ศิลปะ ‘ดลใจ’ ให้สร้างสรรค์และสร้างจิตที่เป็นกุศล
“ทำไมชุมชนบ้านช่างต้องจัดงานนิทรรศการศิลปะปีละ ๒ ครั้ง (ดลใจ ตอนต้นปีการศึกษา และ ผลิดอก ตอนปลายปีการศึกษา) นี่คือนโยบายพาประเทศไปสู่สมัยใหม่ที่ไม่ไร้สาระ มนุษย์ต้องถูกอบรมด้วยศิลปะ นิสัยใจคอจึงจะอ่อนนุ่มและอยู่ร่วมกันได้ดี แต่ทุกวันนี้เราถอนศิลปะออกจากนิสัย สถาบันอาศรมศิลป์และโรงเรียนรุ่งอรุณจึงพยายามคงเรื่องนี้ไว้ เพื่ออบรมบ่มนิสัยคนในชุมชนให้น้อมนำไปสู่ศิลปะ ที่จะช่วยสร้างจินตนาการ สร้างวิธีคิด และสร้างความคิด โดยไม่จำเป็นว่าต้องไปเป็นศิลปิน ศิลปะนั้นสร้างทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักคิด หรือหมอที่เชี่ยวชาญ” อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง หัวหน้าชุมชนบ้านช่าง
เปิดงานกันไปแล้วพร้อมสายฝนเย็นฉ่ำในเย็นย่ำวันศุกร์ที่ ๓๑ พฤษภาคมที่ผ่านมา กับนิทรรศการศิลปะ ‘ดลใจ ครั้งที่ ๑๔’ ที่ปีนี้มาในแนวคิด ‘งามง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้’ โดยจัดแสดงผลงานศิลปะแขนงต่างๆ ของครูและศิลปินที่เป็นเพื่อนครู เพื่อ ‘ดลใจ’ ให้นักเรียนเกิดแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง เช่น งานจิตรกรรมชุด ‘ธรรมะ ธรรมชาติ’ โดยอาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง หัวหน้าชุมชนบ้านช่าง โรงเรียนรุ่งอรุณ ที่เขียนขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและอาจาริยบูชาแด่ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) งานกลโคลงชุด ‘นิราศวัดสนามใน’ โดย ‘อัปสรา’ อาจารย์อัจฉรา สมบูรณ์ งานจิตรกรรมชุด ‘เครื่องอัฐบริขาร’ โดยอาจารย์อนุวัฒน์ ลัดดาวัลย์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเมื่อครั้งบรรพชาที่วัดป่าบ้านตาด สื่อถึงความเรียบง่าย สงบ และสันโดษ งาน Textile ชุด ‘Mother Nature Song’ โดยคุณพิธาลัย ผู้พัฒน์ งานภาพวาด โดยพ่อโต้ง-ไตรรงค์ ประสิทธิผล งานประติมากรรมชุด ‘พัก’ โดยครูโต้ งาน Textile ชุด ‘ผ้าขาวม้าตาคู่-ตาคี่’ และ งานเซรามิก ชุด ‘แก้ว’ โดยครูอ้อม งานภาพวาดชุด ‘ป่าสร้างชุมชน ชุมชนสร้างป่า’ โดยครูตอง งานจิตรกรรมโดยครูเชาว์ งานถักทอชื่อ ‘Lizard Blanket’ โดยครูปิ่น-ปิ่นปิลันธน์ วังซ้าย งานจิตรกรรมชุด ‘เรียนรู้จากครูบทที่ ๑’ โดย จป.ขวัญ-คุณสันทวุทธ์ เซ่งเส้ง ลูกศิษย์อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง ฯลฯ โดยงานจะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๖ ณ เรือนศิลปะ โรงเรียนรุ่งอรุณ…แวะมาชื่นชมกันได้ เผื่อจะเกิดแรงดลใจให้รังสรรค์ผลงานของตัวเองขึ้นมาบ้าง แล้วอย่าลืมนำมาร่วมจัดแสดงเพื่อ ‘ดลใจ’ คนอื่นต่อไปค่ะ
“การจัดงานครั้งนี้เป็นความพยายามอย่างยิ่งที่จะให้ลมหายใจของเราทุกคนเจือไปด้วยศิลปะ ชีวิตเราจะขาดศิลปะไม่ได้ ไม่อย่างนั้นชีวิตจะหายไปครึ่งหนึ่ง ศิลปะ ดนตรี ทัศนศิลป์ ศิลปหัตถกรรม นั้นสื่อตรงไปที่ใจ ไม่ต้องผ่านภาษาพูด เมื่อกระทบใจแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือจิตที่เป็นกุศล ศิลปะไปช่วยเสริมจิตที่เป็นกุศล แล้วจิตที่เป็นกุศลนั้นฝึกง่าย รับเรื่องดีๆ ได้ง่าย ช่วยลดทอดความท้อแท้ เหนื่อย เบื่อหน่าย นี้คือสิ่งที่เราเห็นคุณค่าของศิลปะ เราจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะสอดแทรกให้ศิลปะให้อยู่ในวิถีชีวิตของชาวรุ่งอรุณและอาศรมศิลป์ แล้วเมื่อถึงงานผลิดอกที่ลูกศิษย์เรามีผลงานออกมาให้เห็น ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้ใหญ่อายนะ เพราะว่าเขาสด การแสดงออกทางสุนทรียะของเขาอาจไม่เท่าศิลปินผู้ใหญ่ แต่ความสดในการแสดงออกของเขานั้นชัด ครั้งนี้จะเห็นว่าฝีมือครูเราไม่เบาเลย ครูแต่ละคนมีฝีมือที่แอบซ่อนไว้ เราเอามาแสดงให้นักเรียนได้เห็นว่าฝีมือครูเป็นแบบนี้ เพื่อดลใจเขา ท้าทายให้เขาทำได้ดีกว่าครู” รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ
“เราพยายามเพิ่มพื้นที่การแสดงงาน เช่น ทำแกลลอรี่ไม้ไผ่ให้ได้สัมผัสศิลปะมาตั้งแต่หน้าโรงเรียน แล้วเราก็คิดกันกว้างไกลและใจใหญ่ คือจะไปยุให้โรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะโรงเรียนต่างจังหวัดที่มีพื้นที่กว้างขวาง อย่างน้อย ๕๐-๘๐ ไร่ สร้าง Outdoor gallery หรือ Open-air museum เอางานศิลปะใหญ่ๆ ไปตั้งไว้กลางแจ้ง แทนที่จะปล่อยที่ทิ้งร้างไว้ไม่ได้ใช้ทำอะไร ก็เพิ่มคุณค่าทางสุนทรียะเข้าไป เรามองว่าถ้าหากรุ่งอรุณทำเป็นตัวอย่างขึ้นมาแล้วไปเกิดผลกับคุณภาพของผู้เรียน คือจิตใจเขาอ่อนโยนและประณีตมากขึ้น เรียนได้ดีขึ้น มีจินตนาการ กล้าคิดกล้าทำ ถ้าสมัยนี้ต้องพูดว่า คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น แต่เริ่มต้นก็ต้องกล้าคิดก่อน แล้วสิ่งที่จะไปจุดประกายให้เขากล้าคิด คิดนอกกรอบ คิดไม่เหมือนคนอื่น แล้วยังมีความมั่นใจในตัวเอง นำเสนอได้ ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยนำบุคลิกหรืออุปนิสัยเหล่านี้เข้ามาอยู่ในจิตใจเด็ก” รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ