“เหมืองทองคำ ทำรายได้หรือทำร้ายกัน” โครงงานเพื่อสังคมของนักเรียนชั้น ม.๖
เหมืองทองคำ ทำรายได้หรือทำร้ายกัน?
ชื่อเพจชวนคิดบน facebook ชุดนี้เป็นผลงานของนักเรียนชั้น ม.๖ ห้องศิลป์ โรงเรียนรุ่งอรุณ จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลความจริงที่ค้นพบจากการลงศึกษาในพื้นที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้สังคมในวงกว้างรับทราบข้อมูลที่อาจไม่เคยรู้ โดยเฉพาะข้อสันนิษฐานที่ว่าอาจมีสารพิษจากเหมืองรั่วซึมลงสู่ผืนดินและแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ที่ไม่อาจพึ่งพาตนเองและธรรมชาติได้อีกต่อไป เพราะแหล่งอาหารบนภูเขาและแหล่งน้ำธรรมชาติค่อยๆ หายไป กลายเป็นบ่อกักเก็บแร่แทน แหล่งน้ำบางสายถูกระบุว่ามีสารพิษปนเปื้อนเกินขนาด ห้ามใช้หรือดื่มกิน รวมทั้งอาการเจ็บป่วยของชาวบ้านที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการมาของเหมืองแร่ทองคำ
นอกจากเพจ “เหมืองทองคำ ทำรายได้หรือทำร้ายกัน?” นี้แล้ว นักเรียนกลุ่มนี้ได้จัดทำคลิปวิดีโอสั้น ๔ ตอน คู่กับแผ่นพับข้อมูลในรูปแบบ Infographics ๔ ชุด บอกเล่าประเด็นต่างๆ ที่ค้นพบ ทั้งเรื่องความเจ็บป่วยของชาวบ้าน ผลกระทบของสารปนเปื้อนในน้ำต่อพืชผลทางการเกษตร และเรื่องราวการต่อสู้เพื่อสิทธิความเป็นอยู่ที่ดีของชาวบ้าน
- แผ่นพับชุดที่ ๑ : ความฝันบนสามภู…คลิกดาวน์โหลด
- แผ่นพับชุดที่ ๒ : เหมืองทองกับสุขภาพ…คลิกดาวน์โหลด
- แผ่นพับชุดที่ ๓ : ใครผิด…คลิกดาวน์โหลด
- แผ่นพับชุดที่ ๔ : จนตรอก…คลิกดาวน์โหลด
- แผ่นพับภาษาอังกฤษ…คลิกดาวน์โหลด
ตอนที่ ๑ ความฝัน
ตอนที่ ๒ ความสุขบนความทุกข์
ตอนที่ ๓ เสียงที่ไม่มีสิทธิ์
ตอนที่ ๔ ข้าว
พร้อมกันนี้นักเรียนได้ระดมทุนเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจหาสารไซยาไนด์และสารโลหะหนักในเลือดของเด็กๆ ในพื้นที่เนื่องจากการตรวจดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายสูง ชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถแบกรับได้ (ภายหลังตรวจพบสารไซยาไนด์ปนเปื้อนในแหล่งน้ำเกินมาตรฐาน รัฐมีงบประมาณตรวจเลือดให้กับชาวบ้าน แต่งบประมาณนั้นเพียงพอสำหรับตรวจเลือดให้กับชาวบ้านได้เพียงร้อยกว่าคน ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่รอบเหมืองมีอยู่ประมาณสามพันกว่าคน)
ท่านใดสนใจร่วมบริจาคสามารถโอนเงินมาได้ที่ ธนาคารกสิกรไทย สาขาเซ็นทรัลพระราม 2 ชื่อบัญชี : น.ส.นลวรรณ กาญจนประกาส และ น.ส.ชนาฐิต รัตนปราการ เลขที่บัญชี 743-2-53710-9 |
“พวกเราหวังว่าสิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่นั้นจะสามารถช่วยให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณรอบเหมืองได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สุขภาพที่ดีขึ้น ไม่ต้องกังวลว่าในน้ำและในอาหารของตนเองจะถูกปนเปื้อนจากสารพิษ และสามารถกลับมาพึ่งพิงธรรมชาติรอบตัวได้ดังเดิม” ความในใจบางส่วนของเด็กๆ กลุ่มนี้ที่เขียนไว้ในบทความเรื่อง “สามภูแห่งลำน้ำฮวย : อดีต ปัจจุบัน อนาคต” ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ manager.co.th
เบื้องหลังโครงงานเหมืองแร่ทองคำของนักเรียนชั้น ม.๖ โรงเรียนรุ่งอรุณ
โครงงานเพื่อชุมชนในครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการเรียนรู้ในหน่วยบูรณาการสังคม-ภาษาไทย โดยคุณครูเปรมปรีติ หาญทนงค์ หรือครูปุ๊ ตั้งโจทย์ให้นักเรียนได้เรียนรู้การทำงานแบบผู้ใหญ่/นักวิชาการ/นักวิจัย ด้วยการรับโจทย์งานจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เรื่องการทำเหมืองแร่ทองคำที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสุขภาพของชาวบ้านใน อ.วังสะพุง จ.เลย แล้วนำโจทย์ที่ได้มาหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อออกแบบแผนการทำงานทั้งโครงการ ทั้งชิ้นงาน วิธีการทำงาน ระยะเวลาการทำงาน ผลที่คาดหวัง และงบประมาณที่ต้องใช้ แล้วนำกลับไปเสนอตามระเบียบปฏิบัติของ สช. จนกระทั่งได้รับการอนุมัติ จากนั้นลงพื้นที่ศึกษาและเก็บข้อมูลในแง่มุมต่างๆ โดยทำงานร่วมกับชาวบ้านกลุ่ม “ฅนรักษ์บ้านเกิด” ที่ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมจากภาครัฐและบริษัทเหมืองมาเป็นเวลานาน ก่อนจะนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำเป็นคลิปวิดีโอสั้น ๔ เรื่อง นำเสนอข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่ โดยจะเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) และหนังสือพิมพ์ เพื่อให้คนในสังคมวงกว้างได้รับรู้ข้อมูลความจริงที่เกิดขึ้น แล้วลุกขึ้นมามีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากขณะนี้บริษัทเหมืองกำลังขยายสัมปทานไปยังภูใกล้เคียงที่ขั้นตอนกำลังอยู่ในการพิจารณาอนุมัติของคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน
การเรียนรู้ผ่านการทำโครงงาน (Project-Based Learning) เช่นนี้ เป็นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำบนบริบทจริงของสังคมที่นักเรียนต้องไปทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อรู้ถึงที่มาของปัญหา สภาพของปัญหา และผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในเชิงลึกและรอบด้าน เรียนรู้การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นเครือข่ายในการเรียนรู้และการทำงาน ก่อนจะนำข้อมูลที่ได้มาคิดหาแนวทางแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งที่มีหน้าที่ร่วมรับผิดชอบและพัฒนาสังคม |
+++ นักเรียนรุ่งอรุณนำเสนอผลงานในเทศกาลความเป็นธรรม
+++ บทความเรื่อง “ความจริงจากเหมืองทอง” ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ