การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็น

โรงเรียนรุ่งอรุณ : อนุบาล
บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งโพธิปัญญา

บูรณาการ เล่นเป็นเรียนในธรรมชาติ
เล่น ทดลอง ลงมือทำ
ให้เกิดประสบการณ์ตรง
เกิดพัฒนาการทางภาษา
และเกิดเป็นความรู้ความเข้าใจต่อเรื่องราวนั้นๆ

การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็น
ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เขียนไว้ในหนังสือ การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็น ถึงแนวทางการจัดการศึกษาแนวพุทธที่พัฒนาเด็กตามหลักไตรสิกขา คือ  ศีล  สมาธิ  ปัญญา เมื่อนำหลักไตรสิกขาสู่ระดับชั้นอนุบาลของรุ่งอรุณ วิถีชีวิตและกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ จึงมีเป้าหมายให้เด็ก กิน อยู่ ดู ฟังเป็น สามารถดูแลช่วยเหลือตนเองได้ ปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ และกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ อันเป็นคุณธรรมสำคัญที่เกื้อหนุนการเรียนรู้ของวัยเด็ก โดยบูรณาการ ๔ สาระที่สำคัญสำหรับปฐมวัย ได้แก่ ตัวเรา ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สังคม (พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อน ครู ลุงคนสวน ป้าแม่ครัว ฯลฯ) และภาษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ลงในทุกกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็ก อาทิ กิจวัตรประจำวัน การเล่น การออกกำลังกาย นิทาน ศิลปะ ดนตรี การทำอาหาร การเดินชมธรรมชาติ กิจกรรมจิตอาสา และโครงงานตามความสนใจ ซึ่งสอดคล้องไปกับฤดูกาลของแต่ละภาคเรียน

ชั้นเรียนคละอายุ
โรงเรียนอนุบาลของรุ่งอรุณจัดการเรียนรู้แบบคละอายุ หรือ “ชั้นคละ” ในแต่ละห้องเรียนมีเด็กอนุบาล ๑ อนุบาล ๒ และอนุบาล ๓  อายุ ๓ ถึง ๖ ขวบ ในจำนวนเท่าๆ กัน รวม ๒๕ คน การจัดการเรียนรู้แบบคละอายุนี้ตอบสนองธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งยังเป็นพื้นที่แห่งโอกาสที่จะฝึกฝนทักษะชีวิตและทักษะสังคมอย่างเข้มข้นให้กับเด็กๆ ด้วยสภาพแวดล้อมเสมือนสังคมจริงที่ส่งผลสู่พัฒนาการขีดสุด (Optimal Development) ของแต่ละช่วงวัย มีเด็กๆ ต่างอายุ ต่างพัฒนาการ ความสามารถ ลักษณะการเรียนรู้และความต้องการเรียนรู้  มาอยู่ร่วมกัน ในห้องเรียนที่เสมือนบ้านนี้มีทั้งพี่ใหญ่ พี่กลาง และน้องเล็ก ใช้เวลาอยู่ร่วมกันฉันพี่น้อง ซึ่งเอื้อโอกาสในการเรียนรู้ตามพัฒนาการของวัย พี่ใหญ่  มีโอกาสรู้จักบทบาทหน้าที่ของตัวเอง และการเป็นผู้นำที่เอื้ออาทร อ่อนโยน พี่กลาง  มีโอกาสทวนซ้ำและพัฒนาทักษะต่างๆ ที่ยังไม่ชำนาญให้มีความแม่นยำมากขึ้น เกิดความมั่นใจ ค้นพบความถนัด และรู้สึกถึงคุณค่าของตน น้องเล็ก มีโอกาสสังเกต เก็บเกี่ยวคุณค่า ประสบการณ์ และเลียนแบบจากพี่ๆ เพื่อขยายศักยภาพให้มากขึ้น