ศิลปะกับการเรียนรู้ (More Than Art)
ถักทอสายใย…ปั้นฝัน..บรรจงวาดไว้ในใจเรา
เล่าเรื่องโดย ครูนิด-นิตยากฤษณานนท์
ในวันเสาร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา หากใครที่บังเอิญเดินผ่านเข้ามาในโรงเรียนอนุบาลรุ่งอรุณ จะสัมผัสได้ถึงความเงียบสงบ เงียบเชียบไร้ซึ่งสุ่มเสียงใดๆ ทั้งๆที่มีพ่อแม่กว่าร้อยชีวิตกำลังขะมักเขม้นกับการงานตรงหน้าเพื่อเรียนรู้กาย-ใจตนเอง ผ่านงานศิลปะคืองานถักนิตติ้ง งานปั้นดิน และงานสีน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงของพ่อแม่ ในการอบรมเชิงปฏิบัติการ “เลี้ยงลูกดีวิถีไทย” ในหัวข้อศิลปะกับการเรียนรู้ – More Than Art
เช่นเดียวกันกับการเรียนศิลปะที่เด็กๆรุ่งอรุณเรียนรู้ที่โรงเรียน เป็นการทำงานศิลปะที่มากกว่าการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่สวยงามเท่านั้น หากแต่เป้าหมายของคุณครูมุ่งพานักเรียนไปสู่การทำงานจริยศิลป็…เป็นศิลปะเพื่อการภาวนา เพื่อการกล่อมเกลากายใจตนเอง เป็นการภาวนาบนการทำงานด้วยสติและสมาธิที่แน่วแน่ ฝึกฝนจิตเพื่อย้อนมองเข้ามาดูและรู้เท่าทันความคิดของตน
ถักทอสายใย ไปกับงานนิตติ้ง
ในครั้งนี้คุณครูเปิดโอกาสให้พ่อแม่แต่ละคน เลือกฐานงานศิลปะตามที่ตนเองสนใจ พ่อแม่ที่เลือกฐานงานถักนิตติ้ง บางคนก็เลือกเพราะมีความชอบอยู่เป็นทุนเดิม บางคนมาเพราะทำ ไม่เป็น แต่ต้องการเรียนรู้ อยากทำเป็น แม้เป้าหมายของแต่ละคนในการเข้ามาจะต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกัน ก็คือ ทุกคนเริ่มต้นมานั่งอยู่ตรงหน้า ไม้เสียบปลา ๒ ไม้ ใช้กระดาษทรายขัดถูจนเรียบ ปราศจากเสี้ยนไม้ แล้วถูด้วยเทียนเพื่อลด ความฝืด ผ่านไปไม่เกิน ๕ นาที ทุกคนก็ได้ “ไม้นิตติ้งทำมือ” มาคนละหนึ่งคู่เตรียมพร้อมที่จะลงมือถักผ้าห่ม ให้ลูกรัก และงานนี้ไม่ใช่มีเพียงแค่คุณแม่ หากแต่คุณพ่ออีกหลายคนก็สนใจการถักนิตติ้งด้วย
ปั้นฝันวันเยาว์
จากมือสู่มือ จากคนแรกสู่คนสุดท้ายก้อนดินถูกส่งต่อกันมา กระทั่งวางลงตรงหน้า การรับส่งก้อนดิน ดำเนินไปอย่างเนิบช้า ละมุนละม่อม พนมมือไหว้ทั้งก่อนและรับก้อนดิน สัมผัสดินด้วยความรู้สึก หลับตา ส่งก้อนดินต่อไปแล้วก็ลืมตา จากดินเย็นๆ ที่ผ่านมือเพื่อนทุกคน กลายเป็นดินอุ่นๆ ที่พร้อมจะให้ทุกคนขึ้นรูปได้ดังใจ…
“การได้มานั่งปั้นดิน ทำให้รู้สึกว่าตัวเรายังไม่รู้จักตัวเองเลย แล้วจะรู้จักลูกมากแค่ไหน ตอนทำก็คิดนั่น คิดนี่ และถามตัวเองว่าเราจะเรียนรู้อะไรจากการทำกิจกรรมนี้”
“เมื่อ มีโจทย์ว่าให้ปั้นลูกเจี๊ยบก็คิดไปว่าคนอื่นจะมองงานเราเป็นลูกเจี๊ยบหรือ เปล่า จากนั้นก็เริ่มมองคน อื่น และก็กลับมาตั้งหลักกับงานตัวเอง”
“ตอนมีโจทย์รู้สึกว่าไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจสักที แต่เมื่อไม่มีโจทย์ก็ผ่อนคลายขึ้น และรู้สึกเป็นอิสระ”
“อาจ จะรู้สึกแตกต่างกันคนอื่น คือมองว่าการทำงานแบบมีโจทย์นั้นง่าย เราก็ทำตามโจทย์นั้นไป แต่เมื่อให้ปั้นอิสระ ก็คิดไม่ออกว่าจะทำอะไร”
เหลืองสดใส น้ำเงินอบอุ่นใจ แดงร้อนร่าเริง เป็นสีสามสีที่คุณครูจัดให้เพื่อการทำงานสีน้ำ แบบ เปียกบนเปียก (wet-on-wet) ซึ่งเป็นการระบายสีที่เปิดโอกาสให้เรามีประสบการณ์กับสี หรือทำความรู้จัก กับความรู้สึกของเราทีมีต่อสีนั้นๆมากกว่าที่จะมุ่งหวังที่จะทำให้เป็นรูปร่างต่างๆ ภาพของมือที่ค่อยๆ ลากพู่กัน เพื่อส่งให้สีนั้นฟุ้งกระจาย พริ้วไหว โลดแล่นไปบนแผ่นกระดาษ ซึ่งก็สะท้อนในการแบ่งปันความรู้สึก หลังจากนั้นว่า
“รู้สึกว่าทำให้จิตใจสงบ”
“ทำให้ระลึกถึงการทำงานเย็บผ้า ทำให้ได้อยู่กับตัวเอง ได้ทำงานช้าลง ได้เห็นปัญหาและแก้ไข”
“การระบายสีน้ำเหมือนการเลี้ยงลูก มีการซึมซับของน้ำที่เหมือนเด็ก จะซึมซับทุกสิ่งทุกอย่าง ที่อยู่รอบตัว”
“ขอย้อนไปถึงการทำงานเย็บผ้า ตัวเองไม่เคยทำงานเย็บปักถักร้อย เป็นงานที่ยากที่สุด แต่ก็ได้ เห็นกำลังใจจากที่บ้าน การสนับสนุนจากลูกและภรรยา ทำให้มีพลังและทำได้สำเร็จ เมื่อเชื่อมโยงกับ การทำสีน้ำทำให้ง่าย เพราะไม่คาดหวัง ไม่คิด ไม่เครียด”
การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ไม่ว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ปรากฏขึ้นจริงอย่างชัดเจน เป็นหลักฐานเชิงประจักษณ์ก็คือ จิตใจที่จดจ่อ มุ่งมั่นอยู่กับการงาน เป็นการสะท้อนถึงความสงบภายในที่เกิดขึ้นกับตน และปรากฏเป็นความเงียบสงบภายนอก จนแม้เสียงนกน้อยสองสามตัวที่ส่งเสียงเจื้อยแจ้ว แผ่วเบา อยู่ข้างหน้าต่าง ต่อให้แผ่วเบาแสนเบา เราก็ยังได้ยิน…
“ผมรู้สึกว่าตอนเริ่มทำแรกๆนั้นน่าเบื่อ แต่ต่อมาก็รู้สึกเพลิน พยายามแก้ปมเมื่อทำผิด ช่วงหลังๆ พยายามลัดขั้นตอน แล้วก็ยังทำไม่สำเร็จ ก็ได้รู้ว่า อืมม.. ของบางอย่างไม่มีทางลัด”
“เลือกมาฐานนี้เพราะอยากทำเป็น พอมาก็รู้สึกว่าไม่ควรมาเลย แต่เมื่อรู้ว่าเปลี่ยนไม่ได้ก็อยู่กับมัน แล้วก็คิดว่าดีที่เราได้เรียนรู้อะไรที่เราไม่รู้”
- โครงการห้องเรียนสำหรับพ่อแม่ “เลี้ยงลูกดีวิถีไทย” ครั้งที่ ๑ ธรรมชาติปฐมวัย
- โครงการห้องเรียนสำหรับพ่อแม่ “เลี้ยงลูกดีวิถีไทย” ครั้งที่ ๒ กีฬาไทย/การละเล่นไทยกับการเรียนรู้ (More Than Sport)
- โครงการห้องเรียนสำหรับพ่อแม่ “เลี้ยงลูกดีวิถีไทย” ครั้งที่ ๓ ตอนการงานกับการเรียนรู้ (More than Activity)
- โครงการห้องเรียนสำหรับพ่อแม่ “เลี้ยงลูกดีวิถีไทย” ครั้งที่ ๕ กิจวัตรประจำวันกับการเรียนรู้ (More Than Routine)