“รุ่งอรุณให้อะไรกับเรา” เสียงสะท้อนของศิษย์เก่า
ในวันสัมภาษณ์ผู้ปกครองนักเรียนใหม่ชั้น ม.๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๖ ศิษย์เก่าของรุ่งอรุณ ๓ คน ที่ปัจจุบันศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย มาร่วมวงเสวนาบอกเล่าประสบการณ์การเรียนรู้ที่โรงเรียนรุ่งอรุณว่าเป็นประโยชน์อย่างไรกับการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย…เก็บความบางส่วนในวันนั้นมาเล่าสู่กันฟังค่ะ
นางสาวกัญญารัตน์ แสนกุล (จีน) โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ในมหาวิทยาลัย จีนเรียนเรื่องอาเซียนศึกษา แล้วเราต้องตามข่าวตลอดเวลา ต้องกระตือรือร้น เพราะอาเซียนไปไวมาก สิ่งที่ได้จากการเรียนโครงงานที่รุ่งอรุณ คือ เราจะไวกับข่าว ตั้งแต่ ม.๔ ม.๕ แล้วที่จีนจะอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ทุกวันจนกลายเป็นนิสัย อีกเรื่องที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด คือ วิธีการหาข้อมูล จีนจะใช้หนังสืออ้างอิงจากห้องสมุด ทั้งหนังสือภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ แต่เพื่อนจะติดอยู่กับการใช้เว็บไซต์และหนังสือภาษาไทย ไม่กล้าไปมากกว่านั้น ขณะที่เรากล้าที่จะเข้าไปจับข้อมูลในระดับที่ยากขึ้น ลึกขึ้น รวมทั้งการหาหัวข้อในการทำรายงาน เพื่อนๆ จะจับแต่เรื่องในประเทศไทย ขณะที่เราจะก้าวไปประเทศเพื่อนบ้านแล้ว เช่น ปัญหาที่กระทบต่อชายแดนไทย-ลาว เพื่อนจะจับปัญหาแค่ของคนที่อยู่ติดฝั่งชายแดนไทย แต่ไม่ได้พูดถึงว่าอีกฝั่งหนึ่งเป็นอย่างไรบ้าง คือเขาจะมองแค่สิ่งที่อยู่ในประเทศ สิ่งที่อยู่กับตัวเขา แต่ไม่ได้มองไปถึงว่าแล้วประเทศไทยส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร”
“เมื่อไม่นานมานี้จีนทำรายงานโดยจับไปที่นัยยะเรื่องของการเมืองบนสถาปัตยกรรม เป็นหัวข้อที่อาจารย์เคยบรรยายมาแล้ว แต่ทั้งห้องไม่มีใครเข้าใจเลย จีนก็ไม่เข้าใจ แต่จีนมองว่านี่เป็นโอกาสดีที่เราจะทำความเข้าใจมันใหม่อีกครั้ง นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ติดไปจากรุ่งอรุณ คือเวลาที่เราไม่เข้าใจเรื่องอะไร เราจะต้องหา ต้องถาม ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้เราเข้าใจมากที่สุด เลยเลือกทำหัวข้อนี้ ก็พยายามไปหาข้อมูล สัมภาษณ์นักวิชาการหลายท่านเพื่อเอามาลงในรายงาน มันเหมือนติดมาจากโรงเรียนว่ารายงานทุกอันต้องลงพื้นที่ ต้องสัมภาษณ์บุคคล ยืนยันให้ได้ว่าข้อมูลนั้นจริง”
นางสาวพิริน วรรณวลี (พาย) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“จากการไปภาคสนาม เราไปเห็นปัญหาในสังคมจากมุมโน้นมุมนี้ที่เรารู้สึกว่ามันเป็นปัญหาจริงๆ แต่ถ้ารอให้รัฐบาลมาแก้จะช้าไป กว่า พ.ร.บ.จะออก กว่าจะทำกฎหมาย ผลประโยชน์ทับซ้อนเยอะมาก แต่ถ้าเราเป็นสื่อ เราจะมีพลังที่จะเข้าไปเปลี่ยนทัศนคติของคน หรือช่วยรณรงค์การแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ เลยอยากเรียนเกี่ยวกับสื่อสารมวลชน”
“เด็กรุ่งอรุณเป็นเด็กที่ชอบเซอร์ไพรส์อาจารย์ เราบอกว่าเรียนเลกเชอร์น่าเบื่อมาก มองกลับกัน พายว่าอาจารย์ก็คงเบื่อเหมือนกัน พูดเรื่องเดิมๆ สามชั่วโมงกับทุกรุ่น เพราะฉะนั้นอาจารย์จะรู้สึกดีใจมากที่เด็กกล้าทำอะไรที่เขาไม่ได้สอน หรือกล้าคิดอะไรที่เกินจากที่เขาสอน ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นกับนักเรียนจากที่อื่น เขาจะเลือกหัวข้อเซฟๆ ในการทำรายงาน เขาพยายามคิดว่าอาจารย์น่าจะชอบแบบนี้ แต่เด็กรุ่งอรุณจะเป็นแบบ เราอยากรู้เรื่องนี้ แล้วก็ไปหาข้อมูลจริงๆ ไม่เอาแค่เว็บไซต์ อยากไปสัมภาษณ์คนจริงๆ ก็ไปทำ ซึ่งบางทีมันเกินสิ่งที่อาจารย์สอน แต่อาจารย์ชอบมาก”
“ตอนนี้พายเรียนรัฐศาสตร์ด้วย อาจารย์ให้ทำรายงาน เพื่อนส่วนใหญ่ก็จะทำประวัติชีวิตบุคคล แต่พายทำเรื่องความชอบธรรมกับการเมืองไทย กรณีศึกษากบฏเมษาฮาวาย ซึ่งอาจารย์ชอบมาก ด้วยความที่อยู่โรงเรียน เราทำโปรเจกมาโดยตลอด ครูก็จะบอกว่า คุณจะเรียนอะไร คุณอย่าคิดแค่ว่าเรียนเพื่อให้จบหลักสูตรการศึกษา ทำงานแล้วค่อยไปสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างประโยชน์ให้สังคม แต่ในชีวิตอาจจะไม่ได้สร้างอะไรเลยก็ได้ ถ้าคุณเรียนตอนนี้ แล้วคุณเปลี่ยนแปลงสังคมได้ตอนนี้เลย เรียนแล้วมันเป็นประโยชน์กับคนอื่นได้ก็ให้ทำเลย เราก็พยายามจะทำรายงานที่สื่อให้เห็นว่า เรื่องของความชอบธรรมหรือกระบวนการเมืองที่เขาเอามาใช้นั้นเป็นอย่างไร ให้คนอ่านได้เห็นเกมการเมือง ก็พยายามไปสืบหาคนที่อยู่ในวันที่เกิดกบฏ คนที่เขาคุมกองทัพอยู่จริงๆ ซึ่งบางคนเป็นนักการเมืองระดับใหญ่ บางคนเสียชีวิตไปแล้ว เราก็สืบไปเรื่อยๆ จนไปเจอคำพูดของนายทหารคนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็เอาชื่อของนายทหารคนนี้ไปค้นหาในเว็บไซต์ แล้วไปเจอบทความที่นักเขียนคนหนึ่งสัมภาษณ์เขา พายเลยส่งอีเมลไปหานักเขียนคนนี้ แนะนำตัวว่าเราเป็นนิสิตเรียนอยู่ที่นี่ กำลังทำรายงานเรื่องนี้ อยากจะสัมภาษณ์นายทหารคนนี้นะ นักเขียนก็อีเมลเบอร์โทรศัพท์ของทหารกลับมาให้ แล้วบอกเราว่าไปสัมภาษณ์เลยน้อง พายก็โทรไป อาทิตย์หน้าจะไปสัมภาษณ์แล้วค่ะ”
นายพรรษ วุฒิพงศ์ (กุ๋ย) คณะวิทยาศาสตร์ สาขาคณิตศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“พออยู่ในมหาวิทยาลัย เรากล้าคิด กล้าถาม กล้าลงมือทำ โดยไม่กลัว ในมหาวิทยาลัยจะมีวิชา Lab แล้วรุ่งอรุณก็ไม่ได้มีเครื่องมือ Lab มากมายอะไร ดูจะขาดๆ เกินๆ ตอนแรกผมก็เซ็งที่ Lab เราเป็นอย่างนี้ แต่ความขาดๆ เกินๆ นี้กลับทำให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้วเครื่องมือแต่ละอันใช้ทำอะไร แล้วถ้าไม่มีอันนี้จะใช้อะไรแทนได้ การทำ Lab ในมหาวิทยาลัย เราต้องใช้ความคิดว่าถ้ามันเป็นอย่างนี้แล้วจะเป็นอย่างไรต่อ เพราะในหนังสือไม่ได้เขียนไว้ แต่เพื่อนจากโรงเรียนอื่นจะไม่กล้าคิด ไม่กล้าลองทำสิ่งที่ต่างจากหนังสือ อย่างหนังสือสั่งว่าให้ใช้อันนี้ แต่พอไม่มี เขาก็ไม่กล้าลองใช้อันอื่นแทน กลัวว่าจะพัง อาจารย์จะว่าหรือเปล่า แต่วิทยาศาสตร์คือวิชาของการคิด คือวิชาที่ทำให้เราได้ค้นพบหรือทำสิ่งใหม่ๆ การท่องสิ่งเดิมๆ ที่เขาเคยทำกันมานั้นไม่ได้ช่วยให้เราเป็นวิทยาศาสตร์จริงๆ วิทยาศาสตร์ไม่ใช่การท่องจำ เขาต้องการกระบวนการคิดของเรา”
“สิ่งหนึ่งที่ผมได้จากโรงเรียนมากๆ คือ ทักษะการแสวงหาความรู้ ในมหาวิทยาลัย อาจารย์เขาไม่ได้สอนทั้งหมด เขาสอนแค่บางส่วน แล้วเขาก็ไม่ได้มาสนใจตามว่าเราจะส่งการบ้านไหม เราต้องดูแลตัวเอง ต้องหาความรู้เพิ่มเติมเอง เขาสอนแค่นี้ แต่ข้อสอบมันออกมากกว่านั้น เราก็ต้องไปดูว่าเราจะหาความรู้อะไร จากไหน หนังสือเล่มไหนดี ไม่ดี คือทักษะพวกนี้โรงเรียนไม่ได้สอนผมตรงๆ แต่เราถูกหลอมให้ทำมาตั้งแต่เด็กๆ ทำจนมันติดเป็นนิสัย อย่างบางวิชา บางคนอาจคิดว่าสอบแค่นี้ก็เอาแค่นี้ แต่ผมจะสนใจมากกว่านั้น ก็ไปศึกษาเพิ่มเติม ใจที่จะแสวงหาความรู้เพิ่มเติมมันติดตัวเราไป”
“ทักษะหนึ่งที่รุ่งอรุณสอนและเราก็ทำมาตลอดตอนอยู่ที่โรงเรียน เป็นทักษะที่ฟังดูเหมือนง่าย คือ การกล้าที่จะถาม ผมจะชอบถาม ชอบสงสัยในสิ่งที่ครูสอนว่าจริงหรือ ตรงนี้ไม่รู้เรื่อง สอนใหม่ได้ไหม ที่มหาวิทยาลัยห้องหนึ่งมี 40 คน ตอนนั้นเรียนวิชาภาษาอังกฤษ อาจารย์ก็เฉลยมาไม่ตรงกับที่ผมตอบ แต่ผมมั่นใจว่าผมตอบถูก ผมก็ยกมือแล้วถามว่าอาจารย์มั่นใจหรือครับว่าเฉลยถูกแล้ว ผมเถียงกับอาจารย์อยู่นานมาก สุดท้ายผมอาจจะผิด แต่ผมก็ได้คำตอบที่สงสัยว่ามันเป็นแบบนี้เพราะอะไร แต่หลายคนสงสัยแล้วก็กระซิบๆ กัน ไม่กล้าถาม ถามกันเองบ้าง พอผมถามก็เป็นที่แตกตื่นของเพื่อนในห้องมาก บางทีอาจารย์สอนไม่เข้าใจ ก็กระซิบกระซาบกัน ผมก็ยกมือว่าอาจารย์ครับตรงนี้ไม่เข้าใจ ช่วยสอนใหม่ได้ไหมครับ อาจารย์เขาก็ยินดีที่จะสอนใหม่ ผมว่าทักษะการกล้าถาม เราต้องทนแรงเสียดทาน บางคนอาจมองว่าอยากเท่หรือเปล่า แต่อยู่ในรุ่งอรุณ ทุกคนยกมือถามเป็นปกติ”