งานตุ้มโฮมศิลปวัฒนธรรมอีสาน
“งานพระไม้เป็นงานแกะสลักพระพุทธรูปไม้ของชาวบ้านอีสาน ที่อาจไม่ได้มีฝีมือทางช่าง แต่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงนำไม้ที่หาได้มาแกะเป็นพระพุทธรูป ผมอยากสร้างความแปลกใหม่ จึงเลือกปีกไม้มาแกะเป็นพระพุทธรูป มีครูบัวลอยช่วยแนะนำเรื่องรูปทรงและเทคนิค ตอนทำช่วงแรกๆ ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่พอทำไปได้ครึ่งทาง เริ่มเห็นพระพุทธรูปเป็นรูปเป็นร่างก็เริ่มรู้สึกว่าอยากให้งานออกมาดี เหมือนกับชาวบ้านอีสานที่เขาไม่ได้มีฝีมือมาก แต่เขาทำด้วยความศรัทธา เลยตั้งใจทำเต็มที่ พอทำเสร็จแล้วรู้สึกพอใจมากครับ” ด.ช.ภูมิภัทร อุษาประทุมบาน ชั้น ม.๓/๒
คลิปเพลงคนบ้านเดียวกัน
คลิปเพลงรักแท้เหนือกาลเวลา (เวอร์ชั่นอีสาน)
“งานนี้เป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ ที่มาดูได้เป็นอย่างดี แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้นักเรียนจะไม่ใช่คนอีสาน แต่ว่าเมื่อได้เรียนและทำอย่าลึกซึ้งจริงๆ ไปเรียนรู้และซึมซับจิตวิญญาณของคนไทยในอีกที่หนึ่งได้ขนาดนี้ ครูโมรู้สึกอบอุ่นมาก” คุณครูสุนิสา ชื่นเจริญสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ
“นักเรียนดูขะมักเขม้นเป็นผู้ใหญ่ ทุกคนอยู่กับการงาน ดีใจและชื่นใจที่เห็นนักเรียนทำงานได้ยิ่งใหญ่และมีความหมายดีๆ เช่นนี้” คุณครูอารีย์ จันทร์แย้ม ผู้ช่วยครูใหญ่ฝ่ายมัธยม โรงเรียนรุ่งอรุณ
“ชื่นชมแล้วก็ชื่นใจกับลูกๆ ม.๓ ทุกคน สิ่งที่เห็นตั้งแต่เขาทำโครงงานครั้งนี้คือ นักเรียน ม.๓ ทุกคนมีของหมด วันนี้เหมือนเป็นวันปล่อยของออกมา แล้วก็ทำได้ดีทุกฐาน แม้ว่างานอาจไม่ได้ดีเลิศ แต่ในกระบวนการทำงาน เราเห็นความตั้งใจ ความเป็นทีมเวิร์กและความสามัคคีของ ม.๓ ทั้งสามห้อง” คุณแม่อี๊ด-คุณแม่ของ ด.ช.ศุภวุฒิ ธีระวัฒนชัย ชั้น ม.๓/๒
“บรรยากาศงานเหมือนกับงานตุ้มโฮมที่บ้าน เราจะจัดกันหน้าแล้งหลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ก็จะทำบุญตามประเพณี บ้านใครมีของอะไรก็เอามาแบ่ง มาแจกจ่ายกัน ญาติพี่น้องที่อยู่ไกลก็จะกลับมารวมกัน เรียกว่ามาตุ้มมาโฮมกัน (มารวมกัน) ไม่เคยเห็นงานแบบนี้ในกรุงเทพฯ เลย เห็นแล้วก็คิดถึงบ้าน (ที่อีสาน)” ป้าจันทรา ผายทอง แม่บ้านโรงเรียนรุ่งอรุณ
“การทำงานครั้งนี้เรามีทะเลาะกันบ้าง แล้วพอใกล้วันงานก็มีปัญหาใหญ่ คือเพื่อนกลุ่มหนึ่งต้องไปแข่งบาสในวันงาน ทำให้เพื่อนส่วนหนึ่งถูกดึงออกไป คนสำคัญคือประธานจัดงานของเราก็ไปแข่งบาสด้วย แต่เราก็ช่วยเหลือกันครับ” ด.ช.วรรณ ธรรมร่มดี ชั้น ม.๓/๑