วิถีกิจวัตร
เวลา | กิจกรรม |
๘.๐๐-๙.๐๐ น. | ใจต่อใจ ต้อนรับเด็กอย่างอบอุ่นด้วยการรับรู้สภาวะทางกายใจตั้งแต่ก้าวแรกเมื่อมาถึง โดยการสบสายตา ใช้การโอบกอดสัมผัสพูดคุยและทักทายครูพา เด็กจัดเก็บกระเป๋าและแยกแยะของใช้ส่วนตัวเข้าที่ให้เรียบร้อย เตรียมเครื่องนอนของตนทุกวันจันทร์ พี่ๆ หรือน้องที่มีความพร้อมจะช่วยกันทำงานกิจวัตรส่วนรวมของห้องเรียน เช่น เตรียมน้ำดื่ม จัดโต๊ะอาหาร จัดแจกันสำหรับถวายพระ รวมถึงได้ช่วยครูไปจ่ายตลาดในโรงเรียน ซื้อวัตถุดิบ กลับมาล้างหั่น ช่วยเตรียมวัสดุอุปกรณ์สำหรับจัดเตรียมอาหารกลางวันร่วมกัน เล่นอิสระในห้องเรียน/สนามทราย |
๙.๐๐-๙.๑๕ น. | มงคลชีวิตรับอรุณ เด็กๆ ตระเตรียมกายใจให้พร้อมเริ่มต้นการเรียนรู้ในโรงเรียน ครูหาบทกลอน บทกวีที่ไพเราะและมีความหมายมาพูด เช่น บทกลอน “ตื่นอย่างสดใส” หรือเพลงที่จะสอดคล้องกับฤดูกาล ตั้งสมาธิสวดมนต์และจิตอธิษฐานต่อการปฏิบัติดีในแต่ละวัน กิจกรรมมงคลชีวิต ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เกิดการตื่นรู้จากภายใน ครูเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้รู้จักและสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของตนผ่านตัวกิจกรรม เช่น กิจกรรมส่งน้ำส่งใจ กิจกรรมนวด กิจกรรมฝึกสมาธิจากนิ้วมือ (One to Five) กิจกรรมโยคะ ส่งผลให้เด็กสามารถรู้จักตนเอง และรับรู้ผู้อื่นที่อยู่ร่วมกันได้ |
๙.๑๕-๑๐.๓๐ น. |
บูรณาการ เล่นเป็นเรียนในธรรมชาติ กิจกรรมการเรียนรู้ ดนตรี-ภาษาอังกฤษ ว่ายน้ำ |
๑๐.๓๐-๑๑.๐๐ น. | รับประทานอาหารว่าง อาหารที่รับประทานจะเป็นอาหารที่มีความหลากหลายเพื่อให้เด็กได้มีประสบการณ์ในการรับรู้รสชาติของอาหาร ขนมที่รับประทานจะเน้นขนมที่รสไม่หวานจัด หรืออาจเป็นอาหารที่ครูและเด็กช่วยกันทำเองในตอนเช้าแล้วนำมารับประทาน เด็กจะเข้าใจที่มาที่ไปของอาหารและขนมต่างๆ ได้ง่ายขึ้นซึ่งเป็นที่มาของการพาไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง คือความรู้สึกถึงบุญคุณของธรรมชาติและผู้เกี่ยวข้อง เช่น ชาวนา ชาวสวน ได้โดยไม่ยาก บางโอกาสครูจะนัดหมายกับเด็กให้เตรียมอาหารขนมและผลไม้ที่มีประโยชน์มาจากบ้าน ใส่กล่องหรือใส่บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มารับประทานร่วมกันกับเพื่อนในห้อง |
๑๑.๐๐-๑๑.๓๐ น. | อาบน้ำ แปรงฟัน เป็นกิจกรรมที่เด็กได้ฝึกการช่วยเหลือตนเอง เริ่มตั้งแต่เรื่องง่ายๆ ซึ่งเด็กได้ทำซ้ำทุกวัน โดยในระยะแรกครูให้ความช่วยเหลือแนะนำ ทั้งการอาบน้ำชำระร่างกายและการพานักเรียนถอด-ใส่เสื้อผ้าและฝึกพับจัดเก็บเสื้อผ้าและของใช้เข้าที่ เด็กยังทำด้วยตัวเองไม่ได้ดีนัก แต่เขามีโอกาสได้ทำโดยมีครูช่วยเหลือ จะเป็นโอกาสในการบ่มเพาะความเคารพตนเอง ความตระหนักในตน |
๑๑.๓๐-๑๒.๐๐ | ปรุงอาหาร – เด็กบางส่วนได้ช่วยครูปรุงอาหารกลางวัน จัดเตรียมให้เพื่อนๆ ในห้องรับประทานร่วมกัน – กิจกรรมเรียนรู้เสริมเพื่อเสริมทักษะด้านต่างๆ เช่น ศิลปะ งานประดิษฐ์ หัตถศิลป์ |
๑๒.๐๐-๑๓.๐๐ น. | รับประทานอาหารกลางวัน ก่อนเวลาอาหารเด็กช่วยครูเตรียมจัดโต๊ะอาหาร โดยครูจะพาเด็กกลุ่มเล็กๆ มาช่วยกัน เด็กจะเรียงจาน ถ้วยน้ำ ช้อนและส้อม เป็นเซทสำหรับเพื่อนแต่ละคน แบ่งอาหารใส่ภาชนะไว้สำหรับให้เด็กได้ตักเติมด้วยตนเองเพื่อให้พอดีกับความต้องการ หลังการเล่นเด็กล้างมือก่อนเข้านั่งที่โต๊ะอาหาร ครูร้องเพลงเพื่อรอทุกคนนั่งประจำที่ พิจารณาอาหารก่อนรับประทานอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยครูรับประทานไปพร้อมกัน เมื่อรับประทานเสร็จครูแนะนำการจัดเก็บแยกประเภทภาชนะและแยกเศษอาหาร สำหรับเด็กโตเขาจะนำแก้วน้ำและช้อนส้อมไปล้างด้วย จากนั้นจะมีเด็กกลุ่มเล็กๆ ช่วยครูเช็ดถูทำความสะอาดโต๊ะอาหาร |
๑๒.๔๕-๑๔.๐๐ น. | น้องเล็กและพี่กลางสวดมนต์ นอนหลับพักผ่อน เด็กได้น้อมใจระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่พึ่งอันประเสริฐ และได้พักผ่อนกายใจหลังจากออกแรงเล่นมาตั้งแต่เช้า และนอนบนที่นอนฟังครูเล่านิทานปากเปล่าจนหลับไป |
๑๓.๐๐-๑๔.๐๐ น. | พี่ใหญ่เรียนรู้กิจกรรมต่างๆ พี่ใหญ่เรียนรู้กับกิจกรรมต่างๆ เช่น มวยไทย สัปดาห์ละ ๑ ครั้ง ภาษาอังกฤษ สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง และกิจกรรมพัฒนาด้านภาษาไทย/การเรียนรู้แบบโครงงาน สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง |
๑๔.๐๐-๑๔.๑๕ น. | ตื่นนอน เปลี่ยนเสื้อผ้า ดื่มนม เด็กฝึกการช่วยเหลือตนเองในการเก็บที่นอนเข้าที่ เข้าห้องน้ำ บ้วนปาก ล้างหน้า ถอดใส่ พับ จัดเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋ากลับบ้าน ซึ่งเด็กๆ จะได้ทำซ้ำจนเกิดความชำนาญ หลังจากนั้นดูแลความเรียบร้อยของร่างกาย หวีผม ทาแป้ง เป็นการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนกลับบ้าน |
๑๔.๑๕-๑๔.๓๐ น. | ทบทวนการเรียนรู้ แผ่เมตตา เด็กจะทบทวนตนเองตั้งแต่เช้าจรดเย็นของแต่ละวัน เพื่อตรวจสอบความรู้สึกของเด็ก หรือพี่โตเล่าประสบการณ์เรียนรู้ในกิจกรรมช่วงบ่ายให้พี่กลางและน้องเล็กได้ฟัง ครูอาจใช้คำถามเพื่อให้เด็กระบุความประทับใจและบอกสิ่งที่ได้เรียนรู้ จากนั้นจึงร่วมกันแผ่เมตตา เป็นการครบวงรอบของกิจวัตรในหนึ่งวันที่โรงเรียน |