P7170439
บันทึกรุ่งอรุณ,  ภาคสนาม,  โรงเรียนมัธยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

ภาคสนามชั้น ม.๓/๑ ที่บ้านท่าสว่าง จ.สุรินทร์

ภาษา ผ้าไหม เกษตรอินทรีย์
การเรียนรู้วัฒนธรรมอีสานที่บ้านท่าสว่าง จ.สุรินทร์


“การมีเมล็ดพันธุ์ที่ดีอยู่ในจิตใจ คือมีพระคุณอยู่ในจิตใจ
พระคุณต่อบิดา ต่อมารดา ต่อพระแม่ธรณี แม่น้ำ อากาศ
ทำเกษตรอินทรีย์เพราะนึกถึงพระคุณของพระแม่ธรณี
พระเป็นหนี้ชาวบ้าน บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ
ชาวบ้านยังยากจน อดมื้อกินมื้อ ยังเจียดเงินมาทำบุญ เจียดอาหารมาใส่บาตร
เลยคิดงานพัฒนาขึ้นมา เพราะรู้สึกเป็นหนี้ชาวบ้าน” 

P7191056บางส่วนบางตอนของพระธรรมเทศนาของหลวงปู่นาน แห่งวัดสามัคคี ต.ท่าสว่าง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ที่กล่าวกับนักเรียนชั้น ม.๓/๑ โรงเรียนรุ่งอรุณ ระหว่างออกภาคสนามไปเรียนรู้วัฒนธรรมอีสาน  ฝึกความอดทน กินง่าย อยู่ง่าย เห็นคุณค่าของแผ่นดินที่เป็นแหล่งอาหาร และรู้คุณค่าของชุมชนในฐานะรากฐานและทุนของสังคมไทย ณ บ้านท่าสว่าง ระหว่างวันที่ ๑๔-๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๖

หลวงปู่นาน หรือพระครูพิพิธประชานาถ เป็นพระสอนวิปัสสนากรรมฐานผู้นำพระธรรมคำสอนของพุทธองค์มาช่วยเหลือชาวบ้านให้พ้นจากความยากจนและอดอยาก ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์ สหกรณ์หมู่บ้าน ธนาคารข้าว และโรงสีชุมชน ที่ยังคงหล่อเลี้ยงชุมชนบ้านท่าสว่าง และชาวบ้านอีกหลายพื้นที่ในภาคอีสาน นับแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๐ จนถึงปัจจุบัน

กินง่าย อยู่ง่าย ในวิถีชีวิตที่แตกต่าง

การออกภาคสนามในครั้งนี้ นักเรียนพักอาศัยอยู่ที่วัดสามัคคี วัดประจำตำบลท่าสว่างที่มีหลวงปู่นานเป็นเจ้าอาวาสและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในชุมชน เช้าตรู่ในแต่ละวันหลังล้างหน้าแปรงฟัน นักเรียนจะแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมสะสมบุญ นักเรียนชายเป็นลูกศิษย์พระเดินตามไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน นักเรียนกลุ่มทำอาหารเข้าครัวหุงหาอาหารสำหรับเพื่อนและครู ส่วนนักเรียนที่เหลือช่วยกันทำความสะอาดที่พัก ห้องน้ำ และลานวัด ตอบแทนคุณพระสงฆ์ที่เมตตาให้ที่อยู่ที่กิน หลังมื้อเช้านักเรียนจะออกไปทำกิจกรรมการเรียนรู้ในหมู่บ้าน เช่น ทำปุ๋ยอินทรีย์ ทำนา ศึกษาการทำผ้าไหม ทำแผนที่คนดี ฯลฯ ขณะที่กลุ่มทำอาหารจะออกไปจ่ายตลาดในตัวเมืองเพื่อนำกลับมาทำอาหารในมื้อต่อๆ ไป

บ้านท่าสว่างมีโฮมสเตย์อยู่หลายแห่ง แต่ครูเลือกให้นักเรียนพักอาศัยที่วัดเพื่อฝึกการใช้ชีวิตที่กลมกลืนกับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดที่พักอาศัย การออกไปจ่ายตลาดและทำอาหารเอง บางครั้งวัตถุดิบที่คิดไว้ไม่มีขาย นักเรียนก็พร้อมเปลี่ยนรายการอาหารใหม่ตามแต่จะหาซื้อได้ ทำให้นักเรียนเป็นคนที่กินง่าย อยู่ง่าย สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตที่แตกต่าง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุขได้ ซึ่งเป็นทักษะชีวิตที่ไม่อาจหาได้จากตำรับตำราเล่มใด แต่จะก่อเกิดจากประสบการณ์จริงที่นักเรียนลงมือทำด้วยตัวเอง

ภาษา…บอกเล่าความเป็นมา

P7160299ตลอดระยะเวลาหลายวันที่กินนอนอยู่ที่วัดสามัคคี และพูดคุยกับชาวบ้านในจังหวัดสุรินทร์ ทั้งกับพ่อค้าแม่ค้าเวลาไปจ่ายตลาดมาทำอาหารในแต่ละวัน กับคุณลุง คุณน้า คุณป้า คุณยาย ที่เลี้ยงไหม ย้อมไหม กรอไหม ทอผ้าไหม ทำนา ทำปุ๋ยอินทรีย์ สีข้าว และขายของตามร้านค้าชุมชน ทำให้นักเรียนได้รู้ว่า ชาวสุรินทร์ไม่ได้พูดภาษาอีสานแบบที่พวกเขาเคยได้ยินได้ฟังจากละครหรือภาพยนตร์ แต่เป็นภาษาเขมร

คุณป้าที่ขายเนื้อหมูในตลาดเล่าให้นักเรียนฟังว่า ที่คนสุรินทร์พูดภาษาเขมร เพราะมีบรรพบุรุษเป็นชาวเขมร แต่การผสมผสานทางวัฒนธรรมผ่านกาลเวลา ทำให้ภาษาเขมรที่ชาวสุรินทร์พูดในทุกวันนี้ต่างจากในอดีต ทั้งสำเนียงการพูดและการใช้คำทับศัพท์ภาษาไทยในบางคำ

นักเรียนได้เรียนรู้ว่า ภาษาอีสานมีความหลากหลายกว่าที่คิด และภาษาที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่คือสิ่งหนึ่งที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของคนในพื้นที่นั้นได้เป็นอย่างดี

ผ้าไหม…ลมหายใจของชาวอีสาน

บ้านท่าสว่างเป็นชุมชนที่ผลิตผ้าไหมคุณภาพดีที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับโลก นักเรียนมีโอกาสได้เรียนรู้กระบวนการผลิตผ้าไหมในทุกขั้นตอน จากชาวบ้านผู้รู้จริงและทำจริงจนเชี่ยวชาญ แล้วร่วมกันสรุปการเรียนรู้ว่า

“ผ้าไหมคือภูมิปัญญาที่ถูกสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยจิตวิญญาณของชาวอีสาน ซึ่งสะท้อนอุปนิสัยความเป็นคนขยันขันแข็ง อดทน และความพยายามที่เต็มไปด้วยความเอาใจใส่ของคนอีสาน

เกษตรอินทรีย์…วิถีที่เกื้อกูลธรรมชาติ เกื้อกูลคน
P7170424P7170439
เมล็ดพันธุ์เกษตรอินทรีย์ที่เริ่มด้วยความสำนึกในพระคุณผืนแผ่นดินของหลวงปู่นานเมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน ค่อยๆ หยั่งราก ผลิใบ และเติบใหญ่จนกลายเป็นวิถีการทำเกษตรกรรมของชาวชุมชนท่าสว่างจนถึงทุกวันนี้ ชาวบ้านต่างภูมิใจว่าข้าวหอมมะลิของที่นี่ปลอดภัย ไร้สารพิษ และกินอร่อยไม่แพ้ใคร การันตีได้จากข้าวของที่นี่แทบไม่มีวางขายในเมืองไทย เพราะเหลือจากเก็บไว้กินเองและเป็นเมล็ดพันธุ์ในปีต่อไปแล้ว ข้าวทั้งหมดถูกส่งออกไปยังห้าประเทศในยุโรปที่ทำสัญญาสั่งซื้อไว้ล่วงหน้า

นักเรียนได้เรียนรู้การทำปุ๋ยอินทรีย์ และช่วยชาวนาทำนา ตั้งแต่การไถคราด ถอนกล้า และดำนา หลังจบกิจกรรมนักเรียนได้ร่วมกันวิเคราะห์และสังเคราะห์สิ่งที่ได้เรียนรู้ไว้ดังนี้

ชาวนาที่ทำปุ๋ยอินทรีย์มีการทำงานอย่างเป็นลำดับขั้นตอน มีความสามัคคี ทำงานเป็นทีม และมีความอดทนต่อกลิ่นที่ทั้งแสบตา แสบจมูก และแสบคอ…ปุ๋ยอินทรีย์เกิดจากความเป็นคนช่างสังเกตธรรมชาติรอบตัวของหลวงปู่นาน และเป็นสิ่งที่เรียกความอุดมสมบูรณ์มาสู่แผ่นดินอีสาน

ชาวนาต้องใจเย็น ขยัน อดทนต่อความเมื่อยล้า การไถคราด (ด้วยเครื่องยนต์) แสดงถึงความทันสมัยของเทคโนโลยีที่ช่วยลดระยะเวลาในการทำนา ส่วนการถอนต้นกล้าและดำนาด้วยมือ สะท้อนถึงความเอาใจใส่ในทุกขั้นตอนของชาวนา และความภาคภูมิใจที่ได้ผลิตกับมือ

P7170506P7180924

ความเข้มแข็งของชุมชนตามแนวทางของหลวงปู่นาน

“คิดงานพัฒนาขึ้นมา เพราะรู้สึกเป็นหนี้ชาวบ้าน” คำกล่าวนี้ของหลวงปู่นานก่อเกิดเป็นสหกรณ์ชุมชน ที่ขายของในราคาย่อมเยา ปันผลให้กับสมาชิกตอนปลายปี และทำให้เงินหมุนเวียนอยู่ในชุมชน โรงสีข้าวและธนาคารข้าว ที่ทำให้ชุมชนสามารถผลิตข้าวได้ครบวงจร ไม่ต้องพึ่งพาโรงสีภายนอก และยังมีข้าวสำรองยามหน้าแล้ง กล่าวได้ว่า สหกรณ์ โรงสี และธนาคารข้าว คือปัญญาและความเมตตาของหลวงปู่นานที่สร้างรายได้และนำความเข้มแข็งมาสู่ชุมชนท่าสว่าง

จากการวิเคราะห์ของนักเรียนได้ข้อสรุปว่า “สหกรณ์ โรงสี และธนาคารข้าว สะท้อนให้เห็นว่า ผู้นำต้องรู้ปัญหาและรู้วิธีการบริหารเงิน ชาวบ้านต้องเข้าใจและร่วมมือพัฒนา เชื่อใจซึ่งกันและกัน ซึ่งสิ่งที่เชื่อมความสัมพันธ์ของชาวบ้านและผู้นำ คือ มีปัญหาเกิดขึ้นร่วมกัน มีผู้นำชี้ทางแก้ปัญหาให้กับคนในชุมชน คนในชุมชนร่วมมือกันปฏิบัติ และการร่วมมือกันของคนในชุมชน”

คืนความรู้สู่ชุมชน…หลังจากเรียนรู้มาตลอดทั้งสัปดาห์ ช่วงหัวค่ำของวันสุดท้ายก็ถึงเวลา “คืนความรู้สู่ชุมชน” โดยเชิญชวนลุง ป้า น้า อา ในชุมชนมาร่วมงาน ทั้งเชิญผ่านเสียงตามสาย และการกระจายตัวออกไปเชิญชวนด้วยตัวเอง เมื่อถึงเวลา ๑๘.๓๐ น. ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านในชุมชนเริ่มทยอยมาร่วมงานด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม โดยมีหลวงปู่นานเมตตามาเป็นประธานรับฟังการนำเสนอของนักเรียน หลังจากนั้นนักเรียนแต่ละคนผลัดกันออกมานำเสนอสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้จากฐานกิจกรรมต่างๆ บอกเล่าแผนที่คนดีที่เป็นเรื่องราวของผู้คนในชุมชน และนำเสนอโครงงานเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของชุมชนที่พวกเขามองเห็นซึ่งเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจจากชาวบ้านที่มาร่วมงานไม่น้อย

การออกภาคสนามไปเรียนรู้วิถีชีวิตชาวอีสาน ที่แตกต่างไปจากความคุ้นเคยของนักเรียน ทั้งการใช้ชีวิตอยู่ในชุมชน พูดคุยกับผู้คนในพื้นที่ และทำงานร่วมกับชาวบ้านคือการเรียนรู้จากของจริงที่ทำให้นักเรียนได้รู้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างความเข้าใจความเป็นอีสานด้วยตัวเอง อีสานที่ห่างไกลด้วยระยะทาง จึงไม่ห่างในความรู้สึกของนักเรียนอีกต่อไป

 

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.