IMG 1902
บันทึกรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ,  โรงเรียนอนุบาล

เบื้องหลังหยาดเหงื่อ…เจือด้วยรอยยิ้มและคุณค่า-More Than Routine

โครงการห้องเรียนสำหรับพ่อแม่ ครั้งที่   ตอนกิจวัตรประจำวันกับการเรียนรู้ (More Than Routine)

เล่าเรื่องโดย…ครูนิด-นิตยา กฤษณานนท์

การดูกิเลสและแสวงธรรม ท่านทั้งหลายอย่ามองข้ามใจ
ซึ่งเป็นที่อยู่ของกิเลส และเป็นที่สถิตอยู่แห่งธรรมทั้งหลาย
กิเลสก็ดี ธรรมก็ดี ไม่ได้อยู่กับกาลสถานที่ใดๆ 
ทั้งสิ้น
แต่อยู่ที่ใจ คือเกิดขึ้นที่ใจ เจริญขึ้นที่ใจ
และดับลงที่ใจดวงรู้ๆ 
นี้เท่านั้น

คติธรรม  ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ 

 

P3020004และแล้วในวันเสาร์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕ ก็เป็นอีกวันที่สนามเด็กเล่นของโรงเรียนอนุบาลรุ่งอรุณคลาคล่ำ ไปด้วยบรรดาพ่อแม่ของ “ว่าที่” เด็กอนุบาล ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๖ ที่มาร่วมกันจัดการทรัพยากรด้วยการแยกขยะ แยกหินกรวด ร่อนทราย ขุดดินปลูกต้นกล้วยรอบๆ สนามเด็กเล่น ดวงตะวันไม่เป็นใจ สาดแสงแรงกล้าลงมา ตลอดทั้งเช้าวันนั้น จนทำให้แรงงานสมัครเล่นทั้งหลายเหงื่อตกไปตามๆ กัน ใครบางคนบอกว่าเพิ่งเข้าใจ อุปมาอุปไมยที่ว่า “อาบเหงื่อต่างน้ำ” ได้ชัดเจนก็วันนี้เอง

             กิจกรรมครั้งนี้เป็นกิจกรรมในโครงการห้องเรียนสำหรับพ่อแม่ครั้งที่ ๕ ตอน กิจวัตรประจำวันกับการเรียนรู้ (More Than Routine)  เป็นการเรียนรู้ถึงคุณค่าของกิจวัตรประจำวัน  ที่พวกเราทุกคนทำอยู่บนความเคยชินเดิมๆ เป็นการกระทำอย่างเป็นอัตโนมัติด้วยจิตที่หลับใหล หากแต่เมื่อเรามาเรียนรู้การทำงานอย่างมีสติ     เรียนรู้ธรรมชาติของสภาวะกายใจของตนตลอดเวลาที่ทำงานนั้นๆ ทั้งก่อนทำ ขณะทำและเมื่องานแล้วเสร็จ การทำงานที่เรียบง่ายด้วยความรู้ตัว จึงเป็นการขัดเกลาความตื่นรู้ในตัวของผู้กระทำ ทำให้เข้าถึง “คุณค่า”ของกิจวัตรที่มีอยู่  เป็นการแปรเปลี่ยนการงานที่จำเจ ที่น่าเบื่อ กลายเป็นการงานที่มีคุณค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการงานที่คุณพ่อคุณแม่ทำในวันนี้ยังมีคุณค่าต่อลูกน้อยที่จะเข้ามาเรียนรู้ในสถานที่นี้ต่อไป  และอาจนำไปฝึกทักษะชีวิตและวินัยในชีวิตประจำวันของลูกได้อีกด้วย 

            นอกจากนั้นกิจกรรมในครั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้คุณพ่อคุณแม่ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด  มีมุมมองใหม่ในการรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ใช้ทรัพยากรต่างๆ ด้วยความมีสติ ประณีตกับการใช้ทรัพยากรในชีวิตประจำวัน  จนไปถึงคุณค่าของการเป็นผู้ให้ มีความอ่อนโยน เอื้อเฟื้อต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ  โดยทุกฐานกิจกรรมเป็นการภาวนากับการงาน  ปิดวาจาหรือลดการพูดให้น้อยที่สุดเพื่อการอยู่กับตัวเอง             

             มาดูกันนะคะว่าคุณพ่อคุณแม่แต่ละกลุ่มพูดถึงการงานอันเป็นกุศโลบายในการนำพาพวกเขาไปเรียนรู้ ตนเองอย่างไรกันบ้าง

         ฐานการแยกหินกรวด เป็นฐานที่คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยกันจัดวางก้อนหินกรวดซึ่งเรียงรายอยู่รอบลานไม้ของอาคารอนุบาลและลานหินใต้ต้นไม้ใหญ่ จัดวางใหม่ให้เป็นระเบียบ เป็นที่เป็นทาง ไม่ปะปนหรือจมไปกับทราย โดยเริ่มจากการขุดหินที่จมดินจมทรายขึ้นมา คัดเลือกหินแตกทิ้งไป ปูตาข่ายเพื่อป้องกันหินจมลง และเรียงหิน ที่คัดเลือกแล้วลงไปบนตาข่ายให้สวยงาม  

P3020048P3020049“กลัวเพราะแพ้มด เมื่อโดนกัดก็ถอย ก็ทุกข์แต่ก็โอเค ก็รู้ว่าเจ็บ แต่ก็ไม่ได้สนใจเพราะใจมุ่งอยู่กับ การทำงาน”

“มีหลากหลายอารมณ์ ทั้งการกังวลเรื่องมด ตั้งแต่บวชก็ตั้งใจไม่ฆ่าสัตว์ เมื่อโดนกัดมากก็กังวล และ สังเกตว่า ยิ่งใจไปมุ่งกับการหลบหลีกมด ก็ยิ่งถูกกัด อีกเรื่องคือการสื่อสารที่ห้ามพูด แต่ทุกคนก็เดาได้เมื่อเพื่อน ขอความช่วยเหลือ เราก็คิดโยงเรื่องการทำงานในที่ทำงานของเราว่าการสื่อสารในที่ทำงานเป็นอย่างไร การสื่อสาร ที่ไม่ชัดเจนทำให้งานไม่สำเร็จหรือไม่ และความรู้สึกสุดท้ายก็คือเมื่อเหนื่อยมากเข้าก็เริ่มคิดว่าเราโดนหลอกมาให้ ทำงานนี้หรือเปล่า   แต่เมื่อได้รู้ว่าต่อไปเมื่อเด็กมาเล่นแล้วการที่เราดูแลคัดหินที่แตกและแหลมคมออกไป หินก็จะไม่บาดมือเด็กๆ ก็ทำให้รู้สึกว่าเป็นการทำงานที่มีความหมาย   และเมื่อมองกลับไปที่ผลงานที่ทำสำเร็จก็รู้สึกชื่นใจ”

                “ไม่ได้คาดหวังว่าจะมีการทำงานแบบนี้ เมื่อเห็นอุปกรณ์ก็รู้สึกว่าเรากลับไปสู่จุดเริ่มต้นในอดีตที่มนุษย์ ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรมาก รู้สึกว่าการได้จับดิน จับหิน ทำอะไรพื้นๆ แบบนี้บ้าง ก็ช่วยทำให้ชีวิตช้าลง และ คิดว่าเป็นกิจกรรมที่เราสามารถทำกับลูกได้”

“เมื่อได้รับคำสั่งว่าให้ทำอะไรนั้น ยังไม่ค่อยเข้าใจและรู้สึกว่าคลุมเครือ สะท้อนถึงตัวเองว่าในฐานะแม่ เราเอาแต่สั่งลูกโดยไม่รู้เลยว่าลูกเข้าใจหรือไม่ ทำได้หรือไม่  ซึ่งลูกก็คงทำไปเท่าที่เขาจะทำได้ ก็ได้เรียนรู้ว่าการ สื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ ”

            ฐานร่อนทราย   คุณพ่อคุณแม่กลุ่มนี้ต้องร่อนทรายเพื่อคัดแยกใบไม้ เศษขยะ หรือวัสดุต่างๆ ออกจากบ่อทรายในสนามเด็กเล่น   ซึ่งเป็นสถานที่ที่เป็นที่โปรดปรานอันดับหนึ่งของเด็กๆ  เพื่อให้บ่อทรายสะอาดเอี่ยมพร้อมให้เด็กๆ มาเล่นอย่างปลอดภัย  เป็นฐานที่ทุกคนต้องทำงานกลางแจ้ง กลางแดดที่ร้อนระอุ หลายๆ คนเหงื่อไหลโซมกาย  เผชิญกับภาวะไม่ชอบใจ เป็นทุกข์ภายในตนเอง

IMG 1902“การทำงานค่อนข้างร้อน เหนื่อย แต่ทุกคนก็ผ่านมาได้ด้วยการอยู่กับการงาน ทำให้ความเหนื่อยร้อนนั้นหายไป ทำให้รู้สึกถึงคำว่า ใจเป็นนาย”

“ร่อนทรายเหมือนการทำความสะอาดจิตใจ ทำความสะอาดใบไม้ แล้วเก็บความสุขคือทรายไว้ แล้วจะต้องทำทุกๆ วัน”

ฐานารจัดการทรัพยากร ฐานนี้คุณพ่อคุณแม่ได้ทำงานกับการจัดการทรัพยากร หรือเรียกว่าเป็นการแยกทรัพยากรออกจาก “ขยะ” ซึ่งทางโรงเรียนได้มีโครงการ “ของเสียเหลือศูนย์” รณรงค์และทำงานด้านนี้ อย่างจริงจังและต่อเนื่องมากว่า ๑๐ ปี  ฐานนี้เป็นการทำงานที่ไม่เพียงแต่แยกขยะให้สำเร็จเท่านั้น แต่เป็นการงาน ที่เน้นถึง “คุณค่า” ของทรัพยากร  มีสติและประณีตในการใช้ทรัพยากรในชีวิตประจำวันมากขึ้น เป็นการจัดการที่สามารถเริ่มต้นที่ตนเองก่อนที่จะไปช่วยสังคมอื่นๆ  พ่อแม่หลายท่านบอกว่าจะนำการแยกขยะกลับไปเริ่มทำที่บ้าน

P3020027P3020019“ความรู้สึกคือโชคดีเพราะเราทำงานในร่ม เปิดพัดลมสบายๆ แต่เมื่อเห็นขยะจำนวนมากในถุงดำก็ตกใจเมื่อได้ไปทำ  ก็ได้ความคิดเกิดขึ้นว่าเราช่วยกันคนละไม้ละมือ  มันก็สำเร็จลงไปได้” 

“ขยะกองใหญ่เหมือนปัญหาที่เราเจอในการงาน ในชีวิต ถ้าเราใช้สติค่อยๆ จัดการ  ทุกอย่างก็ไม่ใช่ปัญหา ใหญ่  มีทางแก้ไขได้”

 ฐานปลูกต้นกล้วย    ฐานนี้มีภารกิจหลักคือการปลูกกล้วยทั้งหมด ๑๒ ต้น  เริ่มตั้งแต่การไปเอาดิน เอาหน่อกล้วยมา  ขุดหลุม  เตรียมดินให้เรียบร้อย และก็ลงมือช่วยกันปลูก

SAM 4554SAM 4549“ตอนที่ทำก็เริ่มสังเกตตัวเอง และรู้สึกว่าเรามีสมาธิมากขึ้น จดจ่ออยู่กับงานที่เราทำ มีคนพูดว่า เมื่อเปิดเทอม เราก็จะได้มาเยี่ยมดูว่าต้นกล้วยที่เราปลูกโตไปถึงไหน จะได้ชี้ให้ลูกดูว่ากล้วยพวกนี้ เราเป็นคนปลูก”

“การปลูกต้นไม้ก็เหมือนการเลี้ยงลูก เราไม่รู้ว่ามันจะโตหรือไม่ จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ภาวะแวดล้อม และอีกอย่างที่ได้เรียนรู้คือเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างพวกเราที่เกิดขึ้น เรารู้ว่าต่อไป เราไม่ได้เลี้ยงลูกเราคนเดียว  แต่จะมีพ่อแม่หลายๆ คนมาช่วยกันเลี้ยงดูแลลูกของเรา “

“ผมได้เรียนรู้การทำอะไรที่เรียบง่าย  และรู้สึกว่าเราไม่จำเป็นจะต้องคาดหวังความสมบูรณ์แบบ เราก็ยังเป็นเพียงต้นกล้วยต้นเล็กๆ เราเพียงทำเต็มที่และต้องเริ่มต้นใคร่ครวญถึงงานของเราในฐานะที่เป็นพ่อแม่”


เบื้องหลังหยาดเหงื่อของคุณพ่อคุณแม่ที่ได้มีโอกาสปฏิบัติงานให้เป็นการปฏิบัติธรรม   หลายคนได้สะท้อนว่าตนได้เรียนรู้โยงใยไปถึงการทำงานของตนและการเลี้ยงลูก  เกิดมุมมองใหม่ที่จะสร้างกิจวัตรประจำวันของตัวเองให้เป็นการเรียนรู้ของพ่อแม่และตัวลูก  และที่สำคัญคือ การประจักษ์ถึง “คุณค่า” ของกิจวัตรประจำวัน  พร้อมๆ กับการสัมผัสถึงคุณค่าของตัวเองและสรรพสิ่ง  พร้อมจะเป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูกได้อย่างภาคภูมิใจ

“พ่อแม่คือต้นแบบ
ลูกคือสำเนาถูกต้อง

อ.อมรา สาขากร 

 

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.