ประถม
โรงเรียนประถม
บูรณาการสู่ชีวิต ถ่ายทอดจินตนาการสู่คุณค่าแท้
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑–๖
ในระดับประถมศึกษาของรุ่งอรุณ จัดการศึกษาสำหรับเด็กอายุระหว่าง ๗ ถึง ๑๒ปี เด็กวัยนี้เป็นวัยช่างพูด ช่างคิด ช่างทำ เต็มไปด้วยชีวิตชีวา เรียนรู้จากการเล่นสิ่งต่าง ๆ อีกทั้งใช้บทบาทสมมุติในการเรียนรู้และเข้าใจโลกรอบตัว เป็นวัยที่มีพลัง พร้อมและไม่ลังเลที่จะลองแสวงหาค้นคว้าทำอะไรใหม่ ๆ โดยที่ไม่กลัวผิด กลัวถูก
พัฒนาตนบนวิถีกิจวัตร ในขณะเดียวกันก็เป็นวัยที่จำเป็นต้องได้รับการฝึกวินัยและความรับผิดชอบ โดยใช้การงานในวิถีกิจวัตรเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและจิตใจ พึ่งพาตนเองและอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล เช่น การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นการเก็บขยะในโรงเรียน การกวาดใบไม้ และการจ่ายตลาดเพื่อนำวัตถุดิบมาทำอาหารกลางวันรับประทานร่วมกัน
เวลาทองของเด็ก ๆ ในช่วงเช้า มีการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวออกกำลังกายตามฐานต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองก่อนเริ่มเรียนซึ่งมีความจำเป็นต่อการเรียนรู้ตลอดทั้งวัน
สำหรับเช้าวันพฤหัสบดี เด็ก ๆ จะได้ฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับพุทธประวัติ และนิทานธรรมดี ๆ จากคุณครูจิ๋ว (ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ) มีการสวดมนต์ทำสมาธิ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของวัน ต่อด้วยการสนทนายามเช้า โดยเด็ก ๆ และคุณครูจะนำเอาเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันมาพูดคุยร่วมกัน โดยใช้หลักธรรมของมงคลชีวิต ๓๘ ประการ เพื่อเป็นแนวทางในการสนทนา นอกจากนี้ยังได้ฝึกสติสัมปชัญญะ เรียนรู้กายใจ พร้อมทั้งมีโอกาสฝึกฝนตนเองเพื่อนำความเข้าใจมาทบทวน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
การเรียนรู้ของเด็ก ๆ ในแต่ละวัน จะได้ฝึกทักษะการฟัง การพูด การอ่าน การเขียนสะท้อนคิด และการคิดอย่างเป็นระบบ รวมถึงกระบวนการสร้างความรู้ด้วยตนเอง ด้วยการเรียนวิชาพื้นฐานต่าง ๆ ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาการคำนวณ วิทยาศาสตร์ รวมถึงหน่วยโครงงานบูรณาการ
ในหน่วยโครงงานบูรณาการของระดับชั้นประถมศึกษา มีการจัดกระบวนการเรียนการสอนในรูปแบบ Experiential Learning คือกระบวนการสร้างความรู้จากประสบการณ์ ที่นำนักเรียนเข้าถึงคุณค่าของสิ่งรอบตัว โดยเรียนรู้จากแก่นเรื่องที่เชื่อมโยงกับชีวิตของนักเรียน และการปฎิบัติจริงเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจในเรื่องนั้นจนเกิดเป็นความรู้ของตนเอง มองเห็นความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ เกิดความคิดที่เป็นระบบ นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ ทั้งในการทำชิ้นงาน และการถ่ายทอดความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้พื้นที่การเรียนรู้ทั้งภายในบริเวณโรงเรียนและภายนอกโรงเรียน ตั้งแต่รอบรั้วโรงเรียน ขยายสู่ชุมชนท้องถิ่น ย่านบางมด ย่านบางขุนเทียน พื้นที่กรุงเทพฯ จังหวัดในปริมณฑล และต่างจังหวัดในภูมิภาคต่าง ๆ เรียนรู้สภาพแวดล้อม สภาพภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชน เรียนรู้วิถีการทำนา ซึ่งเป็นรากฐานของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย ที่พึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร
ตัวอย่างโครงงานบูรณาการ “ข้าวไทย วิถีไท” ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕
โครงงาน “ข้าวไทย วิถีไท” มีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของคนไทย ผ่านการลงมือทำนาปลูกข้าวด้วยตัวของนักเรียนเอง การทำนาซึ่งเป็นรากเหง้าของคนไทยจะทำให้นักเรียนเห็นและเข้าใจมิติต่างๆ ของสังคมไทย ตั้งแต่สภาพภูมิศาสตร์ การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนโดยอิงแม่น้ำลำคลอง ซึ่งเสมือนเป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตให้ดำรงอยู่ได้ การได้เห็นถึงวิธีปรับตัวของผู้คนให้เข้ากับลักษณะภูมิประเทศ เช่น การสร้างเรือนมีใต้ถุนสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วม และเพื่อเก็บอุปกรณ์ทำนา การทำนาปลูกข้าวให้เหมาะสมกับดิน ฟ้า อากาศ ลักษณะภูมิประเทศ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงภูมิปัญญาที่เข้าใจธรรมชาติ ปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ มีการดำรงชีวิตบนวิถีพอเพียงตามหลักพระพุทธศาสนาอันเป็นรากเหง้าทางความคิดและความเชื่อของคนไทย
นักเรียนในฐานะชาวนาตัวน้อยต้องรู้จักนาของตนเอง โดยการสังเกตสภาพพื้นที่ ลักษณะดิน พืชและสัตว์ที่อาศัยในนา ซึ่งการสังเกตจะช่วยนักเรียนเปิดโลกการเรียนรู้มองเห็นว่าสัตว์หลายชนิดเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของดิน พืชหลายชนิดชวนให้ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นพืชชนิดใด มีประโยชน์หรือไม่อย่างไร การตั้งข้อสงสัยและการรู้จักหาคำตอบนำไปสู่ความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำนา
การวางแผนการทำนายังนำไปสู่ความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ของพื้นที่กับการบริหารจัดการ โดยมีพันธุ์ข้าวและน้ำเป็นตัวแปรสำคัญ ดังนั้นนักเรียนจะได้ศึกษาลักษณะพันธุ์ข้าวและลักษณะภูมิศาสตร์ไปพร้อมกันด้วย
นอกจากนี้นักเรียนยังจะได้เข้าใจถึงประวัติศาสตร์ข้าว โดยศึกษาข้อมูลจากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย เช่น สืบค้นจากตำราในห้องสมุด สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต พิพิธภัณฑ์ การสัมภาษณ์บุคคล เป็นต้น แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ จัดลำดับ สรุปเป็น Timeline ประวัติศาสตร์ข้าว เชื่อมโยงไปสู่ประวัติศาสตร์ชาติไทย จนนักเรียนสามารถค้นพบด้วยตัวเองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรืองมาได้จนปัจจุบันนี้ก็ด้วยคนไทยอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดินทำมาหากิน จนมีคำพูดติดปากคนไทยที่กล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”
นอกเหนือจากองค์ความรู้ที่กล่าวมานี้ นักเรียนยังจะได้รับรู้ถึงบุญคุณของแผ่นดิน บุญคุณของข้าว บุญคุณของบรรพบุรุษ ได้รับรู้ถึงความเหนื่อยยากลำบากของชาวนา เพื่อย้อนกลับมาเรียนรู้ภายในจิตตนเองแล้วพบว่า “ความมุ่งมั่น อดทน และความเพียร เป็นที่ตั้งแห่งความสำเร็จ” “การทำสิ่งใด ต้องทำด้วยความประณีต” เป็นต้น และจากนี้ไปพวกเขาจะตระหนักว่า “การกินข้าวให้หมดทุกเม็ด” คือจุดเริ่มต้นของการเห็นคุณค่าภายในใจตนเอง
การเรียนกลุ่มสุขภาวะกายจิต ที่เด็ก ๆ จะได้พัฒนาทักษะของศาสตร์ต่าง ๆ โดยสามารถเลือกเรียนตามความสนใจ ประกอบด้วย
- ศิลปะ ที่มีให้เลือกทั้งงานวาด งานปั้น งานไม้ งานทอ โดยอาศัยกระบวนการทำงานของศิลปะมาช่วยพัฒนาจิตใจ ที่เรียกว่า จริยศิลป์
- ดนตรี ทั้งดนตรีไทย นาฏศิลป์ ดนตรีสากล ซึ่งเด็ก ๆ สามารถเลือกเล่นเครื่องดนตรีที่ตนเองชอบและสนใจ
- กีฬา เช่น กีฬาไทย ว่ายน้ำ ฟุตบอล แชร์บอล วอลเลย์บอล บาสเกตบอล
- อีกทั้งนักเรียนยังมีโอกาสได้เลือกเข้าชมรมตามความสนใจ ซึ่งในแต่ละชมรม จะมีคุณครูและผู้ปกครองอาสา ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ มาเป็นผู้จัดกิจกรรมการเรียนรู้
การพัฒนาทักษะชีวิต นอกจากนี้เด็ก ๆ จะได้ฝึกทักษะชีวิตเพื่อการเติบโตไปเป็นผู้ที่พึ่งพาตนเอง เช่น การพายเรือ การทำอาหารกลางวัน เรียนรู้การทำงานร่วมกันอย่างเป็นขั้นตอน การใช้อุปกรณ์ในการทำงานครัวด้วยความระมัดระวัง การทำหน่วยบริการ รู้จักสังเกต เอาใจเขามาใส่ใจเรา ตักอาหารให้เพื่อนและตนอย่างพอดี ดูแลล้างจานชาม และจัดเก็บภาชนะให้เรียบร้อย
หลังจากจบการเรียนรู้ในแต่ละวันเด็ก ๆ จะช่วยกันเก็บกวาดเช็ดถูพื้นที่ส่วนรวมของห้องเรียน และนำขยะไปแยกที่โรงคัดแยกขยะของโรงเรียน ซึ่งเป็นการงานที่ช่วยฝึกทักษะชีวิต ปลูกจิตสำนึกสาธารณะ และการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมก่อนกลับบ้านครูและนักเรียนจะสนทนายามเย็นเพื่อสะท้อนเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในวันนั้น แจ้งข่าวสาร หรือพูดคุยถึงปัญหาเพื่อทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาร่วมกัน จากนั้นจึงสวดมนต์แผ่เมตตา และอำลากลับบ้านด้วยจิตใจที่เบิกบาน
การเรียนรู้ของนักเรียนประถมในแต่ละวันเป็นไปเพื่อให้นักเรียนเกิดสมรรถนะในการเรียนรู้ มีความสุข มองเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆรอบตัว เห็นความสำคัญของสรรพสิ่งทั้งในธรรมชาติและในสังคมที่เกื้อกูลกัน นำมาสู่ความสามารถในการปรับตัว สามารถพึ่งพาสติปัญญาตนเองท่ามกลางโลกและสังคมที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา