นักเรียนรุ่งอรุณนำเสนอผลงานในเทศกาลความเป็นธรรม
เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๖ ครูเปรมปรีติ หาญทนงค์ (ครูปุ๊) และนักเรียนชั้น ม.๖ ห้องศิลป์ โรงเรียนรุ่งอรุณ ไปร่วมงานเทศกาลความเป็นธรรม (Just & Fair Society Festival) ณ อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำเสนอโครงงานเรื่อง “เหมืองทองคำและชุมชน ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย” ซึ่งเป็นโครงงานในหน่วยวิชาสังคมศึกษาของเด็กๆ ในภาคเรียนสุดท้ายของปีการศึกษา ๒๕๕๕ และเป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมในสังคมได้อย่างชัดเจน
ในช่วงเช้า นายศุภณัฏฐ์ ฐานุพลพัฒน์ (นาย) เป็นตัวแทนเพื่อนๆ ชั้น ม.๖ ขึ้นพูดบนเวที “สามัญชน คนเปลี่ยนโลก (Citizen Talk) ในหัวข้อ “คนรุ่นใหม่กับการสื่อสารเรื่องไม่เป็นธรรม” ร่วมกับสามัญชนคนเปลี่ยนโลกอีก ๔ ท่าน คือ คุณโจน จันได เกษตรกรผู้ผู้ทำเกษตรอินทรีย์และทำการวิจัยเพื่อสร้างเมล็ดพันธุ์พืชด้วยตัวเอง พ่อเล็ก กุดวงค์แก้ว ปราชญ์อีสานผู้พลิกฟื้นผืนดินและพึ่งพาตนด้วยวิถีเกษตรกรรม เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว ประจำปี ๒๕๔๓ คุณสุภาพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และคุณจีรนุช เปรมชัยพร บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท ส่วนช่วงบ่ายเป็นการสนทนาบอกเล่าเบื้องหน้าเบื้องหลังการทำโครงงาน “เหมืองแร่ทองคำ : ทำรายได้หรือทำร้ายกัน” ในเวทีสนทนาสาธารณะ โดยมีนาย ทูว์ น้ำปาย ไข่มุก แอนดี้ โหยว และวิน เป็นตัวแทนนักเรียนชั้น ม.๖ ห้องศิลป์ ร่วมสนทนาและตอบคำถามบนเวที
“เราเรียนเพื่อเดินออกไปจากตัวเอง การเรียนทำให้เรารู้ทุกอย่าง
แต่ไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตให้ง่ายได้อย่างไร จะทำกินอย่างไร
เราทุ่มเททำงานหนัก แต่สิ่งที่เราทำนั้นกลับทำลายทุกอย่าง
ทำลายดิน น้ำ อากาศ ทรัพยากร ป่าไม้ เราไม่เคยสร้างสรรค์อะไรเลย
๕๐ ปีที่แล้วเรามีข้าวถึง ๒๐,๐๐๐ สายพันธุ์ ด้วยความขยันของเรา
ทุกวันนี้เรามีข้าวเหลือ ๒๐๐ สายพันธุ์ แล้วเราก็กินข้าวเพียง ๒ สายพันธุ์
ผมเป็นชาวบ้านธรรมดาที่พยายามหาความง่าย ความปกติ ให้ชีวิตตัวเอง
การได้กลับมาสู่การพึ่งตนเอง ทำให้เราพบอิสรภาพ ความง่ายคืออิสรภาพที่แท้จริง”
คุณโจน จันได
“ที่ผ่านมาเราไม่ได้เรียนรู้เรื่องตัวเอง เรียนรู้แต่เรื่องของผู้อื่น
เราเลยขาดความเชื่อมั่นจนพึ่งตัวเองไม่ได้ ดังนั้นเราจะอยู่ได้อย่างมีความสุข
๑.เราต้องเรียนรู้เรื่องตัวเองว่าเราเป็นใครมาจากไหน ทำอะไรอยู่ แล้วจะไปทางไหน
๒.เรียนรู้เรื่องคนอื่นเพื่อเท่าทันเขา และ ๓.รู้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลง
รู้ว่าเราจะอยู่ตรงไหนในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป”
พ่อเล็ก กุดวงค์แก้ว
![]() ไซยาไนด์เป็นสารตัวหนึ่งในการสกัดทองคำ ผมขออธิบายภาพการสกัดทองคำง่ายๆ นะครับ ภูเขาเป็นลูกๆ ระเบิดเอาหินที่มีทองคำออกมา แล้วใช้ไซยาไนด์เป็นตัวสกัดทองคำ ใช้คาร์บอนดูดทองออกไป จากนั้นสารพิษเหล่านี้จะไหลลงสู่บ่อเก็บ ถ้าหากบ่อกักเก็บนี้ไม่ได้มาตรฐานและไม่มีการจัดการที่ดีพอ สารพิษเหล่านี้ก็จะรั่วซึมไปที่ตาน้ำ ไปที่น้ำผุดหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าน้ำซับ แหล่งน้ำสำคัญของชาวบ้าน ปัจจุบันมีการไปตรวจพบว่าตาน้ำมีความเป็นกรด สาธารณะสุขก็ประกาศชัดเจนว่าห้ามใช้น้ำ ห้ามจับหอยจับปลาในบริเวณลำน้ำทั้ง ๖ หมู่บ้าน แล้วชาวบ้านต้องทำอย่างไรครับ เมื่อก่อนเขาเคยกินน้ำตรงนี้ เคยจับหอย จับปลามากิน ปัจจุบันมันใช้ไม่ได้แล้ว ถามว่าเหมืองมีความเกี่ยวข้องหรือไม่กับเรื่องนี้ ผมก็ไม่สามารถฟันธงหรือตอบได้ แต่อยากฝากให้หน่วยงานทุกหน่วยงาน ทั้งผู้ประกอบการและหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบดูแลอย่างจริงจัง มีความโปร่งใส และมีความเป็นธรรมให้กับชาวบ้าน ผมได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากโครงงานนี้ ในฐานะนักเรียน ในฐานะผู้กำกับวิดีโอครั้งนี้ ผมหวังว่าทุกคนจะลองคิดดูว่าเป็นธรรมแล้วหรือที่จะมีคนกลุ่มหนึ่งมีความสุขบนความทุกข์ของคนอีกกลุ่มหนึ่ง มันเป็นธรรมแล้วหรือที่มีคนกลุ่มหนึ่งร่ำรวยบนความซวยของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ผมใช้คำว่าความซวย เพราะที่จริงชาวบ้านเหล่านี้เขามีสวนยาง มีนา ทำกินพึ่งพาตัวเองได้ แต่ปัจจุบันเขาไม่สามารถทำอย่างนั้นได้อีกแล้วนับแต่เหมืองทองเข้ามา เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงงานที่พวกเราทำจะช่วยให้ชาวบ้าน หรือคนในห้องประชุมนี้ตื่นตัว ตระหนัก และลุกขึ้นมาช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน และผมก็แอบหวังว่าการกำกับวิดีโอเล็กๆ นี้จะเป็นก้าวเล็กๆ ที่นำไปสู่การเป็นสามัญชนคนเปลี่ยนโลกได้ไม่มากก็น้อย” นายศุภณัฏฐ์ ฐานุพลพัฒน์ (นาย) |
“ก่อนลงพื้นที่เราคิดว่าชาวบ้านน่าจะมีชีวิตความเป็นอยู่ลำบากกว่านี้ แต่พอเราลงไป ปรากฏว่าเขามีความเป็นอยู่ดีกว่าที่เราคิด มีไฟฟ้าใช้ มีสิ่งอำนวยความสะดวก แต่พอเหมืองเข้ามา มันทำให้ชีวิตของเขาไม่เหมือนเดิม มันน่าสงสัยเพราะชาวบ้านเขาไม่เคยรู้เลยว่าเรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับเขา แล้วทำไมชาวบ้านไม่ได้ข้อมูลว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่เขาเป็นผู้มีส่วนได้เสียมากที่สุด วันหนึ่งถ้าหมดสัมปทาน เหมืองปิด ทุกคนจากไป แต่ชาวบ้านคือคนที่ต้องอยู่ตรงนั้นไปอีกชั่วลูกชั่วหลาน แล้วต้องคอยรับผลกระทบต่อไปไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยปี” นางสาวน้ำปาย ไชยฤทธิ์ (น้ำปาย)
“ลองนึกดูว่าถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านเหล่านี้เกิดขึ้นกับคนใกล้ชิดของเรา เราจะยอมรับได้ไหม” นางสาวนพพรรณ พรวนเกิด (ไข่มุก)
“เราอยู่กรุงเทพฯ เป็นเมืองของผู้บริโภค แต่ก่อนเราก็บริโภคและใช้จ่ายไปในวิถีทุนนิยม วัตถุนิยม โดยไม่รู้ว่าการบริโภคของเรามันส่งผลกระทบกับใครบ้าง แต่หลังจากนี้ผมรู้สึกว่าเราต้องคิดมากขึ้นในการจะใช้จ่าย บริโภค จะเดินแต่ละก้าว หรือจะทำอะไรก็ตาม คิดว่ามันจะส่งผลกระทบกับใครอย่างไรบ้างไหม เราต้องไม่มีความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น” นายภวินท์ สิงหละชาติ (วิน)
“ผมได้เรียนรู้ว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมมันเกี่ยวข้องกับตัวเรา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” นายสิราษฎร์ อินทรโชติ (ทูว์)
“ก่อนหน้านี้ยอมรับว่าเวลารู้ปัญหาในสังคม เราก็จะคิดว่า “แล้วยังงัย ไม่เกี่ยวอะไรด้วยนี่” แต่พอเราได้ลงไปรู้ไปเห็นปัญหาจริงๆ รู้สึกเลยว่ามันน่ากลัวมากหากเราทุกคนรู้สึกชินและเมินเฉยกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะมันคือการทิ้งเพื่อนร่วมชาติของเรา ทำให้เราได้ฉุกคิดว่า จะทำอะไรก็ตาม เราต้องคิดถึงคนอื่นให้มากกว่าเดิม คิดว่าเราจะทำให้ใครเดือดร้อนหรือเปล่า” นางสาววรันธร ฌานจิตกุศล (โหยว)
“กรุงเทพฯ ไม่ได้ผลิตอะไรเลย เราเป็นเมืองบริโภค ชาวบ้านเขาเป็นผู้ผลิต ปกป้องทรัพยากรให้เรา แล้วเราได้ช่วยเหลือเขาบ้างหรือเปล่า อยากให้ทุกคนได้คิดดูว่าคุณค่าจริงๆ คืออะไร คงไม่ใช่สิ่งที่เรามองว่าสวยแล้วตั้งราคามันขึ้นมา แต่มันเบียดเบียนคนอื่น มันก็อาจด้อยค่า ถ้าเราใส่ใจ เราจะรู้ว่าคุณค่าที่แท้จริงคืออะไร” นายศิรธันย์ กิตติ์ธนานิธิกุล (แอนดี้)
“เวลาเรามองภาพของประเทศหรือโลกทั้งโลก อย่ามองแค่ตัวเลขอย่างจีดีพี หรือมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพราะมันไม่ได้บอกว่าจริงๆ แล้วความสุขและความเป็นอยู่ของคนในประเทศหรือในโลกใบนี้เป็นอย่างไร ถึงตอนนี้เราก็ตอบฟันธงไปไม่ได้นะครับว่าสุดท้ายแล้วเหมืองทองคำ ทำรายได้หรือทำร้ายกัน เพราะปัญหาทั้งหมดทั้งมวลของชาวบ้านมันเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการมาของเหมือง บวกกับข้อมูลต่างๆ เราก็สันนิษฐานว่ามันน่าจะเกี่ยวข้องกัน แต่มันยังไม่ได้มีการพิสูจน์แน่ชัด ก็ยังเป็นคำถามที่ต้องค้นหาความจริงกันต่อไปครับ” นายภวินท์ สิงหละชาติ (วิน)
+ + + หนังสั้น และ Infographic ในโครงงาน “เหมืองทองคำ ทำรายได้หรือทำร้ายกัน” โดยนักเรียนชั้น ม.๖
+ + + บทความเรื่อง “ความจริงจากเหมืองทอง” ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ