More Than Art • More Than Music
ในการแสดงดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทยชุด “ปัญญามณี” บนเวที More Than Music เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา นอกจากการผสมผสานระหว่างการบรรเลงดนตรีไทย การขับร้อง การร่ายรำ และการแสดงละครแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญและสร้างความประทับใจในการแสดงชุดนี้ คือ ฉากหลังที่บอกเล่าเรื่องราวในแต่ละองก์ ซึ่งเป็นผลงานของนักเรียนชมรมศิลปะระดับมัธยมปลาย ที่นำศักยภาพด้านศิลปะมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงชุดนี้
- องก์ที่ ๑ สุดสาครพบเจอกับสัตว์ต่างๆ เทคนิคพับกระดาษ ผลงานโดย นายพุฒิพงศ์ ปรารถนวนิช (ไฮฟราย) ชั้น ม.๖
- องก์ที่ ๒ ฉากเดินทางผจญภัยและฉากต่อสู้ เทคนิคลายเส้นปากกาสีดำ ผลงานโดยนักเรียนชั้น ม.๕ นายเดชดนัย จันทร์เรือง (กลอรี่) นางสาวณัชชา ทรงธัมจิตติ (แพร) นางสาวอัญญา วงศ์ศิริทรัพย์ (อัน อัน) และนางสาวปภัสสรณ์ แต่ตรงจิตต์ (พลอย)
- องก์ที่ ๓ สุดสาครพบนางมโนราห์ เทคนิคสีธรรมชาติบนกระดาษผสมกาวเม็ดมะขาม ผลงานโดย นางสาวณิชานันท์ ชูวิทย์ (แพรว) ชั้น ม.๖
เมื่อครูวางใจและให้โอกาส ศักยภาพเด็กก็เบ่งบาน
เบื้องหลังการทำงานร่วมกันระหว่างครูดนตรีไทยกับนักเรียนชมรมศิลปะในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการที่ทีมครูดนตรีไทยอยากสร้างสรรค์การแสดงให้แตกต่างไปจากทุกปี กอปรกับเห็นงานศิลปะอันน่าทึ่งของนักเรียนในงาน Art Fair จึงเกิดไอเดียนำงานศิลปะมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงดนตรีไทย และเป็นเวทีให้นักเรียนศิลปะได้โชว์ศักยภาพมากกว่าการจัดแสดงนิทรรศการ
“เรารู้สึกว่างานศิลปะของนักเรียนเราเจ๋งมาก เราน่าจะนำผลงานเหล่านี้มาทำอะไรได้มากกว่าแค่จัดแสดงนิทรรศการหน้างานคอนเสิร์ตเหมือนปีที่ผ่านๆ มา แต่นำมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโชว์ได้ เลยชวนแพรวซึ่งเป็นรุ่นพี่ในชมรมศิลปะมัธยม แพรวก็ไปชวนเพื่อนและน้องๆ ในชมรมมาช่วยกัน เราก็เล่าเรื่องราวของปัญญามณีให้เขาฟัง อัดเสียงเพลงเสียงดนตรีให้เขาไปฟัง แล้วให้อิสระเขาออกแบบงานกันเอง เพราะเราวางใจ และเชื่อในงานของพวกเขา” ครูอภิญญาวุฒิ วิโรจน์เวชภัณฑ์ (ครูโอ๊ต)
เมื่อได้รับโจทย์จากครูโอ๊ต นักเรียนทั้งหกคนมาแบ่งงานกันรับผิดชอบในแต่ละองก์ แล้วช่วยกันคิดว่าจะสื่อสารออกมาในรูปแบบไหน เพราะแต่ละคนถนัดเทคนิคต่างกัน จะทำอย่างไรให้งานแต่ละส่วนเชื่อมโยงเป็นเรื่องราวเดียวกัน ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่าจะใช้ตัวละครสุดสาครเป็นตัวเดินเรื่อง นำภาพครูที่แสดงเป็นสุดสาครมาเป็นแบบวาด มีเครื่องแต่งกายให้ดูแล้วรู้ว่าคือสุดสาคร ไม่ว่ามันจะเป็นสไตล์งานแบบไหน เพื่อให้งานแต่ละส่วนไม่หลุดออกจากกัน ก่อนจะแยกย้ายกันไปทำงาน โดยมีแพรว พี่ใหญ่ของกลุ่มคอยติดตามงานแต่ละส่วนและประสานงานกับครู
ศิลปะเพื่อบูชาครู
นางสาวณิชานันท์ ชูวิทย์ (แพรว) ชั้น ม.๖
“งานส่วนของหนูเป็นงานลายไทยบนกระดาษกาวเม็ดมะขาม ซึ่งเป็นเทคนิคของ อ.ผ่อง เซ่งกิ่ง เนื่องในวาระที่อาจารย์อายุครบ ๗๒ ปี ซึ่งขณะที่ทำงานนี้ หนูก็มีงานละครของ ม.๖ มีช่วงหนึ่งที่เราซ้อมละครกันถึง ๔ ทุ่ม ซ้อมเสร็จ เก็บของ มันเหนื่อยมากๆ แล้วกลุ่มหัวหน้าฝ่ายต่างๆ ก็ต้องมานั่งคุยกันต่อถึง ๕ ทุ่ม เที่ยงคืน กว่าจะกลับบ้าน เช้าก็ต้องมาโรงเรียน มาคุยงาน ทำงานกันต่อ ซึ่งงานละครมันสำคัญมาก เป็นงานสุดท้ายก่อนจบ แต่งานนี้ก็สำคัญ เป็นงานที่มีคุณค่ามากสำหรับตัวหนูเอง เพราะอาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง ท่านได้ให้กระดาษ ให้อุปกรณ์ ให้แรงซัพพอร์ทเรามาทำงานนี้ รู้สึกว่างานนี้อย่างไรก็ต้องทำให้เสร็จให้ได้ ไม่ว่าจะเหนื่อยแค่ไหน มันไม่มีคำว่าเส้นของขีดจำกัดของตัวเองแล้ว แต่เดิมหนูจะมีว่า ขีดจำกัดของตัวเองเท่านี้พอ เหนื่อยแล้ว ไม่ไหวแล้ว แต่ตอนนี้คำนั้นมันไม่มีอยู่ในหัวแล้ว อย่างไรก็ต้องทำให้เสร็จ ทำให้ดีที่สุด”
“วันงานคอนเสิร์ต หนูต้องเตรียมงานละคร ม.๖ ที่จะแสดงต่อจากของดนตรีไทย แต่ก็อดใจไม่ไหว ไปซุ่มแอบดูหลังม่านดำๆ คนเดียว พอเห็นฉากแต่ละส่วนออกมา หนูภูมิใจมาก มันไม่ใช่งานของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการทำงานร่วมกันของทุกคนในแต่ละส่วนที่ออกมาเป็นเรื่องเดียวกัน และรู้สึกดีใจที่ถึงแม้สุดท้ายอาจารย์ผ่องจะไม่ได้มาคอนเสิร์ต (เนื่องจากปัญหาสุขภาพ) แต่เราได้พูดถึงอาจารย์ มีเทคนิคของอาจารย์ มีลายไทยที่เรียนกับอาจารย์ขึ้นโชว์บนเวทีนี้ เป็นความภูมิใจที่เราได้ทำสิ่งนี้ให้อาจารย์ค่ะ”
ศิลปะพาก้าวข้ามข้อจำกัด
นายเดชดนัย จันทร์เรือง (กลอรี่) ชั้น ม.๕
“เริ่มแรกเราก็ไปฟังเรื่องราวจากครูโอ๊ตก่อน ฟังบทกลอนว่ามีความหมายว่าอย่างไร แล้วค่อยๆ ตีความออกมาเป็นฉาก ทำ storyboard แล้วแบ่งกันทำงาน เราพอจะรู้ว่าเครื่องแต่งกายนักแสดงจะเป็นอย่างไร ก็ต้องดีไซน์ออกมา เสร็จแล้วค่อยไปนำไปวาดเป็นงานจริง ก็วาดสดแล้วถ่ายวิดีโอ เสร็จแล้วค่อยไปตัดต่อให้ตรงกับการแสดง”
“ช่วงที่ทำงานนี้เป็นปลายเทอมแล้ว งานก็มหาศาลมาก สอบทุกวัน แล้วส่วนตัวผมค่อนข้างกังวล เพราะไม่เคยทำงานวาดสดแล้วถ่ายเลย ส่วนใหญ่แล้วผมเป็นคนที่ร่างเยอะมาก ไม่ค่อยมั่นใจที่จะวาดขึ้นสด แต่พอเวลามันกระชั้น มันบีบให้เราต้องลงมือทำ แล้วพอทำจริงกลายเป็นว่าเราก็ทำได้ รู้สึกว่าความกดดันมันผลักดันให้เราสามารถทำสิ่งที่ไม่คิดว่าจะทำได้ รู้สึกดีใจ ภูมิใจที่งานเราได้ขึ้นโชว์ ได้โชว์ศักยภาพให้คนเห็น”
สิ่งที่ต้องทำ vs สิ่งที่อยากทำ
นางสาวณัชชา ทรงธัมจิตติ (แพร) ชั้น ม.๕
“สถานการณ์หนูจะคล้ายๆ กลอรี่ เพราะอยู่ชั้นเดียวกัน เรียนสายเดียวกัน สิ่งที่ได้เรียนรู้หลักๆ ก็เรื่องการจัดการเวลา เพราะช่วงนั้นงานเยอะติดต่อกันทุกวัน แล้วโปรเจกต์นี้เราอยากทำจริงๆ อยากทำก็เลยมาทำ เลยต้องจัดการระหว่างสิ่งที่ต้องทำกับสิ่งที่อยากทำ อันไหนควรทำก่อนทำหลัง สอบก็ต้องอ่านหนังสือ งานนี้ก็ทั้งอยากทำและต้องทำด้วย เพราะรับงานมาแล้ว”
“รู้สึกภูมิใจว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งในงานครั้งนี้ แล้วเราก็ตั้งใจจริงๆ”
ความสำเร็จไม่ได้มาจากเราคนเดียว
นายพุฒิพงศ์ ปรารถนวนิช (ไฮฟราย) ม.๖
“ตอนที่คุยกันว่า คลิปวิดีโอพับกระดาษ แว้บแรกที่เข้ามาในหัวคือ ง่าย พับกระดาษเราทำได้อยู่แล้ว ก็คิดว่าเราจะจบงานนี้ด้วยตัวเราคนเดียว แต่พอทำไป พับๆ อยู่ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วใครจะถ่าย เราถ่ายเองออกมาจะดีหรือเปล่า เริ่มคิดว่าเราทำงานนี้คนเดียวไม่ได้แล้ว เลยไปปรึกษาพี่ทีมสื่อสารองค์กรของโรงเรียน ก็สรุปกันว่าจะทำคล้ายหุ่นเชิด เอาเพลงที่ครูโอ๊ตอัดมา แล้วขยับให้เข้ากับจังหวะ โดยมีพี่ทีมสื่อสารช่วยถ่ายและตัดต่อ ทำให้ผมได้เรียนรู้การทำงานอย่างมืออาชีพ ที่ไม่ใช่แค่ตั้งกล้องถ่าย แต่มันมีเรื่องอุปกรณ์ เทคนิคการถ่าย การจัดแสง ที่ผมได้เรียนรู้เพื่อเอาไปใช้ทำงานต่อไป”
“งานนี้ทำให้ผมเรียนรู้ว่า งานจะสำเร็จได้ ไมใช่เพียงเพราะคนคนเดียว แต่มันต้องมาช่วยกัน มารวมพลังกัน ทำให้ผมเรียนรู้ที่จะประสานงาน คุยงานกับคนอื่นมากขึ้น จากเดิมที่คิดว่าเราจะทำงานนี้คนเดียว เพื่อให้งานสมบูรณ์แบบมากขึ้น”