TEP Talk 2019 : น.ส.ชุติกาญจน์ กนกกันทรากร
น.ส.ชุติกาญจน์ กนกกันทรากร (เอิร์น)
นักเรียนชั้น ม.๔ โรงเรียนรุ่งอรุณ
ร่วมพูดในช่วง TEP Talk “๕ แรงบันดาลใจ สร้างสรรค์การศึกษาไทย” บนเวที TEP Forum 2019 ภาพใหม่การศึกษาไทย : New Education Landscape เมื่อวันเสาร์ที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๒ ณ หอประชุมมหิศร ธ.ไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่
…
“เมื่อก่อนหนูเป็นเด็กขี้อายมาก ไม่กล้าแสดงออก ให้มาพูดอย่างนี้ ไม่เอาเลย ไม่พูดจนบางคนคิดว่าเป็นใบ้ไปแล้วก็มี แต่ไม่มีใครรู้ว่าเด็กขี้อายอย่างหนู พอกลับไปบ้านหนูจะพูดไม่หยุดเลย หนูจะเล่าทุกเรื่องที่ไปเจอมาในแต่ละวันให้พ่อแม่ฟังทุกวันแบบไม่มีเบื่อ เพราะพ่อแม่จะใส่ใจและเอ็นจอยไปกับทุกเรื่องที่หนูเล่าจริงๆ ถึงแม้บางเรื่องอาจจะไม่ใช่เรื่องสนุกสำหรับเขาก็ตาม
แล้วตอนเด็กๆ ครอบครัวหนูก็จะพาหนูกับน้องไปเล่น ไปทำกิจกรรม ไปใช้เวลาร่วมกัน ซึ่งมันทำให้หนูสนิทแล้วก็สบายใจที่จะเล่าทุกเรื่องให้พ่อแม่ฟัง จริงๆ มันก็ไม่แปลกที่เด็กคนหนึ่งจะมี ๒ บุคลิก ถ้าสภาพสังคมรอบตัวเขาต่างกัน
สิ่งที่หนูกลัวที่สุดคือความกดดันค่ะ ยิ่งถูกกดดัน หนูจะยิ่งไม่กล้า แต่พ่อแม่หนูแทบไม่เคยกดดันอะไรหนูเลย มีแต่เชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่งหนูโตขึ้นไป หนูก็จะพูดได้เอง และไม่เคยกังวลว่าหนูจะขี้อายไปตลอดชีวิต เพราะพ่อแม่ไว้ใจและสร้างพื้นที่ให้หนูมาตั้งแต่เด็กค่ะ
จนวันที่หนูเข้าโรงเรียน โรงเรียนของหนูจะมีงานประจำทุกปลายเทอม ซึ่งงานนี้จะมีพิธีกร หนูก็เห็นเพื่อนทำมาเรื่อยๆ แล้วหนูก็อยากทำบ้าง เพราะใจจริงอยากพิสูจน์ให้พ่อแม่เห็น แต่มันติดอยู่ที่ความขี้อายค่ะ ไม่อยากทำเพราะกลัวคนที่เก่งกว่า คือหนูมีความรู้สึกว่าหนูเป็นมือใหม่หัดพูด แต่ต้องไปพูดต่อหน้านักพูดมืออาชีพเก่งๆ มันก็จะเกิดความกดดันเป็นธรรมดา แต่ครูโรงเรียนนี้เหมือนมีเซนส์อะไรบางอย่าง ที่รู้ว่าจริงๆ แล้วเด็กต้องการอะไรกันแน่ การเป็นพิธีกรครั้งนั้นของหนูถูกเปิดโอกาสโดยครูท่านหนึ่ง ที่เขาแค่ไว้ใจว่าหนูจะทำมันออกมาได้ดี ทั้งที่หนูไม่เคยทำผลงานการพูดให้ครูเห็นเลย จากโอกาสครั้งนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการฝึกความกล้าแสดงออกของหนู แล้วหนูก็ฝึกฝนมาเรื่อยๆ จนได้มายืนอยู่บนเวทีนี้ค่ะ
เพราะครูเชื่อว่าเด็กแต่ละคนมีศักยภาพที่แตกต่างกัน และครูจะช่วยเด็กหาศักยภาพตัวนั้นเพื่อมาพัฒนาต่อ ฉะนั้นการสอนจะไม่ได้สอนให้เด็กทุกคนเหมือนกัน แต่จะเป็นการสนับสนุนสิ่งที่เด็กทำได้ดีมากกว่า
สำหรับหนู นอกจากครูจะเป็นผู้เปิดโอกาสแล้ว ครูยังเป็นเหมือนเพื่อนคนหนึ่ง แต่ว่ายังให้ความเคารพกันอยู่นะคะ เพราะว่าเวลาหนูมีเรื่องอะไร หนูสามารถคุยกับครูได้ทุกเรื่องเลย เช่นเวลามีปัญหาหรือเครียด หนูก็คุยกับครู เหมือนพ่อแม่คนที่สองเลยค่ะ นั่นทำให้หนูรู้สึกว่าโรงเรียนเป็นบ้านหลังที่สองของหนูเช่นกัน
เชื่อไหมคะว่าหนูเป็นเด็กที่อยากไปโรงเรียนทุกวันด้วยความเต็มใจ เพราะหนูอยากรู้ว่าโรงเรียจะมีอะไรมาเซอร์ไพรซ์เราอีก อย่างล่าสุดตอน ม.๓ เปิดเทอมไปวันแรก หนูก็เจอโจทย์ที่เด็ก ม.ต้น ไม่ควรมาหนักใจเรื่องนี้เลย นั่นก็คือการสมัครงานค่ะ ครูทำเหมือนกับว่า ม.๓ เป็นรายการทีวีช่องหนึ่งที่มีอยู่ ๓ รายการ คือ ข่าว สารคดี แล้วก็นิตยสารทีวี ซึ่งถ้าใครอยากเข้าห้องไหนก็ต้องไป resume มาส่ง แล้วก็ไปสัมภาษณ์งานตามตำแหน่งที่ตัวเองอยากเข้า แต่ถ้าใครสัมภาษณ์ไม่ผ่านก็ต้องไปอยู่ห้องอื่น ซึ่งตอนนั้นหนูตื่นเต้นพอสมควร ว่าเด็กม.๓ จะสัมภาษณ์งานผ่านไหม แต่หนูก็ชอบความเป็นรุ่งอรุณแบบนี้ค่ะที่เขามีอะไรมาเซอร์ไพรส์เราตลอด หรืออย่างการสั่งงาน ครูให้โจทย์เราไปศึกษาพื้นที่ในประเทศไทย ล่าสุดหนูไปภาคอีสานมา หนูไปอยู่กับชุมชนริมแม่น้ำโขงแห่งหนึ่ง เป็นเวลา ๕ วัน แล้วโรงเรียนนี้มักจะพาเราไปในที่ที่ลำบาก โดยให้เหตุผลว่า พอเราโตขึ้นไปในอนาคต พอเราเจอเรื่องลำบาก เราจะได้ไม่สะทกสะท้านและไม่บ่นกับมันมาก แล้วหนูต้องไปทำความรู้จักชาวบ้านว่า เขาเป็นอยู่ยังไง เขามีวิถีชีวิตยังไง จนกระทั่งกำลังประสบปัญหาอะไรอยู่หรือเปล่า อย่างชาวบ้านกลุ่มนี้เขากำลังประสบปัญหาจำนวนปลาในแม่น้ำโขงที่ลดน้อยลง ซึ่งมีสาเหตมาจากเขื่อนที่ปล่อยน้ำไม่เป็นเวลา ทำให้ปลาวางไข่ไม่ได้ แต่ครูก็จะพาเราคิดไปอีกว่า เรามีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานั้นหรือเปล่า จนสุดท้ายเราก็ได้รู้ว่า เรานี่ล่ะที่เป็นคนต้องการไฟฟ้าจากเขื่อน ฉะนั้นก็ต้องคิดหาวิธีช่วยเหลือชาวบ้าน เช่น ทำสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบสารคดีบ้าง หนังสั้นบ้าง หรือแม้กระทั่งทำหนังสือเล่มนี้
และหนูจะไม่ได้เรียนอะไรแบบนี้เลย ถ้าโรงเรียนไม่ให้อิสระ และไม่ให้ความไว้วางใจให้พวกเราทำงานด้วยตัวเอง
และเมื่อไม่กี่เดือนมานี้หนูได้มีโอกาสไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศฟินแลนด์เป็นเวลาสั้นๆ เพียง ๑๐ กว่าวัน ก่อนไปหนูได้ยินมาบ่อยมาว่าฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีการศึกษาเป็นอันดับ ๑ ของโลก ซึ่งมันน่าสนใจสำหรับหนูมาก พอมีโอกาส หนูเลยลองไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนดู แล้วหนูก็พบสิ่งแปลกใหม่ที่ต่างจากการศึกษาไทยมาก เช่น เวลาเปลี่ยนคาบเรียน…
…เด็กที่นั่นเขาได้เวลาพักพอๆ กับเวลาเรียน ครูให้เหตุผลว่า เด็กจะได้เอาเวลานั้นไปทำสิ่งที่เขาชอบ แต่หนูก็สงสัยเหมือนกันนะคะว่า แล้วครูจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเด็กเอาเวลานั้นไปทำประโยชน์จริงๆ วันก่อนกลับหนูได้ทานข้าวกับท่านทูตไทยประจำประเทศฟินแลนด์ หนูก็เลยถามผู้ช่วยท่านทูตเรื่องนี้ แต่ได้คำตอบมาสั้นๆ เลยค่ะว่า เพราะการไว้ใจค่ะ ครูที่นั่นไว้ใจเด็ก แน่นอนว่าไม่ใช่เด็ก 100% ที่จะเอาเวลานั้นไปทำประโยชน์ แต่การให้ความไว้วางใจและอิสระแก่เด็ก จะทำให้เขาเกิดการเรียนรู้บางอย่างขึ้นมาเอง แล้วหนูคิดว่าการที่ครูให้ความไว้วางใจเด็กแบบนั้น มันก็อาจจะเกิด reflect บางอย่างที่ทำให้เด็กรู้สึกว่า เขาอยากจะทำให้ครูคิดถูกที่ไว้วางใจเขาก็ได้
หนูไม่รู้นะคะว่าการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกมันต้องเป็นอย่างไร แต่สำหรับหนู ขอแค่มันดีกับเด็ก และทำให้เด็กเป็นคนดี นั่นก็พอแล้ว อาจจะเริ่มจากการไว้ใจคนใกล้ตัวก็ได้ค่ะ แบบพ่อแม่หนู แบบคุณครูของหนู หรือว่าโรงเรียนของหนู หนูคิดว่าการไว้ใจเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตมายิ่งใหญ่กว่าที่คุณคิด และหนูเชื่อมั่นว่าการศึกษาไม่จำเป็นต้องพึ่งแต่ในโรงเรียนเท่านั้น พ่อ แม่ หรือคนรอบข้างก็มีส่วนช่วยให้เด็กไทยเติบโตมาได้อย่างสมบูรณ์ เอาใจช่วยการศึกษาไทยนะคะ”