Problem-based Learning

นักเรียนชั้น ม.๕ จัดเวทีเสวนา “จับต้น(น้ำ) ชนปลาย(น้ำ)” วันที่ ๑๗ ต.ค. ๒๕๕๗ ณ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การใช้ปัญหาจริงเป็นโจทย์การเรียนรู้/โครงงาน (Problem-based Learning)
นักเรียนเกิดการเรียนรู้ทั้งสาระวิชาและพัฒนาทัศนคติ จิตสำนึก จนเป็นเจ้าของในเรื่องที่ศึกษา เพื่อที่จะดูแล รับผิดชอบสังคม สิ่งแวดล้อมและโลก ในฐานะพลเมืองที่มีความรู้ ความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในการพัฒนา

นักเรียนได้ฝึกทักษะการสังเกต สืบค้น สัมภาษณ์ บันทึก แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สื่อสาร และคิดอย่างเป็นระบบ ประมวลความคิดสำคัญ เพื่อแก้ปัญหาโจทย์ของโครงงานได้เป็นอย่างดี

โครงงาน “การศึกษาวิถีพึ่งพิงและภูมิปัญญาการจัดการทรัพยากรป่าและน้ำ”
กรณีศึกษาชุมชนบ้านสบลาน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่
ภาคเรียนที่ ๑-๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ นักเรียนชั้น ม.๕ สำนักสื่อสร้างสรรค์และภาษาเพื่อสังคม ออกภาคสนามศึกษาวิถีความเป็นอยู่ของคนต้นน้ำ ณ ชุมชนชาวปกาเกอะญอบ้านสบลาน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากโครงการของภาครัฐที่มีแผนจะสร้างเขื่อนแม่ขานทับที่อยู่และที่ทำกินของชาวบ้านสบลาน ส่งผลให้ชาวบ้านจะต้องอพยพออกจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยมายาวนาน

หลังกลับมาจากภาคสนาม นักเรียนร่วมกันรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และเรียบเรียงออกมาเป็นรายงานเอชไอเอชุมชน (HIA; Health Impact Assessment) “โอมื่อโชเปอ อยู่ดีมีสุข” เพื่อสื่อสารให้คนในสังคมรับรู้ถึงคุณค่าของชุมชนนี้ที่มีวิถีชีวิตและภูมิปัญญาในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ “เพราะพึ่งพิง จึงต้องดูแล” พร้อมตั้งคำถามกับสังคมว่า การรักษาชุมชนนี้ให้คงอยู่ต่อไป น่าจะเป็นหนทางในการจัดการทรัพยากรน้ำที่ยั่งยืนกว่าการสร้างเขื่อนหรือไม่ โดยจัดเวทีเสวนาเชิญผู้นำชุมชน ตัวแทนภาครัฐ และนักวิชาการ มาร่วมพูดคุยเพื่อรับรู้ความต้องการของแต่ละฝ่าย แล้วหาทางออกร่วมกัน เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๗ ณ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในปี พ.ศ.๒๕๕๙ รายงาน HIA “โอมื่อโชเปอ อยู่ดีมีสุข” ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ ๑๗ ประจำปี ๒๕๕๘-๒๕๕๙ ประเภทงานเขียน ซึ่งเป็นรางวัลที่จัดขึ้นเพื่อยกย่องเชิดชู บุคคล ชุมชน กลุ่มเยาวชน งานเขียน และสื่อมวลชน ที่มีผลงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ที่เด่นชัดและเป็นที่ประจักษ์ สามารถเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนทั่วไป

โครงงานการศึกษาการจัดการเพื่อการพึ่งพาตนเองทั้งระบบของชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็ง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่
(ดาวน์โหลดหนังสือ “ทุ่งหยีเพ็ง บ้านอุ่น ป่าเย็น”)
โครงงานของนักเรียนชั้น ม.๖ สำนักสื่อสร้างสรรค์และภาษาเพื่อสังคม จากการออกภาคสนามศึกษาปรากฏการณ์จริงในพื้นที่ชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็ง ที่นักเรียนต้องทำความรู้จักชุมชนด้วยตนเอง ออกแบบ หาวิธีเก็บประเด็น ให้ความหมายและวิเคราะห์คุณค่า แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือ “ทุ่งหยีเพ็ง : บ้านอุ่น ป่าเย็น” หนังสือที่รวบรวมองค์ความรู้ของชุมชน แนวคิด และการดำเนินการในโครงการต่างๆ ของชุมชน ตามความประสงค์ของชุมชนที่ต้องสื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนในชุมชนหันกลับมาศึกษาคุณค่าในตนเอง ทั้งยังเป็นสื่อบันทึกเรื่องราวและความเป็นมาของชุมชน ตลอดจนวิธีคิดของผู้คนในช่วงเวลาหนึ่งที่คนในรุ่นถัดไปสามารถศึกษาได้

การออกไปเรียนรู้ปรากฏการณ์จริงในพื้นที่จริง (Phenomenon inquiry-based Learning) เช่นนี้ ช่วยให้นักเรียนเข้าใจและเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งยังช่วยกระตุ้นสำนึกพลเมืองให้เกิดขึ้น เมื่อนักเรียนเล็งเห็นว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก เข้าใจปรากฏการณ์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ แล้วใช้ศักยภาพของตนทำประโยชน์แก่ชุมชนและสังคม ดังเช่นหนังสือ “ทุ่งหยีเพ็ง : บ้านอุ่น ป่าเย็น” เล่มนี้ ที่นักเรียนสามารถหยิบสารที่มีคุณค่ามาสื่ออย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อชุมชนเล็กๆ แห่งนี้

โครงงานบำบัดน้ำเสียในโรงเรียน
จากการเรียนรู้หน่วยวิชาวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับชั้น ม.๕ เรื่อง “ทรัพยากรน้ำและการจัดการน้ำโดยชุมชน” นักเรียนได้ออกสำรวจและตรวจวัดคุณภาพน้ำในชุมชนโรงเรียน รวมทั้งตามคูคลองในชุมชนภายนอกโรงเรียน ทำให้นักเรียนเกิดความตระหนักถึงการกระทำของตนเองที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเอง จนเกิดเป็นโครงงานบำบัดน้ำเสียในโรงเรียน โดยนำความรู้วิทยาศาสตร์มาประดิษฐ์คิดค้นทดลองจนเกิดเป็นระบบบำบัดน้ำในอาคารเรียนมัธยมและโรงครัวของโรงเรียน ซึ่งริเริ่มโดยนักเรียนชั้น ม.๕ ปีการศึกษา ๒๕๕๓ และเป็นโครงงานต่อเนื่องของนักเรียนชั้น ม.๕ สายวิทยาศาสตร์ในปีการศึกษาต่อๆ มา ที่ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ในปี ๒๕๕๘ นักเรียนชั้น ม.๖ ที่เคยทำโครงงานบำบัดน้ำเสียขณะอยู่ชั้น ม.๕ ได้เขียนรายงานวิชาการฉบับภาษาอังกฤษ หัวข้อ “Roong Aroon Wastewater Treatment Project” สรุปกระบวนการเรียนรู้และการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียในโรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ใน K-12 STEM Education วารสารออนไลน์ของ สสวท. ฉบับที่ ๑ เดือนมกราคม-มีนาคม ๒๕๕๘ (ดาวน์โหลดเล่มรายงาน Roong Aroon Wastewater Treatment Project)