม่ดี ก็ไม่เที่ยง…”

ธรรมะจากหลวงพ่อปราโมทย์ ปราโมชฺโช ที่เมตตาแสดงธรรมเทศนาแก่พระสงฆ์ สามเณรน้อย แม่ชี แม่ชีน้อย และผู้ปกครอง เมื่อวันที่ ๑๕ ธํนวาคม ๒๕๖๑ ณ วัดสวนสันติธรรม จ.ชลบุรี

ฝึกตน ฝนปัญญา ในฐานะลูกของพระพุทธเจ้า

บิณฑบาตที่ตลาดบรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์

โครงการ “สามเณรน้อย แม่ชีน้อย พบธรรม ครอบครัวพบสุข” ครั้งที่ ๒ เป็นโครงการบวชของโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนใช้เวลาช่วงปิดภาคเรียน มาใช้ชีวิตเป็นลูกของพุทธเจ้า เพื่อเรียนรู้หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ฝึกสติเรียนรู้กายใจ ตลอดจนปฏิบัติกิจพิธีกรรมต่างๆ ของสามเณรและแม่ชี ในวันที่ ๕-๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๑ ณ โรงเรียนรุ่งอรุณ และสวนธรรมธาราศัย อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์

ธุดงค์ และปฏิบัตกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาวัด ณ ที่พักสงฆ์เขาลานวัวและเขาพระ จ.นครสวรรค์

“เรามาถึงจุดที่รู้จักฝึกคุณค่าแท้ เป็นคุณค่าแท้ของมนุษย์ คือการมีสติสัมปชัญญะ แล้วเรารู้วิธีที่จะเจริญได้ เจริญคือทำให้ดีขึ้น ทำให้มากขึ้น มีสติอยู่ใกล้ตัวมากขึ้น ชีวิตเราก็ไม่ตกอบ ไม่พลัดไปสู่โลกที่ชั่วแล้ว สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าพวกเราไม่ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่มีฉันทะ ไม่มีศรัทธา อย่างน้อยที่เด็กๆ บอกว่าจะบวช เป็นความสมัครใจของตัวเอง ก็คือฉันทะและศรัทธาเบื้องต้น เราพบด้วยตัวเองว่าสิ่งนี้ทำให้เราเข้มแข็ง ทำให้เรามั่นคงในจิตใจมากขึ้น ขอให้หมั่นฝึกฝนและเจริญในเรื่องนี้ต่อไป” คุณครูสุนิสา ชื่นเจริญสุข (คุณครูโม) ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ

สามเณรน้อย แม่ชีน้อย…พบธรรม

ไถ่ชีวิตโค-กระบือ ณ รุ่งโรจน์ฟาร์ม จ.พระนครศรีอยุธยา

“การจะได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นยากมาก ยากเสียยิ่งกว่าเต่าตาบอดว่ายน้ำมาจากก้นทะเลลึกขึ้นมากอดห่วงยางที่อยู่บนผิวน้ำเสียอีก ฉะนั้นเมื่อได้โอกาสเกิดเป็นมนุษย์แล้วก็ต้องหมั่นทำความดี รักษาศีลให้ครบ” สามเณรสิงโต ป.๕/๑

“ได้เรียนรู้เรื่องความอดทน เพราะตอนเดินบิณฑบาต มีกรวดและก้อนหินเยอะ เมื่อไปเหยียบจึงทำให้รู้สึกเจ็บ หากเรามีความอดทนก็จะสามารถผ่านช่วงเวลานั้นไปได้ และได้เรียนรู้เรื่องสติ เพราะที่นี่สอนให้เรารู้สึกตัวว่ากำลังทำอะไรในขณะนั้น ถ้าเผลอมองก็ให้รู้ว่าเผลอมอง ถ้าเผลอคิดก็ให้รู้ว่าเผลอคิด ถ้าอยากก็ให้รู้ว่าอยาก” แม่ชีมีมี ป.๕

“ได้เรียนรู้เกี่ยวกับจิตของตัวเอง ว่าเป็นเหมือนเด็กซนที่เที่ยวไปสนใจสิ่งต่างๆ และเราก็ควบคุมมันไม่ได้ เราแค่ต้องรู้เวลาที่มันไปสนใจสิ่งต่างๆ เท่านั้น ไม่ต้องทำอะไรต่อ และได้เรียนรู้ว่าสติเป็นสิ่งสำคัญมากในการอยู่ในสังคม เพราะสติจะเตือนเราว่าทำอะไรอยู่ และเตือนว่าควรทำสิ่งนั้นหรือไม่” แม่ชีปัน ปัน ป.๖/๔

ครอบครัว…พบสุข

เยี่ยมผู้ป่วยที่สถาบันราชประชาสมาสัย (พระประแดง)

“เมื่อเราผู้เป็นแม่ได้ตามไปปฏิบัติที่สวนธรรมธาราศัยด้วยภายหลังจากเสร็จกิจธุระที่กรุงเทพฯ คือในวันที่ ๑๐ ธ.ค. ๖๑ นั้น แม่ชีปันปันได้จำวัดอยู่ที่นั่นมา ๔ วันแล้ว ได้เห็นอาการสงบของแม่ชีตอนที่แม่ชีเห็นโยมแม่ ก็รู้สึกยินดีอนุโมทนา” ฐิติพรและฉัตรชัย ตีรประเสริฐ (แม่แพนด้าและพ่อเป้ ของ ด.ญ.ปัญญเมตต์ ตีรปรเสริฐ-ปันปัน ป.๖/๔)

“ที่สถาบันราชประชาสมาสัย แม่ได้เห็นลูกคุยกับผู้ป่วยติดเตียงหลายคน มีคนหนึ่ง… ลูกบอกว่า “ถึงลุงจะป่วย แต่ลุงก็ปฏิบัติธรรมได้นะครับ ลุงอย่าลืมปฏิบัติธรรม และตั้งใจรักษาศีลนะ เมื่อตายไปจะได้ไม่ทุกข์อีก” แม่ได้เห็นด้านที่อ่อนโยนของลูก ในใจแม่เป็นสุขมาก อยากให้สิ่งเล็กๆ เหล่านี้เข้าไปบ่มเพาะและเติบโตในหัวใจของลูก” แม่แหม่ม-ร่มพร เสมทัพพระ (สามเณรมัดหวาย ด.ช.เขียนวาด เสมทัพพระ)

สวดให้พรแก่โยมพ่อโยมแม่และครอบครัวที่มาร่วมตักบาตร

“นอกจากตัวเณรเองแล้ว พ่อ แม่ พี่ ปู่ย่า ตายาย และญาติๆ รวมถึงคณะครู และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ต่างก็ได้มีโอกาสเข้าถึงธรรมอย่างพร้อมเพียงกัน ทั้งฟังธรรม ปฏิบัติภาวนา และทำบุญร่วมกัน นำความสุขใจมาให้ทุกคนในช่วงการบวชของเณร โดยเฉพาะคุณแม่และพี่สาวที่ได้มีโอกาสไปร่วมเป็นผู้ปกครองอาสาและปฏิบัติธรรมร่วมกับเณร ณ สวนธรรมธาราศัย” ผู้ปกครองเด็กชายอาร์ตี้

“…ลูกต้องผ่านความอดทน ความคิดถึงบ้านอย่างมาก ต้องช่วยเหลือตนเองในการปฏิบัติ ต้องถือศีล ต้องตื่นตี ๔ เพื่อทำวัดเช้าและบิณฑบาต ต้องงดอาหารเย็น  ฉะนั้นความอิ่มใจสุขใจของพ่อกับแม่ไม่ใช่ชุดที่เณรกับชีสวมใส่ แต่เป็นการที่ได้เห็นลูกได้ลงมือทำ ลงมือปฏิบัติจนสำเร็จ” พ่อเอ๊ด แม่ตี้ ผู้ปกครองของ กันตะ ป.๖/๒ ปุณญ่า ป.๒/๑ 

“ความรู้สึกแรกของคนเป็นพ่อแม่ ไม่เพียงแต่มีความสุขที่ลูกบวช แต่มันหมายถึงการที่เขายอมทิ้งความสบายช่วงปิดเทอมที่บ้าน…ต้องไปเดินเท้าเปล่าตั้งแต่เช้ามืด ทำให้เรารู้ว่า เขาโตพอที่จะเรียนรู้การอดใจ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่มนุษย์พึงมีเมื่อเติบโตขึ้นมาสู่วัยทำงาน และวันมีครอบครัว” คุณพ่อเตี่ยง คุณแม่ชมพู่  ธีร์ ป.๖/๔

แสดงเทศนาธรรมแก่ครูและผู้ปกครอง

“… ความเปลี่ยนแปลงที่พ่อแม่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด คือด้านอารมณ์ เรื่องที่ปกติเคยโกรธก็ไม่โกรธ เรื่องที่ปกติไม่ยอมก็ยอม อะไรทำให้ลูกเปลี่ยนไป มิมมี่บอกว่า พระอาจารย์สอนให้ดูจิต ให้รู้ทันว่ากำลังโกรธ ให้รู้ทันว่าอยาก เป็นบุญจริงๆ” พ่อป้อม แม่เปิ้ล

“ภาพสำคัญคือได้เห็นลูกเณร-ชี ทุกท่านได้ไปเรียนธรรมกับพระสุปฏิปันโนอย่างตั้งใจ ได้ถามธรรมะจากความเข้าใจในธรรม เป็นที่น่าชื่นชมของคนทั่วไป และเป็นความอุ่นใจที่ได้เห็นพวกเขาอยู่บนทางที่สามารถบรรลุธรรมได้ในวันข้างหน้า และนั่นเป็นของขวัญที่วิเศษสุดที่เด็กสักคนจะได้รับจากคุณพ่อคุณแม่ และคุณครู” พ่อยอด (ด.ช.โชตนา อมรสิทธิ์)