fair01
บันทึกรุ่งอรุณ,  ผลงานนักเรียน,  โรงเรียนมัธยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

นักเรียนรุ่งอรุณนำเสนอผลงานในเทศกาลความเป็นธรรม

fair01
เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๖ ครูเปรมปรีติ หาญทนงค์ (ครูปุ๊) และนักเรียนชั้น ม.๖ ห้องศิลป์ โรงเรียนรุ่งอรุณ ไปร่วมงาน
เทศกาลความเป็นธรรม (Just & Fair Society Festival) ณ อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำเสนอโครงงานเรื่อง “เหมืองทองคำและชุมชน ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย” ซึ่งเป็นโครงงานในหน่วยวิชาสังคมศึกษาของเด็กๆ ในภาคเรียนสุดท้ายของปีการศึกษา ๒๕๕๕ และเป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมในสังคมได้อย่างชัดเจน

fair00ในช่วงเช้า นายศุภณัฏฐ์  ฐานุพลพัฒน์ (นาย) เป็นตัวแทนเพื่อนๆ ชั้น ม.๖ ขึ้นพูดบนเวที “สามัญชน คนเปลี่ยนโลก (Citizen Talk) ในหัวข้อ “คนรุ่นใหม่กับการสื่อสารเรื่องไม่เป็นธรรม” ร่วมกับสามัญชนคนเปลี่ยนโลกอีก ๔ ท่าน คือ คุณโจน จันได เกษตรกรผู้ผู้ทำเกษตรอินทรีย์และทำการวิจัยเพื่อสร้างเมล็ดพันธุ์พืชด้วยตัวเอง พ่อเล็ก กุดวงค์แก้ว ปราชญ์อีสานผู้พลิกฟื้นผืนดินและพึ่งพาตนด้วยวิถีเกษตรกรรม เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว ประจำปี ๒๕๔๓ คุณสุภาพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และคุณจีรนุช เปรมชัยพร บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท ส่วนช่วงบ่ายเป็นการสนทนาบอกเล่าเบื้องหน้าเบื้องหลังการทำโครงงาน “เหมืองแร่ทองคำ : ทำรายได้หรือทำร้ายกัน” ในเวทีสนทนาสาธารณะ โดยมีนาย ทูว์ น้ำปาย ไข่มุก แอนดี้ โหยว และวิน เป็นตัวแทนนักเรียนชั้น ม.๖ ห้องศิลป์ ร่วมสนทนาและตอบคำถามบนเวที

fair02
“เราเรียนเพื่อเดินออกไปจากตัวเอง การเรียนทำให้เรารู้ทุกอย่าง
แต่ไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตให้ง่ายได้อย่างไร จะทำกินอย่างไร
เราทุ่มเททำงานหนัก แต่สิ่งที่เราทำนั้นกลับทำลายทุกอย่าง
ทำลายดิน น้ำ อากาศ ทรัพยากร ป่าไม้ เราไม่เคยสร้างสรรค์อะไรเลย
๕๐ ปีที่แล้วเรามีข้าวถึง ๒๐,๐๐๐ สายพันธุ์ ด้วยความขยันของเรา
ทุกวันนี้เรามีข้าวเหลือ ๒๐๐ สายพันธุ์ แล้วเราก็กินข้าวเพียง ๒ สายพันธุ์
ผมเป็นชาวบ้านธรรมดาที่พยายามหาความง่าย ความปกติ ให้ชีวิตตัวเอง
การได้กลับมาสู่การพึ่งตนเอง ทำให้เราพบอิสรภาพ ความง่ายคืออิสรภาพที่แท้จริง”
คุณโจน จันได

fair03

“ที่ผ่านมาเราไม่ได้เรียนรู้เรื่องตัวเอง เรียนรู้แต่เรื่องของผู้อื่น
เราเลยขาดความเชื่อมั่นจนพึ่งตัวเองไม่ได้ ดังนั้นเราจะอยู่ได้อย่างมีความสุข
๑.เราต้องเรียนรู้เรื่องตัวเองว่าเราเป็นใครมาจากไหน ทำอะไรอยู่ แล้วจะไปทางไหน
๒.เรียนรู้เรื่องคนอื่นเพื่อเท่าทันเขา และ ๓.รู้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลง
รู้ว่าเราจะอยู่ตรงไหนในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป”
พ่อเล็ก กุดวงค์แก้ว

 

fair04“ดูจากชื่อเวทีแล้ว ผมรู้สึกว่าตัวเองมีความเหมาะสมกับเวทีนี้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น คือคำว่าสามัญชน ผมเป็นนักเรียนชั้น ม.๖ อายุเพียง ๑๘ ปี เป็นสามัญชนคนหนึ่ง แต่คำว่าคนเปลี่ยนโลก ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าตัวเองเหมาะกับคำนี้หรือเปล่า แต่อย่างไรก็ตามผมรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้ขึ้นมาพูดบนเวทีเดียวกับปราชญ์ของแผ่นดิน ที่พูดและทำแต่เรื่องดีๆ เพื่อประเทศ ผมดีใจและขอบคุณมากที่ให้โอกาสผมได้มาพูดในวันนี้เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้รับมอบหมายงานจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ให้เลือกศึกษาพื้นที่ในโครงงานหน่วยวิชาสังคมศึกษา พวกเราเลือกทำพื้นที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ที่นี่ชาวบ้านมีปัญหาเรื่องสุขภาพและเรื่องเงินทอง ซึ่งคาดว่าเป็นผลกระทบจากการเกิดขึ้นของเหมืองทองคำ พวกเราก็ได้ทำคลิปวิดีโอเพื่อถ่ายทอดให้สังคมวงกว้างได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศของเรา ปัญหาที่ผมเชื่อว่าหลายๆ คนยังไม่รู้ วิดีโอมีทั้งหมด ๔ ตอน ตอนแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่ง ชื่อว่าพี่หนุ่ม เขามีความฝันว่าเหมืองจะช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้น แต่ทำไปทำมามันก็ไม่เป็นไปอย่างที่ฝัน และสุดท้ายเขาก็ออกมาจากเหมือง สิ่งสุดท้ายที่เขาเลือกคือชุมชน คือแผ่นดินที่เขาเรียกว่าบ้าน วิดีโอชุดที่ ๒ เป็นเรื่องของข้าว บอกเล่าเรื่องสารพิษปนเปื้อนในข้าวที่ชาวบ้านปลูก จนชาวบ้านไม่กล้ากินข้าวของตัวเอง ตอนที่ ๓ เป็นเรื่องของพ่อไม้ แกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อบ้านเกิดของเขา และวิดีโอชุดสุดท้ายคือที่ผมกำลังจะเปิดต่อไปนี้ เป็นเรื่องของลุงสุวัด แกเป็นหัวหน้าครอบครัวที่เมื่อก่อนเป็นเสาหลักของบ้านและอยากเห็นครอบครัวมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ปัจจุบันแกเดินไม่ได้ เพราะร่างกายได้รับสารพิษซึ่งคาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับเหมืองทองคำผมไม่ได้อยากถามว่าวิดีโอนี้ดีหรือไม่ แต่ผมอยากถามว่าทุกคนรู้สึกอย่างไร แล้วก็อยากให้คิดมากกว่านั้นไปอีกนิดหนึ่งว่า ถ้ามันเกิดขึ้นกับเรา กับพ่อ กับคนในครอบครัวของเรา เราจะทำอย่างไร แล้วปัจจุบันนี้เราได้ทำอะไรหรือยังที่จะช่วยเพื่อนร่วมประเทศไทยของเรา ลุงสุวัดที่เราเห็น (ในวิดีโอ) นี่มีตัวตนจริงนะครับ ผมสะเทือนใจตั้งแต่ภาพแรกที่เห็นแกแล้วครับ วันนั้นผมเห็นลุงแก่ๆ คนหนึ่งนั่งอยู่ รายล้อมไปด้วยถุงซองยาที่ไม่น่าจะมีสรรพคุณพอจะเยียวยาได้ มีทั้งยาแผนโบราณ ยาแผนปัจจุบัน ลุงสุวัดแกอยู่ด้วยความหวังครับ หวังว่าสักวันชีวิตจะดีขึ้น หวังว่าจะกลับมาเดินได้ แต่สุดท้ายก็อย่างที่เห็นคือมันไม่เป็นไปอย่างที่แกหวังปัจจุบันลุงสุวัดมีอาการขาไม่มีแรง เหน็บชา ขาลีบ ขาแกไม่รู้สึกแล้ว แกเล่าว่าอาการเริ่มจากเหน็บชาก่อน แล้วก็มีอาการกล้ามเนื้อกระตุก หลังๆ มันกระตุกจนนอนไม่หลับ สุดท้ายก็เดินไม่ได้ แล้วอาการแบบนี้เกิดจากอะไร พวกเราก็ไปหาข้อมูลครับ ปรากฏว่าตรงกับอาการของคนที่ได้รับสารไซยาไนด์มากเกินไป แล้วบังเอิญผลตรวจเลือดของแกก็มีค่าไซยาไนด์เกินมาตรฐานค่อนข้างสูง แล้วสารไซยาไนด์มาจากไหน พวกผมได้ไปคุยกับเจ้าหน้าที่อนามัยบริเวณใกล้ๆ หมู่บ้านมา เขาบอกว่ามันมาจากมันสำปะหลังดิบและหน่อไม้ดิบที่ชาวบ้านกินมากเกินไป หรือชาวบ้านอาจจะรักสวยรักงามมากเกินไป แล้วใช้เครื่องสำอางเยอะไปหน่อย แต่ที่ผมเห็น ชาวบ้านเขาก็ไม่ได้ใช้เครื่องสำอาง ลุงสุวัดเองแกก็ไม่ได้แต่งหน้า แล้วถ้าเป็นตามข้อสันนิษฐานของอนามัย ชาวบ้านต้องกินมันสำปะหลังและหน่อไม้ดิบมากขนาดไหนครับถึงจะเดินไม่ได้ กินจนตัวเองขาลีบเลยหรือครับ ผมจินตนาการไม่ได้นะครับว่าใครจะชอบหน่อไม้ดิบมากขนาดนั้น แต่ที่เราตั้งข้อสังเกต คือ เราได้เห็นบ่อกักเก็บไซยาไนด์ของเหมืองทองคำแห่งหนึ่งใกล้กับหมู่บ้าน

ไซยาไนด์เป็นสารตัวหนึ่งในการสกัดทองคำ ผมขออธิบายภาพการสกัดทองคำง่ายๆ นะครับ ภูเขาเป็นลูกๆ ระเบิดเอาหินที่มีทองคำออกมา แล้วใช้ไซยาไนด์เป็นตัวสกัดทองคำ ใช้คาร์บอนดูดทองออกไป จากนั้นสารพิษเหล่านี้จะไหลลงสู่บ่อเก็บ ถ้าหากบ่อกักเก็บนี้ไม่ได้มาตรฐานและไม่มีการจัดการที่ดีพอ สารพิษเหล่านี้ก็จะรั่วซึมไปที่ตาน้ำ ไปที่น้ำผุดหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าน้ำซับ แหล่งน้ำสำคัญของชาวบ้าน ปัจจุบันมีการไปตรวจพบว่าตาน้ำมีความเป็นกรด สาธารณะสุขก็ประกาศชัดเจนว่าห้ามใช้น้ำ ห้ามจับหอยจับปลาในบริเวณลำน้ำทั้ง ๖ หมู่บ้าน แล้วชาวบ้านต้องทำอย่างไรครับ เมื่อก่อนเขาเคยกินน้ำตรงนี้ เคยจับหอย จับปลามากิน ปัจจุบันมันใช้ไม่ได้แล้ว

ถามว่าเหมืองมีความเกี่ยวข้องหรือไม่กับเรื่องนี้ ผมก็ไม่สามารถฟันธงหรือตอบได้ แต่อยากฝากให้หน่วยงานทุกหน่วยงาน ทั้งผู้ประกอบการและหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบดูแลอย่างจริงจัง มีความโปร่งใส และมีความเป็นธรรมให้กับชาวบ้าน

ผมได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากโครงงานนี้ ในฐานะนักเรียน ในฐานะผู้กำกับวิดีโอครั้งนี้ ผมหวังว่าทุกคนจะลองคิดดูว่าเป็นธรรมแล้วหรือที่จะมีคนกลุ่มหนึ่งมีความสุขบนความทุกข์ของคนอีกกลุ่มหนึ่ง มันเป็นธรรมแล้วหรือที่มีคนกลุ่มหนึ่งร่ำรวยบนความซวยของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ผมใช้คำว่าความซวย เพราะที่จริงชาวบ้านเหล่านี้เขามีสวนยาง มีนา ทำกินพึ่งพาตัวเองได้ แต่ปัจจุบันเขาไม่สามารถทำอย่างนั้นได้อีกแล้วนับแต่เหมืองทองเข้ามา

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงงานที่พวกเราทำจะช่วยให้ชาวบ้าน หรือคนในห้องประชุมนี้ตื่นตัว ตระหนัก และลุกขึ้นมาช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน และผมก็แอบหวังว่าการกำกับวิดีโอเล็กๆ นี้จะเป็นก้าวเล็กๆ ที่นำไปสู่การเป็นสามัญชนคนเปลี่ยนโลกได้ไม่มากก็น้อย”

นายศุภณัฏฐ์  ฐานุพลพัฒน์ (นาย)

fair05

 

“ก่อนลงพื้นที่เราคิดว่าชาวบ้านน่าจะมีชีวิตความเป็นอยู่ลำบากกว่านี้ แต่พอเราลงไป ปรากฏว่าเขามีความเป็นอยู่ดีกว่าที่เราคิด มีไฟฟ้าใช้ มีสิ่งอำนวยความสะดวก แต่พอเหมืองเข้ามา มันทำให้ชีวิตของเขาไม่เหมือนเดิม มันน่าสงสัยเพราะชาวบ้านเขาไม่เคยรู้เลยว่าเรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับเขา แล้วทำไมชาวบ้านไม่ได้ข้อมูลว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่เขาเป็นผู้มีส่วนได้เสียมากที่สุด วันหนึ่งถ้าหมดสัมปทาน เหมืองปิด ทุกคนจากไป แต่ชาวบ้านคือคนที่ต้องอยู่ตรงนั้นไปอีกชั่วลูกชั่วหลาน แล้วต้องคอยรับผลกระทบต่อไปไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยปี” นางสาวน้ำปาย ไชยฤทธิ์ (น้ำปาย)

 

“ลองนึกดูว่าถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านเหล่านี้เกิดขึ้นกับคนใกล้ชิดของเรา เราจะยอมรับได้ไหม” นางสาวนพพรรณ พรวนเกิด (ไข่มุก)

 

“เราอยู่กรุงเทพฯ เป็นเมืองของผู้บริโภค แต่ก่อนเราก็บริโภคและใช้จ่ายไปในวิถีทุนนิยม วัตถุนิยม โดยไม่รู้ว่าการบริโภคของเรามันส่งผลกระทบกับใครบ้าง แต่หลังจากนี้ผมรู้สึกว่าเราต้องคิดมากขึ้นในการจะใช้จ่าย บริโภค จะเดินแต่ละก้าว หรือจะทำอะไรก็ตาม คิดว่ามันจะส่งผลกระทบกับใครอย่างไรบ้างไหม เราต้องไม่มีความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น” นายภวินท์ สิงหละชาติ (วิน)

 

“ผมได้เรียนรู้ว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมมันเกี่ยวข้องกับตัวเรา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” นายสิราษฎร์ อินทรโชติ (ทูว์)

 

“ก่อนหน้านี้ยอมรับว่าเวลารู้ปัญหาในสังคม เราก็จะคิดว่า “แล้วยังงัย ไม่เกี่ยวอะไรด้วยนี่” แต่พอเราได้ลงไปรู้ไปเห็นปัญหาจริงๆ รู้สึกเลยว่ามันน่ากลัวมากหากเราทุกคนรู้สึกชินและเมินเฉยกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะมันคือการทิ้งเพื่อนร่วมชาติของเรา ทำให้เราได้ฉุกคิดว่า จะทำอะไรก็ตาม เราต้องคิดถึงคนอื่นให้มากกว่าเดิม คิดว่าเราจะทำให้ใครเดือดร้อนหรือเปล่า” นางสาววรันธร ฌานจิตกุศล (โหยว)

 

“กรุงเทพฯ ไม่ได้ผลิตอะไรเลย เราเป็นเมืองบริโภค ชาวบ้านเขาเป็นผู้ผลิต ปกป้องทรัพยากรให้เรา แล้วเราได้ช่วยเหลือเขาบ้างหรือเปล่า อยากให้ทุกคนได้คิดดูว่าคุณค่าจริงๆ คืออะไร คงไม่ใช่สิ่งที่เรามองว่าสวยแล้วตั้งราคามันขึ้นมา แต่มันเบียดเบียนคนอื่น มันก็อาจด้อยค่า ถ้าเราใส่ใจ เราจะรู้ว่าคุณค่าที่แท้จริงคืออะไร” นายศิรธันย์ กิตติ์ธนานิธิกุล (แอนดี้)

 

“เวลาเรามองภาพของประเทศหรือโลกทั้งโลก อย่ามองแค่ตัวเลขอย่างจีดีพี หรือมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพราะมันไม่ได้บอกว่าจริงๆ แล้วความสุขและความเป็นอยู่ของคนในประเทศหรือในโลกใบนี้เป็นอย่างไร ถึงตอนนี้เราก็ตอบฟันธงไปไม่ได้นะครับว่าสุดท้ายแล้วเหมืองทองคำ ทำรายได้หรือทำร้ายกัน เพราะปัญหาทั้งหมดทั้งมวลของชาวบ้านมันเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการมาของเหมือง บวกกับข้อมูลต่างๆ เราก็สันนิษฐานว่ามันน่าจะเกี่ยวข้องกัน แต่มันยังไม่ได้มีการพิสูจน์แน่ชัด ก็ยังเป็นคำถามที่ต้องค้นหาความจริงกันต่อไปครับ” นายภวินท์ สิงหละชาติ (วิน)

 

+ + + หนังสั้น และ Infographic ในโครงงาน “เหมืองทองคำ ทำรายได้หรือทำร้ายกัน” โดยนักเรียนชั้น ม.๖
+ + + บทความเรื่อง “ความจริงจากเหมืองทอง” ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.