a1
บทความทั่วไป

ห้องเรียนพ่อแม่ โดย สุนิสา ชื่นเจริญสุข (ครูโม)

ห้องเรียนของพ่อแม่

โดย สุนิสา ชื่นเจริญสุข

                    โรงเรียนรุ่งอรุณเป็นโรงเรียนเอกชน จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ตั้งแต่ปีการศึกษา 2540 เป็นต้นมา มีเจตนารมณ์เพื่อจัดการศึกษาแบบไม่แสวงหากำไร แต่คืนรายได้ทั้งหมดให้กับการพัฒนาและขยายผลการศึกษาที่มีเป้าหมายในการพัฒนาการเรียนรู้ให้มั่นคงกว้างขวางต่อไปในสังคม ในระยะต่อมาได้ก่อตั้งมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณขึ้น เพื่อให้การดำเนินงานส่งเสริมการศึกษาสู่สังคมเป็นไปอย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพ

a1                     โรงเรียนรุ่งอรุณได้น้อมนำพุทธธรรมมาเป็นหลักในการจัดการศึกษา โดยมีความเชื่อว่าการศึกษาในความหมายที่แท้จริงคือการศึกษาที่เป็นอิสระ หมายถึง การศึกษาหรือการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความคิดและจิตใจของบุคคลบนฐานของภูมิธรรมภูมิปัญญาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มิใช่การศึกษาที่มีขอบเขตเพียงแค่ห้องเรียน โรงเรียนและสาระวิชาในหลักสูตรที่แยกส่วนจากวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงดังที่เป็นอยู่ในสังคมเป็นส่วนมากขณะนี้ การศึกษาหรือการเรียนรู้ที่เป็นอิสระเช่นนี้จะได้มาด้วยการเริ่มต้นที่ตนเองของบุคคลที่เป็นพ่อ แม่ และครูซึ่งเป็นเหตุ หากบุคคลเหล่านี้เป็นผู้รู้คิดได้เองก่อนอย่างเป็นอิสระ จึงจะสามารถเป็นแบบอย่างในการส่งต่อกระบวนการเรียนรู้เช่นนี้สู่เด็กๆ ซึ่งเป็นผลได้

                    ผู้เขียนได้เข้ามาเป็นสมาชิกของโรงเรียนตั้งแต่ปีแรกของการเปิดโรงเรียนในฐานะที่เป็นผู้ปกครองซึ่งได้รับความบอบช้ำจากผลของการจัดการศึกษาในระดับปฐมวัยในโรงเรียนใกล้บ้าน และคิดว่าโรงเรียนไหนก็เหมือนๆ กัน จึงนำลูกสาวคนเดียวไปเรียนและเลือกโรงเรียนด้วยเหตุผลเพียงเพราะ “ใกล้บ้าน” พร้อมกับมีความคิดอหังการว่าโรงเรียนไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของการศึกษา อีกทั้งตัวผู้เขียนเองเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ก็ได้เรียนเพิ่มเติมเรื่องการศึกษาปฐมวัยจนจบปริญญาตรี จากสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการสอนแบบทางไกลด้วยความคิดว่าปฐมวัยนี้เป็นวัยที่สำคัญแห่งการชีวิตและตัวเองจะได้ช่วยเสริมการศึกษาทางโรงเรียนได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องรอพึ่งโรงเรียน

                    การจัดการเรียนการสอนสำหรับระดับอนุบาลที่โรงเรียนรุ่งอรุณเป็นการเรียนรู้ ตามหลักวิถีพุทธ ที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ให้แนวคิดไว้ว่า “การศึกษาเริ่มต้นa2เมื่อคนกิน อยู่ ดู ฟังเป็น” และเป็นการศึกษาที่พัฒนาองค์รวมของชีวิตผู้เรียน คือพฤติกรรม จิตใจและปัญญาไปในคราวเดียวกัน ทักษะทางภาษาและกระบวนการทางปัญญาเป็นเครื่องมือในการการเรียนรู้โลกที่สำคัญ วิธีปฏิบัติในการนำนักเรียนเข้าสู่การเรียนรู้เป็นไปในลักษณะการจัดมวลประสบการณ์ต่างๆ ด้วยหัวใจสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์ที่ว่า “โรงเรียนเหมือนครอบครัว ห้องเรียนเหมือนบ้านและครูเหมือนแม่” นักเรียนจะได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงและค่อยๆ หาความหมาย สะสมและสร้างความรู้ความเข้าใจต่อเรื่องที่ตนเข้าไปมีประสบการณ์และเป็นไปตามธรรมชาติการเรียนรู้ของตน ประสบการณ์การเรียนรู้ต่างๆ ได้แก่ การเล่นเพื่อพัฒนากายใจ การสำรวจธรรมชาติ การปลูกผัก การทำอาหารรับประทาน การปฏิบัติกิจกรรมดนตรีและจังหวะ และกิจกรรมเชิงศิลปะที่หลากหลาย เช่น การวาดรูปอย่างอิสระ การใช้สีน้ำ การปั้นดิน การปักผ้า และการประดิษฐ์ของเล่นของใช้ รวมถึงการเรียนรู้ผ่านการฝึกช่วยเหลือตัวเอง เช่น การถอดใส่เสื้อผ้า การนำเสื้อผ้าออกจากกระเป๋า และจัดใส่ตู้ล็อคเกอร์ประจำตัวและงานกิจวัตรต่างๆ ในห้องเรียน เช่น ล้างแก้วน้ำ และจัดโต๊ะรับประทานอาหาร เป็นต้น

                    สองสามปีแรกแม้เมื่อมาเรียนที่โรงเรียนรุ่งอรุณแล้ว ความเปลี่ยนแปลงในตัวลูกก็ยังไม่เกิดขึ้นมากนัก แม้ว่ากิจกรรมการเรียนการสอนที่โรงเรียนอนุบาลของรุ่งอรุณจะเป็นเรื่องที่ท้าทายศักยภาพของเด็กปฐมวัยเป็นอย่างยิ่ง แต่ลูกยังคงพึ่งพาแม่อยู่มาก เมื่อจะให้บอกเล่าเรื่องราวใดๆ ลูกมักจะมีคำพูดที่ติดปากเป็นความเคยชินว่า “ไม่รู้” และยังคงอิดออดและไม่มีความสุขกับการมาโรงเรียนนัก ในขณะที่เด็กวัยเดียวกันหลายคนมีความสุข มีความเบิกบานกับการมาโรงเรียน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้เขียนเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ทั้งๆที่โรงเรียนก็มีความสมบูรณ์แบบตามที่ตนต้องการทุกประการ คำตอบของเรื่องนี้อาจไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนเพียงอย่างเดียวเสียแล้ว

                    ในปีพ.ศ. 2543 เหตุการณ์ผ่านไปได้สามปี ผู้เขียนได้เปลี่ยนวิถีชีวิตมาเป็นครูของโรงเรียนรุ่งอรุณ ในตำแหน่งผู้ช่วยครูใหญ่ฝ่ายอนุบาล และในปี พ.ศ. 2544 ได้มีโอกาสได้อ่านหนังสือเรื่อง “วิถีการเรียนรู้ที่รุ่งอรุณ” ซึ่งเป็นวารสารเพื่อการวิจัยและพัฒนาที่เรียบเรียงโดย      รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนและผู้อำนวยการในขณะนั้น ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่สำคัญของผู้เขียนในการย้อนทบทวนบทบาทของตน ท่านเขียนเกี่ยวกับบทบาทของพ่อแม่ที่เป็นเหตุสำคัญต่อการเรียนรู้ของลูกว่า พ่อแม่นั้นเป็นเสมือนผืนดินและน้ำ หากมีความอุดมพอดี ต้นไม้ (ลูก) จะหยั่งรากแก้วลงลึกได้และเติบโตแข็งแรง หากพ่อแม่ไม่หมั่นดูแลปรับปรุงตนเองให้คงสภาพเป็นดั่งดินที่อุดมไว้เสมอ ลูกอาจจะกลายเป็นบุคคลผู้เรียนรู้ยาก เติบโตอย่างกระท่อนกระแท่น ดังตัวอย่าง พ่อแม่ 3 ลักษณะ ได้แก่
                    1. เมื่อพ่อแม่เล่นบทผู้ให้ที่คาดหวังสูง เล็งผลเลิศทันที หรือคอยเพ่งโทษ จับผิด ไม่วางใจและเฝ้าบ่นว่าลูกไม่ได้ดังใจปรารถนาอันแรงกล้าของพ่อแม่สักที ผลก็คือลูกจะท้อแท้ หมดกำลังใจ ขาดความมั่นใจในการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง
                    2. พ่อแม่บางรายนิยมการชื่นชม ปรนเปรอลูกจนเกินเลย คือพาตกไปสู่อารมณ์ฟุ้งเฟื่องดีใจจนลอย ฉลองชัยให้ของขวัญกันอย่างเอิกเกริกทุกครั้งไป ลูกจึงพลอยติดอารมณ์คือหวั่นไหวกับความรัก ชอบ ชัง ความเบื่อ ความอยาก ความกลัว ความงมงาย และมักจะกลัวความผิดหวังและเผชิญความผิดหวังไม่เป็น เป็นต้น
                    3. พ่อแม่ที่ลงโทษลูกอย่างรุนแรงด้วยอารมณ์โทสะ ผลที่เกิดกับลูกแทนที่จะเชื่อฟังและปฏิบัติตามโดยสมัครใจ ลูกกลับหวาดผวาตื่นตระหนก เกรงกลัวไม่อยากเข้าใกล้จนบางรายถึงกับต่อต้านด้วยความแข็งกระด้างและฝึกหัดนิสัยก้าวร้าวในที่สุด

                    เหตุสำคัญที่ผู้เขียนได้เรียนรู้และทบทวนบทบาทของตนที่มีต่อลูกจนเกิดความเข้าใจใหม่นั้นคือวิถีชีวิตครูที่โรงเรียนรุ่งอรุณนั้นเป็นพื้นที่ของการฝึกเจริญสติสัมปชัญญะในชีวิตประจำวันผ่านการทำงาน  และการได้มีโอกาสอบรมธรรมอย่างสม่ำเสมอทำให้ได้เรียนรู้และพัฒนาจิตใจของตน จึงเริ่มได้ยินเสียงของลูกมากขึ้น ทั้งที่โดยปกติลูกก็ไม่ใช่เป็นเด็กช่างพูด ซึ่งสันนิษฐานว่าแม่อาจพูดแต่เพียงฝ่ายเดียว ลูกเริ่มมีความไว้วางใจที่จะบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า “หนูรู้ว่าแม่หวังดี แต่ขอให้แม่สอนหนูให้น้อยลงหน่อย” จึงเริ่มฉุกใจว่าเหตุที่ลูกเป็นเด็กที่พึ่งพิงและไม่มีความสุขนั้นคงเป็นเพราะพฤติกรรมของแม่ซึ่งไม่ยอมปล่อยลูกให้เป็นอิสระ คอยโอบอุ้มขจัดอุปสรรคและความยากลำบากต่างๆ อย่างฉับพลันทันที คอยรู้ใจหาแต่สิ่งที่ลูกชอบและพึงใจมาปรนเปรอโดยที่ลูกยังไม่ทันเอ่ยขอและคอยพร่ำสั่งสอนในสิ่งที่แม่รู้และคิดว่าลูกควรรู้อยู่ตลอดเวลา และคอยชี้นำให้ลูกทำแต่สิ่งที่ถูกที่ดีอยู่ไม่ขาด โจทย์ของพฤติกรรมของลูกกลับมาอยู่ที่ผู้เป็นแม่ทันที

                    นับเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ผู้เขียนฟังลูกด้วยความเป็นปกติ และรู้สึกโล่งใจที่ได้ยินเช่นนี้ ปกติผู้เขียนอาจจะมีปฏิกิริยาโกรธ และอ้างความเป็นแม่ที่มีสิทธิ์ที่จะสั่งสอนและแสดงความปรารถนาดีต่อลูก หรือไม่ก็มีความน้อยใจและอ้างสิทธิ์ของแม่ว่าทำไมลูกจึงปีกกล้าขาแข็ง เถียงแม่เช่นนี้ แต่การสื่อสารของลูกครั้งนี้เป็นเรื่องบอกกล่าวกันตรงๆ ในเรื่องความรู้สึกและความต้องการของตน เมื่อฟังอย่างไม่ด่วนตัดสินหรือวุ่นวายอยู่กับการคิดหาคำอธิบายเหตุผลแล้วจึงเกิดความเข้าใจอย่างตรงไปตรงมาเห็นความจริงและยอมรับได้ ต่อมาเมื่อผู้เขียนเริ่มอดทนต่อความต้องการของตนที่ชอบไปแทรกแซงลูกได้บ้าง จึงเห็นว่าพฤติกรรมของลูกมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญกับความเปลี่ยนแปลงของผู้เขียน นอกจากนั้นยังได้เห็นว่าลูกยังมีคุณลักษณะอีกหลายประการที่น่าชื่นชมแต่กลับไม่เคยมองเห็นมาก่อนเลย คงเป็นเพราะมุ่งอยู่กับการไขว่คว้าสิ่งที่ไม่ใช่ปัจจุบันแต่เป็นความอยากบ้าง ความฝันบ้างของตนนั่นเอง ดังนั้นความสัมพันธ์ของผู้เขียนและลูกสาวจึงมีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้นตามลำดับ และเราเริ่มใช้การสื่อสารกันเช่นนี้ได้บ่อยขึ้น

                    จากการรับนักเรียนเข้าใหม่ในระดับชั้นอนุบาล 1 ปีของโรงเรียนในแต่ละปี คณะครูเริ่มตั้งข้อสังเกตกับนักเรียนบางคนที่มีพัฒนาการที่ไม่สมวัย เช่น การทรงตัว การกะแรง การกะระยะ ปฏิเสธที่จะปฏิบัติกิจกรรม บางคนร้องไห้โยเยอย่างไม่รู้สาเหตุ  ยังใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ฟันผุ ปรับตัวเข้ากับโรงเรียนได้ช้า บางคนไม่สามารถช่วยตัวเองในเรื่องง่ายๆ  บางคนพ่อแม่ยังต้องเดินตามป้อนอาหารและหลอกล่อให้รับประทาน  บางคนอยู่ไม่นิ่งหันเหความสนใจไปกับสิ่งเร้าได้ง่ายจนไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมที่จัดเตรียมไว้
คณะครูได้เฝ้าสังเกตความสัมพันธ์และการเลี้ยงดูลูก และประเมินว่าพัฒนาการของนักเรียนอาจเกิดจากวิธีการเลี้ยงดูลูกของผู้ปกครอง เช่นที่เกิดขึ้นกับผู้เขียน ซึ่งผู้ปกครองกลุ่มนี้ล้วนมีความมุ่งมั่นตั้งใจและพยายามหาความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูที่เหมาะสมมาใช้อยู่เสมอ แต่อาจจะยังไม่พบวิธีที่เหมาะสมและอาจไม่มีผู้ใหญ่หรือกลุ่มเพื่อนให้คำปรึกษา โรงเรียนรุ่งอรุณจึงตัดสินใจทำงานกับผู้ปกครองทันที โดยจัดโครงการห้องเรียนพ่อแม่เพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยขึ้น เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ “เลี้ยงลูกดีวิถีไทย” โดยพัฒนาหลักสูตรภายใต้กรอบแนวคิด 3 ประการ ได้แก่
                    1. การจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการทำงานของสมอง(Brain-Based Learning)และการส่งเสริมพัฒนาการระบบรับความรู้สึกชนิดใกล้และไกล (Sensory Integration) ประกอบด้วยการพัฒนาระบบทรงตัวและการเคลื่อนไหว ระบบผิวสัมผัส ระบบเอ็นและข้อต่อของขา แขน ไหล่ มือ เท้าและคอ  เป็นองค์ความรู้ที่นำมาเป็นหลักการสำคัญในการวิเคราะห์คุณค่าของกิจกรรมการละเล่นต่างๆ และกีฬาไทยและบรรยากาศของการเรียนรู้ที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ อย่างบูรณาการ
                    2.  การละเล่น กีฬา และการดูแลเด็กแบบวิถีไทย บนพื้นฐานองค์ความรู้ของศูนย์สุขภาพวิถีไทย สถาบันอาศรมศิล์ป ซึ่งประกอบด้วยแนวคิดดังต่อไปนี้
                              2.1. อธิษฐานจิต ความเมตตา และความปรารถนาดีของพ่อแม่ที่มีต่อลูก อันเป็นแรงเสริมเพื่อแทนที่ความห่วง ความกลัว ความกังวลอันเป็นแรงต้านของการเรียนรู้และความสัมพันธ์
                              2.2. ความเป็นแบบอย่างทางคุณธรรมจริยธรรมของพ่อแม่ทางพฤติกรรมของกาย วาจา ใจ จะเป็นมงคลต่อลูกและเป็นเบ้าหลอมที่ดีสำหรับลูก
                              2.3.  การละเล่น เกมกีฬาและการดูแลเด็กแบบวิถีไทยเป็นภูมิปัญญาที่ส่งเสริมให้เกิดการคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น มีปฏิภาณ ไหวพริบ และมีความอ่อนน้อมกตัญญู รักและเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันเป็นวิถีชีวิตซึ่งบูรณาการความรู้และคุณธรรมอย่างกลมกลืน
                    3. การศึกษาแบบองค์รวมจากองค์ความรู้ของโรงเรียนรุ่งอรุณ โดยมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
                              3.1. สาระการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เรียน โดยมีความร้อยเรียงและเชื่อมโยงของสาระได้แก่ สาระเกี่ยวกับเรื่องเครื่องมือการเรียนรู้ธรรมชาติและท่าทีการเรียนรู้ (การเรียนรู้เรื่องภายในตน) กิจกรรมการเรียนรู้ที่สร้างสมดุลกาย-ใจ (การเรียนรู้เรื่องภายนอกที่ต้องอาศัยการเข้าใจ เท่าทันสถานการณ์และจัดปรับความสัมพันธ์ระหว่างตน บุคคลอื่นและสิ่งแวดล้อม) และ การสร้างความสัมพันธ์กับลูกและบุคคลต่างๆ การเรียนรู้จากสื่อธรรมชาติและสื่อใกล้ตัว การออกแบบกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ของลูก (การเรียนรู้ที่จะเป็นผู้สร้างการเรียนรู้สู่คุณค่าผ่านปฏิสัมพันธ์ร่วมกับกลุ่ม)
                              3.2. กระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมผ่านประสบการณ์ตรง การเรียนรู้ร่วมกับกลุ่ม(Group Learning) การสรุปประสบการณ์การเรียนรู้ การจดบันทึกความรู้ที่เกิดขึ้นและ การนำความรู้มาออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อเป็นการทดลอง
                              3.3. สื่อ/กิจกรรมการเรียนรู้ที่สื่อถึงมิติเชิงคุณค่า เน้นการใช้สื่อรอบๆ ตัว และกิจกรรมที่เกิดในชีวิตประจำวัน มีการทำซ้ำและเรียงลำดับจุดประสงค์การเรียนรู้ ได้แก่ กิจกรรมสำหรับเด็กและผู้ปกครองอย่างหลากหลาย เช่น การเล่นและกีฬา (เล่นลานทราย กิจกรรมการเคลื่อนไหวบนเบาะ พายเรือ ฯลฯ) การสำรวจธรรมชาติรอบโรงเรียน  และกิจกรรมการทำอาหารโดยไม่พูด เป็นต้น
                              3.4. ทีมผู้สอน/วิทยากรและทีมผู้ปฏิบัติงาน(ทีมครูทั้งหมด) มีความเข้าใจในสิ่งที่จะสอนไปในแนวทางเดียวกัน มีท่าทีที่ยืดหยุ่นไม่ตัดสิน ชี้ถูกผิด แต่คอยอำนวยการเรียนรู้และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติและเรียนรู้ด้วยตัวเองร่วมกับกลุ่ม  ทีมวิทยากรมีการประชุมและการสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อเท่าทันสถานการณ์
                              3.5. ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติโดยเน้นการเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม ได้เรียนรู้ธรรมชาติการเรียนรู้ของตน นำไปสู่ความเข้าใจลูกและผู้อื่น สามารถออกแบบการเล่นเพื่อพัฒนาลูกของตนได้อย่างเหมาะสม 
                              3.6. บรรยากาศการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียน ผสมผสานการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน มีการตระเตรียมสื่อการสอนและขั้นตอนต่างๆ อย่างประณีตและมีแบบแผน ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีวินัย
                              3.7. การที่ผู้เรียนนำสิ่งที่เรียนไปใช้จริง หลังจากการเรียนรู้และสรุปความรู้จากการปฏิบัติแล้ว ผู้เรียนจะมีโอกาสตรวจสอบความเข้าใจโดยการออกแบบกิจกรรมสำหรับเด็กตามความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นและนำเด็กมาเล่น อีกกิจกรรมหนึ่งคือการบันทึกกิจวัตรประจำวันของลูกและครอบครัวตามโจทย์คำสั่งซึ่งผู้เรียนต้องบันทึกทุกวันและนำมาส่งทุกครั้งที่มาเรียน

                     ในการอบรมครั้งแรกเป็นการอบรมอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เวลา 30 ชั่วโมง โดยจัดอบรมในวันเสาร์หรืออาทิตย์ ทั้งหมด 10 ครั้ง ก่อนวันเปิดเรียน โดยใช้กลุ่มทดลอง 1 ห้องเรียน ประกอบด้วยผู้ปกครองและเด็ก 25 ครอบครัว และใช้บุคลากรภายในได้แก่คณะครูและคณาจารย์ของสถาบันอาศรมศิลป์เป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ ในครั้งนั้นเกิดองค์ความรู้ของกลุ่มที่สำคัญที่เรียกว่า 11 ท่าทีเลี้ยงลูกดีวิถีไทย ที่นำมาเป็นสติเตือนในการเลี้ยงดูลูก ได้แก่
                    1. การสังเกตที่ดี
                    2. การนิ่งรอดู
                    3. การผ่อนปรน ผ่อนหนัก ผ่อนเบา ผ่อนสั้น ผ่อนยาว
                    4. การเปิดพื้นที่ของการลองผิดลองถูก
                    5. การสื่อสารที่ถูกจังหวะ
                    6. การยอมรับธรรมชาติการเรียนรู้ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายของกันและกัน
                    7. การตั้งจิตอธิษฐาน ตั้งปณิธานในสิ่งดี
                    8. การบริหารจัดการตัวเองภายใต้เงื่อนไขเวลาอันจำกัด
                    9. การมีความเปิดใจและรับฟังกัน
                  10. การอดทนฝืนใจอยู่กับความไม่พึงพอใจของตนได้
                  11. การร่วมลงมืออย่างเท่าเทียมกัน

a3                     ในระยะต่อมาได้พัฒนาหลักสูตรโดยปรับเนื้อหาให้กระชับขึ้นเป็น 10 ชั่วโมง ตัดการบันทึกกิจวัตรประจำวันของลูกตามโจทย์คำสั่งออก หลักสูตรนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในเบื้องต้นให้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครองของนักเรียนชั้นอนุบาล 1 ทุกครอบครัวก่อนเปิดเรียนเพื่อได้เห็นภาพการจัดการเรียนรู้ในระดับปฐมวัยตามแนวทางของโรงเรียน ผ่านประสบการณ์การปฏิบัติกิจกรรมร่วมกับลูกและครอบครัวอื่นๆ เกิดความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติและท่าทีการเรียนรู้ของลูก  สามารถจัดปรับความสัมพันธ์ และส่งเสริมเติมเต็มพัฒนาการด้านต่างๆ อย่างสอดคล้องและเหมาะสมและเกิดสังคมแห่งกัลยาณมิตรของกลุ่มผู้ปกครองและคณะครูที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันและเรียนรู้ร่วมกันอย่างมีความสุข
                    โอกาสนี้ขอกล่าวถึงเนื้อหาโดยแนวคิดของหลักสูตรการอบรม  ระยะสั้น 10 ชั่วโมง ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาสาระดังนี้
                     1. เครื่องมือการเรียนรู้ที่สำคัญ อันได้แก่ การฟังอย่างลึกซึ้งและการสังเกต ทั้งบริบทภายนอกและธรรมชาติภายในของพ่อแม่เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่สำคัญทั้งนี้ความเข้าใจบริบทภายนอกและธรรมชาติภายในของพ่อแม่นั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพของการฟัง
                     2. ชุมชนกัลยาณมิตร เป็นการสร้างชุมชนที่เกิดจากการมีกิจกรรมร่วมกันและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มผู้ปกครองและโรงเรียน และพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่การมีทัศนคติที่ดีต่อการเอาใจใส่ดูแลลูกๆ ร่วมกัน และมีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน 
                      3. บทบาทของผู้ปกครองในการส่งเสริมการเรียนรู้ ได้เรียนรู้ธรรมชาติภายในของตนซึ่งส่งผลต่อการเลี้ยงดูและปฏิสัมพันธ์ระหว่างตนกับลูก สามารถใช้เวลาคุณภาพในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันกับลูก 
                     4. ธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ได้เรียนรู้ถึงศักยภาพของลูกผ่านการเล่นและทำกิจกรรมร่วมกับลูกได้เห็นพลังของเจตจำนงในการเรียนรู้ของลูกที่จะค้นหาความหมายของสิ่งที่ตนต้องการเรียนรู้ มากกว่าสิ่งที่พ่อแม่มีความต้องการ

a4                      หลังจากนั้นได้นำแนวคิดเหล่านั้นมาออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ เริ่มจากการฟังเรื่องเล่าประสบการณ์การเลี้ยงลูกและการเปลี่ยนแปลงตัวเองจากผู้ปกครองเก่า การจับคู่และผลัดกันเล่าเรื่องที่ตนประสบผลสำเร็จในการเลี้ยงลูก การทำกิจกรรมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ที่มีคุณค่าของตนในการเลี้ยงลูก การทำกิจกรรมเรียงลำดับเพื่อเป็นการสำรวจตัวเองและจัดตำแหน่งสร้างความสัมพันธ์ของตนกับกลุ่ม ส่วนการเรียนรู้ในกิจกรรมปั้นดินปั้นลูก ซึ่งเป็นการเรียนรู้ผ่านการปั้นดินแบบอิสระและปั้นตามโจทย์นั้น เป็นการฝึกการเรียนรู้ธรรมชาติภายในของตนในการเผชิญสถานการณ์ หรือในการทำงานต่างๆ และท้ายสุดเป็นการชมและฟังคำอธิบายเกี่ยวกับแนวคิดและวิธีการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนอนุบาล ในวันรุ่งขึ้นผู้ปกครองได้นำเด็กมาร่วมกิจกรรมด้วย โดยครูได้จำลองรูปแบบและกระบวนการเรียนรู้มาให้เด็กได้มีประสบการณ์ก่อนการเข้าเรียน โดยจัดเป็นฐานกิจกรรม เช่น ฐานชมธรรมชาติ ปีนต้นไม้ เล่นลานทราย ทำขนม และทำของเล่นจากธรรมชาติ เป็นต้น ผู้ปกครองได้นำความรู้สำคัญมาใช้นั้นคือการเรียนรู้ร่วมไปกับลูกโดยให้การขับเคลื่อนการเรียนรู้นั้นเป็นหน้าที่ของลูก ส่วนพ่อแม่เองนั้นได้เรียนรู้ที่จะสังเกต ฟัง ระงับความคาดหวังและไม่แทรกแซงให้ลูกได้ทำตามสิ่งที่ตนคาดหวัง

                     กระบวนการเรียนรู้นั้นเป็นการ สร้างความรู้ความเข้าใจผ่านการทบทวนประสบการณ์ของตน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ร่วมกันถอดรหัสความรู้หลังปฏิบัติกิจกรรมทุกครั้ง นำความรู้ไปทดลองปฏิบัติ  ตรวจสอบและประเมินความเข้าใจจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่ม

                    ผลที่เกิดขึ้นคือนักเรียนใหม่เริ่มมีความคุ้นเคยกับโรงเรียนในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับการทำกิจกรรมและเรียนรู้ผ่านสื่อที่หลากหลายร่วมกับเพื่อนวัยเดียวกัน เรียนรู้ผ่านการเล่นอย่างมีความสุข สามารถแสดงศัยภาพของตนผ่านการฟัง การสังเกตได้อย่างเต็มที่ตามธรรมชาติและพัฒนาการของแต่ละคน และเริ่มมีความคุ้นเคยกับโรงเรียน รวมถึงผู้ปกครองและครู เมื่อถึงวันเปิดเทอมจึงปรับตัวได้เร็วขึ้น

                    ผู้ปกครองเห็นภาพของจัดการเรียนรู้ตามแนวทางของโรงเรียนและเกิดความรู้ความเข้าใจในความแตกต่างของธรรมชาติการเรียนรู้ของของบุตร-ธิดา รู้จักธรรมชาติภายในของตนที่มีผลต่อการเรียนรู้ของลูก ได้เรียนรู้เรื่องการสร้างความสัมพันธ์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกโดยการจัดปรับที่ตนเองเป็นเบื้องต้น และกลุ่มผู้ปกครองมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันนำไปสู่การสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือกันในเรื่องการดูแลส่งเสริมเด็กให้มีพัฒนาการเต็มศักยภาพของแต่ละคนอย่างมีความสุข

                    คณะครูได้ฝึกทักษะการเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับกลุ่มผู้ปกครองและได้เรียนรู้ร่วมกับกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ได้ฝึกทักษะการคิดเชิงระบบในการออกแบบแผนการเรียนรู้อย่างบูรณาการอันประกอบด้วยเนื้อหาสาระ กิจกรรม กระบวนการเรียนรู้ และการประเมินผล นอกจากนั้นยังได้ฝึกการทำงานเป็นทีมเพื่อให้เป็นไปตามแผน
คำกล่าวของรองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ในหนังสือที่คัดมาเบื้องต้นเป็นบทสรุปที่น่าจะเหมาะสมที่สุดว่า

…“ที่รุ่งอรุณ…การศึกษาการเรียนรู้ จึงเริ่มต้นที่ตนเองของพ่อแม่และครู”

a5

หมายเหตุ : ลงในวารสารการศึกษาปฐม ปีที่ 13 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม 2552

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.