ปรัชญา วิสัยทัศน์
ปรัชญาการเรียนรู้
รุ่งอรุณพัฒนาการศึกษา : พัฒนาคน เพื่อพัฒนาประเทศ
รุ่งอรุณของการศึกษา บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามของเยาวชนให้งอกงาม เรียนรู้และพัฒนาตนสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เปี่ยมด้วยพลังสร้างสรรค์ ร่วมนำพาสังคมและxระเทศไทยไปสู่ความเป็นสังคมอุดมธรรมสืบไป บนพื้นฐานที่ว่า
- โพธิสัทธา ความเชื่อมั่นในศักยภาพมนุษย์ที่สามารถพัฒนาตนเองไปสู่ปัญญาได้
- ชีวิตมนุษย์คือการศึกษา การพัฒนาพฤติกรรม จิตใจ ปัญญาในระบบไตรสิกขา
- ชุมชนกัลยาณมิตร การมีวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้เป็นพื้นฐานของสังคมที่มีความเจริญ
- การศึกษาองค์รวม กระบวนการบูรณาการความรู้ภายนอก (ศาสตร์ต่างๆ) และภายใน (ชีวิต) เป็นการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับธรรมชาติที่ฝึกได้ของมนุษย์
วิสัยทัศน์
เรียนรู้ด้วยศรัทธา กล้าสร้างสรรค์ จิตตั้งมั่น อย่างมีสติปัญญา
๓ องค์ประกอบหลักของการเรียนรู้แบบองค์รวม
๑. การเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง (Deeper Learning)
เป้าหมาย……..เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถภายในของมนุษย์
เพื่อส่งเสริม….ผู้เรียนที่ใช้ปัญญาเป็นฐาน
วิธีการ…………การเจริญสติเพื่อการรู้จักตนเอง การสะท้อนตนเอง การภาวนา จริยศิลป์ การทำงานจิตอาสาเพื่อส่วนรวม
๒. การเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง (Learning by Doing)
เป้าหมาย……..เพื่อให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติในสถานการณ์จริง
เพื่อส่งเสริม….ผู้เรียนที่แท้จริง (เรียนรู้ด้วยตนเองและพึ่งพาตนเอง)
วิธีการ…………การเรียนรู้จากกิจกรรมและกิจวัตรประจำวัน การเรียนรู้จากการแก้ปัญหา การเรียนรู้จากการทำโครงงาน การเรียนรู้ผ่านการวิจัยที่บูรณาการกับชีวิตจริง
๓. การเรียนรู้จากการสื่อสาร (Communicative Learning)
เป้าหมาย……..เพื่อแบ่งปันความรู้และความเข้าใจในการสร้างองค์กรการเรียนรู้หรือชุมชนของการปฏิบัติ
เพื่อส่งเสริม….การมีส่วนร่วมทางสังคมและการสร้างพันธมิตรการเรียนรู้อย่างยั่งยืน
วิธีการ…………การเรียนรู้จากกลุ่ม สุนทรียสนทนา การจัดการความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่ชุมชน การประชุมกลุ่ม การทำแผนที่คนดี การนำเสนอด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ
ข้อมูลโรงเรียน
พระพุทธรูปประจำโรงเรียนเล็ก
ปางประสูติ
“พระอรุโณภาสศาสดา” (พระศาสดาผู้ทรงเป็นดุจแสงแห่งรุ่งอรุณ) โดยมีพระนามเต็มว่า “พระโลกเชษฐ์เศรษฐาสภิวาท อรุโณภาสโรจนศาสดา” พระศาสดาผู้รุ่งโรจน์ดุจเป็นแสงแห่งรุ่งอรุณ ซึ่งทรงมีพระวาจาอาจหาญ ประกาศว่าทรงเป็นผู้นำผู้ประเสริฐของชาวโลก
ปางประสูติเป็นเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศอาสภิวาจาว่า “เราเป็นเอกในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายและจะไม่กลับมาเกิดอีก” หมายถึง พลังแห่งความตั้งใจจริง ตั้งใจดี ที่จะเป็น ๑ นั่นเอง เพื่อให้เด็กอยู่กับพระพุทธเจ้าเด็กๆ ที่เขารู้สึกใกล้ชิด สัมผัสได้ เด็กๆ จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าเองก็เคยเป็นเด็กเช่นเดียวกับเขา
ผลงานปั้นโดย : ครูอรพินท์ กุศลรุ่งรัตน์ (ครูนิด)
พระพุทธรูปประจำโรงเรียนประถม
ปางสมาธิ
“พระพุทธภาวิตวโรดม” (พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐเลิศสูงสุดแห่งเหล่าชนที่ได้พัฒนาตนแล้ว) โดยมีพระนามเต็มว่า “พระพุทธวิสุทธิปัญญามหากรุณยวโรดม” พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐเลิศอุดมด้วยพระปัญญาที่ทำให้ทรงบริสุทธิ์และพระกรุณาอันยิ่งใหญ่ หรือพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐเลิศอุดมด้วยพระวิสุทธิ พระปัญญาและพระมหากรุณา
ปางสมาธิเป็นเหตุการณ์ในช่วงที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้และทรงตั้งจิตอย่างแน่วแน่ว่า ถ้าไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณก็จะไม่ลุกไปจากที่นี้ ปล่อยให้เลือดเนื้อในกายแห้งเหือดไป และพระองค์ก็สามารถทำได้สำเร็จ อันหมายถึง พลังแห่งความเพียร การตั้งจิตอธิษฐาน และฟันฝ่าอุปสรรค ซึ่งสำหรับเด็กประถมนั้น วัยนี้เป็นวัยอยากเรียน อยากเล่น เริ่มเรียนรู้แล้วว่าชีวิตคือการศึกษาเรียนรู้ เป็นวัยที่ต้องรบกับกิเลสในตัวเอง
ผลงานปั้นโดย : ครูสุพจน์ คุณานุคุณ (ครูสิษฐ์)
พระพุทธรูปประจำโรงเรียนมัธยม
ปางมารวิชัย
“พระชินาธิคมพรหมวิชัย” (พระผู้ทรงมีชัยชนะ (ความสำเร็จ) อันประเสริฐซึ่งเป็นที่หมายของผู้มีชัยที่แท้) โดยมีพระนามเต็มว่า “พระพุทธทศพลญาณ พิชิตมารโลกวันทนีย์” พระพุทธเจ้าผู้ทรงทศพลญาณ ทรงชนะมารแล้ว เป็นที่เคารพกราบไหว้ของชาวโลก
พลังแห่งความตั้งมั่นเอาชนะใจตนเอง เป็นผู้นำและผู้ให้ต่อสังคมได้ ปาง มา-ระ-วิ-ไช หมายความว่า ชนะมาร เป็นปางที่แสดงถึงพลังแห่งปัญญา ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการศึกษาในระดับมัธยม คือ นักเรียนสามารถพึ่งพาสติปัญญาของตนเองได้ สามารถเอาชนะได้ทุกสถานการณ์ เร้ากุศลเป็น สามารถเป็นผู้นำ เป็นผู้ให้ต่อสังคมได้ เหนี่ยวนำกุศลของคนในชุมชนได้ เป็นที่พึ่งของตนเองและผู้อื่น ซึ่งคนจะทำเช่นนี้ได้ต้องสามารถชนะใจตนเองได้เสียก่อน
ผลงานปั้นโดย : ครูชัยวัฒน์ พุ่มเฟือง (ครูบัวลอย)
ตราสัญลักษณ์โรงเรียน
แนวคิดการจัดการศึกษาของรุ่งอรุณสะท้อนปรากฏในตราสัญลักษณ์ของโรงเรียนรุ่งอรุณที่ศิลปินแห่งชาติ ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ได้ออกแบบความหมายไว้ เมื่อจันทร์ที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังนี้
รุ่งอรุณ
๑ คล้ายธรรมจักร
คือ ดวงใจของการศึกษา (ไตรปิฎก คือ มิ่งขวัญของพุทธธรรม)
๒ กงล้อมีการหมุน
หมายถึง ปณิธานที่เคลื่อนไหวไปสู่การเล็งผลเลิศ ณ สัจจธรรมทั้งปวงในสกลจักรวาล
๓ ทักษิณาวัฏ
ในระเบียบของฉัพพรรณรังสี (การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือ มรรคาเข้าหาความจริงแท้)
๔ แสงโค้งไปประสานกับจักรวาลอื่นๆ
คือ เสาะแสวงซึ่งความจริงอื่นๆ ในหลายวิถีทางแห่งจักรวาลต่างๆ
๕ วงกลมนอก
คือ สมมุติ โอฆะ ห้วงน้ำมหึมา อันหาขอบเขตไม่ได้ คือ สังสารวัฏฏ์
สีประจำโรงเรียน สีเหลืองทอง
ต้นไม้ประจำโรงเรียน ต้นสาละ สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า