การศึกษาภาคสนาม
การเรียนรู้บนบริบทที่หลากหลาย (Cross-Cultural Understandings) กับชุมชนภายนอกโรงเรียน ทุกๆ ภาคเรียน โดยครูจะเลือกแหล่งเรียนรู้และใช้เวลาที่เหมาะสมกับวัย สอดคล้องกับโครงงานหรือหน่วยการเรียนรู้ของนักเรียน เป็นการเรียนรู้ที่พานักเรียนออกไปเห็นสังคมในพื้นที่ต่างๆ ฝึกให้นักเรียนรู้จักสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว ด้วยการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ แล้วระบุรายละเอียด ให้ความหมาย แปลความจากสิ่งที่รับรู้ ทั้งข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สภาพสังคม วิถีความเป็นอยู่ แนวคิด และวัฒนธรรมที่เป็นบริบทของเรื่องราวที่ปรากฏ แล้วประมวลออกมาเป็นสาระความรู้และสื่อสารความหมายอย่างสร้างสรรค์
นักเรียนจะได้เผชิญและสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสถานการณ์จริงในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม วิถีความเป็นอยู่ รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในที่นั้นๆ ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในผู้เรียนให้เป็นผู้ที่สามารถเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่คุ้นชินและปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเป็นปกติ เข้าใจผู้คนจากวัฒนธรรมที่แตกต่าง ให้ความเคารพและปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสม อยู่บนความหลากหลายของวัฒนธรรมเป็น เป็นผู้กินง่ายอยู่ง่าย ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของผู้คน ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายสำคัญให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ในระดับ “ข้ามวัฒนธรรม” ที่เข้าถึงคุณค่าของรากเหง้าทางวัฒนธรรม และเคารพในความแตกต่าง หลากหลาย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสันติภาพของสังคมโลกในปัจจุบัน