P7130035
บันทึกรุ่งอรุณ,  ภาคสนาม,  โรงเรียนมัธยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

นักเรียนชั้น ม.๓ ศึกษาระบบนิเวศป่าไม้ภูเขียว จ.ชัยภูมิ

ไทร…ต้นไม้ใหญ่ในผืนป่า คือแหล่งอาหารอันอุดมของเหล่านกกาและสัตว์กินพืชนานาชนิด
ลิง…ขย่มกิ่งกินผลไทร ลูกไทรตกใต้ต้นกลายเป็นอาหารของเก้ง กวาง กระจง หมูป่า
ผลที่เหลือรอด…งอกเป็นต้นใหม่พร้อมเติบโตต่อไป
นกปรอด นกเขาเป้า นกเงือก…กินลูกไทร แล้วบินจากไป ถ่ายเมล็ดออกมางอกบนต้นไม้ใหญ่ในป่า
เมล็ดไทรบนต้นไม้ใหญ่ค่อยๆ เติบโต ทิ้งราก เกาะเกี่ยว จนกระทั่งไม้ใหญ่ต้นเดิมแห้งตายไป
โพรงตามต้นไทร…คืออนุสรณ์ของไม้ต้นเดิมที่กลายเป็นบ้านอันอบอุ่นของบ่าง
ยังประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ แต่โหดร้ายกับไม้อื่น ไทรจึงได้รับฉายาว่า…นักบุญแห่งป่า นักฆ่าแห่งพงไพร

        ความสัมพันธ์ระหว่างไทรกับสิ่งมีชีวิตในผืนป่า คือตัวอย่างหนึ่งที่บอกเล่าระบบนิเวศแห่งพงไพร ให้นักเรียนชั้น ม.๓ โรงเรียนรุ่งอรุณ ที่ออกภาคสนามไปเรียนรู้ในป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ ได้เห็นถึงความสัมพันธ์ของพืชและสรรพสัตว์ในผืนป่าที่ต่างอาศัยพึ่งพากันอย่างเกื้อกูล

        P7140130วันที่ ๑๓-๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา นักเรียนชั้น ม.๓ ทั้งสามห้อง ออกภาคสนามวิชาวิทยาศาสตร์เพื่อเรียนรู้ความสัมพันธ์ในระบบนิเวศป่าไม้ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายของภูมิประเทศ อุดมด้วยพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์นานาชนิดที่อาศัยอยู่ในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดงดิบ และทุ่งหญ้าสะวันนาอันกว้างใหญ่
        นอกจากฐานเรียนรู้เกี่ยวกับนักบุญแห่งป่า นักฆ่าแห่งพงไพรแล้ว นักเรียนยังได้ออกไปสังเกตระบบนิเวศของทุ่งหญ้า ณ ทุ่งกะมัง ทุ่งหญ้ากว้างใหญ่บนภูเขียว ที่มองเห็นบรรดาเก้ง กวาง กระจง และเนื้อทราย ออกมาเดินเล่นแทะเล็มหญ้าอยู่ตามจุดต่างๆ ทั่วทุ่งหญ้า เพราะทุ่งกะมังคือแหล่งอาหารอันอุดมของสัตว์กินพืชบนภูเขียว โดยมีคุณวิชัย นาพัว ประธานกลุ่มเด็กรักนก อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ผู้มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญเรื่องพันธุ์พืชและสัตว์ป่า มาเป็นวิทยากรพานักเรียนสังเกตและเรียนรู้
 
        ฐานการเรียนรู้เรื่องความหลากหลายของพันธุ์พืชในป่าเต็งรัง การส่องกล้องดูนกเพื่อฝึกการสังเกตลักษณะและพฤติกรรมของนกแต่ละชนิด แล้วฝึกบันทึกข้อมูลนกอย่างง่ายที่จะกลายเป็นชุดข้อมูลความรู้ที่นักเรียนสร้างเอง ซึ่งเป็นข้อมูลที่นักเรียนจะนำไปอ้างอิงหรือนำเสนอได้อย่างมั่นใจ (มากกว่าชุดข้อมูลความรู้ที่ได้จากการอ่านหรือฟังคนอื่นมา) ปิดท้ายด้วยการเดินป่าสำรวจความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์ของป่าภูเขียว โดยมีเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เป็นวิทยากรนำทางและอธิบายให้ความรู้ตลอดการเดินป่า

        กิจกรรมพิเศษที่สร้างความประทับใจให้กับนักเรียนไม่น้อย คือการได้ชมภาพถ่ายสัตว์ป่าและธรรมชาติ ผลงานของคุณประสิทธิ์ คำอุด เจ้าหน้าฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่ แห่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ผู้เป็นช่างภาพสัตว์ป่าที่มีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารต่างๆ อาทิ สารคดี  อสท และ National Geographic ซึ่งไม่เพียงนำภาพถ่ายสรรพชีวิตแห่งป่าที่หาดูยากมาให้ชมกันแล้ว ยังใจดีเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่ทำให้นักเรียนได้รู้และเข้าใจวิถีชีวิตของสัตว์ป่ามากขึ้น เช่น วิธีการล่าเหยื่อของหมาใน การต่อสู้ระหว่างฝูงหมาในกับกระทิง พฤติกรรมของนกหลากหลายชนิด ทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนที่ชื่นชอบการถ่ายภาพด้วย

        ค่ำคืนสุดท้ายก่อนเดินทางกลับในวันรุ่งขึ้น นักเรียนแต่ละห้องร่วมกันสรุปการเรียนรู้แล้วนำเสนอสิ่งที่ได้เรียนรู้เพื่อแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ คุณครู และเจ้าหน้าที่ ความสัมพันธ์ของสรรพชีวิตในผืนป่าที่นักเรียนได้มาเห็นและสัมผัสด้วยตัวเอง ช่วยให้พวกเขาเข้าใจกฎแห่งธรรมชาติ ที่สรรพสิ่งล้วนต้องพึ่งพาอาศัยกัน พฤติกรรมหรือการก่อเกิดต่างๆ ล้วนมีเหตุและผล สิ่งหนึ่งอาจเป็นผู้ให้ประโยชน์กับสิ่งหนึ่ง แต่เป็นผู้ทำลายอีกสิ่งหนึ่ง ดังเช่นกรณีของไทร ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาความสมดุลของผืนป่าให้คงอยู่ต่อไป

การออกภาคสนามไปเรียนรู้ในผืนป่าธรรมชาติในครั้งนี้ ไม่เพียงให้ข้อมูลความรู้เรื่องระบบนิเวศป่าในวิชาวิทยาศาสตร์ แต่ยังพานักเรียนออกไปสัมผัสความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ตระหนักถึงความสำคัญของผืนป่าที่เชื่อมโยงมาถึงตนเอง และเรียนรู้การอยู่ร่วมกับป่าอย่างถูกต้อง โดยไม่เผลอทำลายความสมดุลตามธรรมชาติ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.