ภาคสนามชั้น ม.๓/๒ จ.บุรีรัมย์
อีสานเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน
ภาคสนามชั้น ม.๓/๒ จ.บุรีรัมย์
ภารกิจตลอด ๖ วัน กับการเรียนรู้โครงงานวิชาบูรณาการสังคมศึกษา-ภูมิปัญญาภาษาไทย ของนักเรียนชั้น มัธยมศึกษาปีที่ ๓ ห้อง ๒ โรงเรียนรุ่งอรุณ โดยฐานการเรียนรู้อยู่ที่ภาคอีสาน จ.บุรีรัมย์ ที่นักเรียนจะต้องลงไปเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน สังคม และวัฒนธรรม
การเรียนรู้กับชุมชนแบ่งออกเป็น ๒ หมู่บ้าน หมู่บ้านแรกคือที่บ้านโนนมะพริก อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ที่หมู่บ้านนี้นักเรียนได้ลงพื้นที่สำรวจชุมชนเพื่อทำผังหมู่บ้าน และร่วมทำงานตามวิถีของชุมชน เช่น ฝึกงานหัตถกรรมทำดอกไม้ประดิษฐ์ ออกหาปลาตามแหล่งน้ำ เรียนรู้ภูมิศาสตร์ชุมชนโดยรอบ ทั้งป่าบุ่ง ป่าทาม แม่น้ำมูล เรียนรู้ความเชื่อ ทั้งเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ศาลปู่ตา เทวดารักษาต้นไม้ ป่า และแหล่งน้ำ เรียนรู้วัฒนธรรม โดยมีหมอแคน หมอลำ และหมอลำผญา ที่เป็นบรมครูเฉพาะด้านมาถ่ายทอดให้ฟัง ทำให้นักเรียนได้เห็นการเป็นอยู่ของชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นที่ต่างออกไป
หลังจากเรียนรู้วิถีหมู่บ้านโนนมะพริกแล้ว นักเรียนเดินทางต่อไปยังศูนย์การเรียนรู้ชุมชนกลุ่มอีโต้น้อย อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ หรือที่รู้จักกันว่า“บ้านพ่อผาย ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน” ที่นี่นักเรียนได้พบพ่อผาย สร้อยสระกลาง ที่บอกเล่าแนวทางการทำมาหากินบนพื้นฐานการพึ่งพาตนเองตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และแนวทางการเรียน การใช้ชีวิต ที่มีหลักธรรมชี้นำทาง รวมทั้งมีโอกาสทำกิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์ เช่น สร้างแหล่งอาหารเลี้ยงปลา ปลูกผัก ตอนกิ่งพันธุ์พืช เรียนรู้สวนสมุนไพร ทำน้ำคลอโรฟิลด์ ฯลฯ
จากการใช้ชีวิตและทำกิจกรรมการเรียนรู้ในสองหมู่บ้าน ไม่เพียงแต่ทำให้นักเรียนได้ทำงานร่วมกับชาวบ้านและเรียนรู้วิถีของชุมชนเท่านั้น แต่ยังทำให้นักเรียนมองเห็นว่า ข้อมูลในหนังสือหรือในใบงาน กับการมีอยู่จริงนั้นแตกต่างกันอย่างไร
ยิ่งไปกว่านั้นคือการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่เหมือนและต่างกันของสองหมู่บ้าน ระหว่างหมู่บ้านที่ดำเนินวิถีชีวิตและความเชื่อแบบดั้งเดิม กับหมู่บ้านที่มีผู้นำเป็นปราชญ์ แล้วผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาดั้งเดิมกับความรู้สมัยใหม่ ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ว่า ผู้นำชุมชนนั้นมีความสำคัญต่อวิถีของชุมชนอย่าไร เพราะแม้จะอยู่ในภาคอีสานเหมือนกัน จังหวัดเดียวกัน แต่สภาพสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ ของสองหมู่บ้านกลับแตกต่างกันอย่างมาก