จงเป็นผู้กินกาลเวลา ไม่ใช่ถูกกาลเวลากิน
เนื่องในวาระปีใหม่ไทย และเริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ ๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๒ ผู้บริหาร ครู และบุคลากร โรงเรียนรุ่งอรุณ ร่วมกันจัดพิธีรดน้ำขอพร รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ และอาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง หัวหน้าชุมชนบ้านช่าง โรงเรียนรุ่งอรุณ เพื่อระลึกถึงและแสดงความกตัญญูกตเวทิตาคุณ แด่ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ ผู้เป็นต้นทางแนวคิดในการทำงานการศึกษาและการใช้ชีวิตของพวกเราทุกคนชาวชุมชนรุ่งอรุณทุกคน
ในครั้งนี้ รศ.ประภาภัทร ได้ให้โอวาทที่เป็นพรแก่พวกเราทุกคน ขอนำมาแบ่งปันเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตแด่กัลยาณมิตรทุกท่าน
ทุกอย่างสร้างด้วยน้ำมือมนุษย์
“เราอยู่ในภูมิรมณีย์ เราพยายามดูแลรักษาต้นไม้ที่ปลูกมาตั้งแต่สร้างโรงเรียน ตอนตั้งโรงเรียนยังไม่มีต้นไม้ใหญ่นะ มีอยู่บ้างเล็กน้อย เราต้องเอาไม้ใหญ่ค่อยๆ มาลง กำจัดวัชพืชไปทีละน้อยๆ แปลงสภาพมัน ด้วยน้ำมือมนุษย์นี่ล่ะ ไม่ใช่ว่าใครที่ไหนไม่รู้มาทำให้ เราต้องตั้งใจ ต้องมีจิตมีใจมาก่อน ทุกอย่างบนโลกนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์ จะสร้างให้โลกเย็นก็ได้ จะสร้างให้แห้งแล้งก็ได้”
อยู่อย่างรู้ตัว ถ่อมตัวต่อธรรมชาติ
“ในโรงเรียนมีไม้ใหญ่เยอะแยะ เราก็พยายามดูแลรักษาไม่ให้เกิดการเบียดเบียนต้นไม้ แม้แต่การก่อสร้างก็ระมัดระวังไม่ให้อาคารไปข่มสภาพแวดล้อมธรรมชาติ เราพยายามให้อาคารไปแทรกอยู่ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ถ่อมตัว อาการของการรุกรานธรรมชาติจึงไม่เกิดขึ้น ต้องทำด้วยความรู้ตัว แล้วรู้ว่าเราทำอะไร เพราะอะไร เราไม่ได้เกิดขึ้นมาแล้วอยู่ไปตามยถากรรม เราอยู่เพื่อสร้าง เราก็ต้องอยู่ด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว”
อินทรีย์ ๕ พละ ๕ ศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์
“ปีแรกที่เราทำโรงเรียน ทำไปสักพักปีหนึ่ง เราประชุมกรรมการมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ก็รายงานไปว่าทำอะไรไปบ้าง อาจารย์หมอประเวศ (ศ.นพ.ประเวศ วะสี) ท่านบอกว่า พวกเราดำเนินไปตาม อินทรีย์ ๕ พละ ๕ เริ่มต้นด้วย “ศรัทธา” ก่อน ศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์ ศักยภาพของมนุษย์สูงสุดในโลกนี้ที่เราเห็นคือพระพุทธเจ้า ต้องศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์ระดับนั้น ศรัทธาจึงจะหยั่งลงจริงๆ”
“ต่อมา “วิริยะ” คือความเพียร เพียรเจริญกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ที่มีอยู่แล้วให้ยิ่งๆ ขึ้นไป และเพียรละอกุศล เราเพียรทำเหตุโดยที่เราไม่ต้องคาดคั้นและหวังผล แล้วเราจะเพียรด้วยความเบิกบาน แล้วไม่รู้สึกว่าลำบากลำบน ยากแค้นแสนเข็ญ มันจะมีอะไรที่ยากไปกว่านี้ หรือยากน้อยกว่านี้ มีไหม ไม่มีหรอก ที่เราเพียรอยู่นี้ไม่ได้ยากลำบากกว่าใคร คนเรามันก็ยากลำบากกันได้ประมาณนี้ล่ะ ขึ้นอยู่กับว่าเรายอมยากลำบากที่จะทำเรื่องอะไร”
เพียรทำเหตุให้หลุดพ้นจากความไม่รู้
“เราเพียรทำเหตุ ทำที่ตัวเราให้พ้นจากความไม่รู้ไปก่อน คนไม่รู้จะไปสอนให้คนอื่นรู้ เป็นไปได้ไหม เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นทำตัวเองให้พ้นจากความไม่รู้ ไม่รู้แล้วหลงอยู่ในบางเรื่อง บางสิ่ง บางอย่าง โดยเฉพาะหลงไปกับตัณหา คือความชอบใจ ไม่ชอบใจ พอใจ ไม่พอใจ รักบ้าง ชังบ้าง มันก็จะกลายเป็นมีคติที่ผิดๆ ไปกับเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้นความหลงเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด”
กินกาลเวลา อย่าให้กาลเวลากินเรา
“สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านพูดว่า สงกรานต์เป็นคำที่แปลว่าการก้าวข้าม ก้าวข้ามวงจรของเวลา เวลาที่ครบลูปวงจรของมันตามธรรมชาติในรอบปี ควรจะใช้โอกาสนี้ระลึกว่า เราถูกกาลเวลากิน หรือเราจะกินกาลเวลา ท่านใช้คำนี้ ถูกเวลากินนี่เข้าใจไม่ยากนะ เราก็เป็นไปทุกวี่ทุกวัน ทำอะไรไปตามวันตามเวลา เรื่อยๆ ทำหน้าที่ แต่มีช่วงขณะบางเวลาไหมที่เรากินกาลเวลา คือรู้สึกตัว เราฝืนทำในสิ่งที่ควรทำได้โดยไม่ทุกข์ อันนี้เรากินกาลเวลาทันที”
“ตอนนี้เราเป็นครู ลองนึกดูเรามาโรงเรียนเรามีความสุขไหม ต้องฝืนใจเยอะไหม เราลองดูนะว่าชีวิตเราถูกกาลเวลากินหรือเรากินกาลเวลา เราอยู่อย่างไร เราต้องเผชิญภารกิจ หน้าที่ ที่ไม่ง่าย ที่ยากมากๆ เป็นครูนี่ยากมากๆ นี่ล่ะท้าทายเรามากว่าเราจะกินกาลเวลาหรือกาลเวลาจะกินเรา ท่านก็สอนให้เรารู้เนื้อรู้ตัว มีความเพียรที่ถูกต้อง”
สติคุ้มครองเราให้อยู่อย่างไม่ทุกข์
“ต่อมา “สติ” พวกเราโชคดีมากๆ ที่ได้ฝึกสติ คนจำนวนมากในโลกนี้ไม่เคยรู้จักโอกาสนี้เลย พวกเราโชคดีมากๆ มาอยู่ในประเทศที่ดี มาพบครูบาอาจารย์สำคัญๆ ในยุคสมัยของเรา ไม่อดอยากยากแค้น ไม่มีสงคราม ไม่มีภัยพิบัติที่เรียกว่าทำลายล้าง เราอยู่สบาย ไม่อดอยาก ประเทศนี้สบายมาก สบายจนกระทั่งคนไม่รู้ว่าตัวเองสบาย ก็เลยกลายเป็นนิสัยเสีย ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ในความสบาย อยู่ใน Comfort Zone ไม่กล้าทำอะไรทั้งสิ้น ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำอะไร เขาเรียกว่า หลงในความสบาย”
“เพราะฉะนั้นเราต้องมีสติอยู่เสมอ ยิ่งคนเผลอไปในความสบาย เผลอไปในคติ คติที่เรียกว่าเชื่อในความดี ยึดมั่นในความดี เป็นคติที่มองเห็นยากมาก ยิ่งพวกเรา ถือว่าเราเป็นครู เราทำดี ฉันเป็นคนดีแล้ว ฉันเป็นนางฟ้า อันนี้อันตรายมาก เพราะฉะนั้นต้องมีสติ สติเป็นเครื่องคุ้มครองเราให้เราอยู่ในโลกนี้อย่างไม่ทุกข์ ไม่แบก ไม่หาม ไม่เป็นภาระใคร และไม่เอาภาระมาใส่ตัวโดยใช่เหตุ”
“ต่อไป “สมาธิ” พอสติเราดีๆ สมาธิมาเอง เราไม่ต้องไปทำ สบาย มาเองเลย จดจ่อ ตั้งมั่น จิตใจมั่นคง ไม่ไขว้เขว หยั่งลึกลงไป พินิจพิจารณาอะไรได้ลึกซึ้ง กว้างขวาง เชื่อมโยงได้หมด ด้วยใจที่นิ่งๆ สบายๆ สุดท้าย “ปัญญา” ปัญญาเกิด”
“เพราะฉะนั้นให้ระลึกเสมอว่า เราได้โอกาสของปีใหม่ที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีๆ ว่าเราจะเป็นอะไร เรามองมันอย่างชัดเจนว่า เราจะอยู่โดยใช้เวลาหนึ่งรอบของศกให้ผ่านไปด้วยชีวิตแบบไหน เป็นผู้ที่กินกาลเวลา ไม่ใช่ถูกกาลเวลากิน”