IMG 0040
บันทึกรุ่งอรุณ,  ผลงานนักเรียน,  ภาคสนาม,  โรงเรียนมัธยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

รายงาน HIA : อ่าวอุดมอันอุดม ผลการศึกษาโครงงานของนักเรียนชั้น ม.๕

IMG 0040การพัฒนาโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและวิถีดั้งเดิมของชาวบ้านในพื้นที่ ดูจะเป็นปัญหาแทบทุกหย่อมหญ้าและกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วในสังคมไทย บ่อยครั้งก็นำไปสู่การเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายพัฒนา คือภาครัฐและบริษัทเอกชน กับฝ่ายชาวบ้านในพื้นที่ที่มีนักวิชาการเอ็นจีโอเป็นกำลังเสริม หลายกรณีโชคดีที่การปะทะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา แต่มีอีกไม่น้อยที่ยังคงเผชิญหน้ากันอย่างยืดเยื้อ มองไม่เห็นทางออก

การพัฒนาอุตสาหกรรมท่าเรือที่บ้านอ่าวอุดม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี  คือตัวอย่างหนึ่งของกรณีหลัง

จากรายงานการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (รายงานการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Health Impact Assessment; HIA) เรื่อง “อ่าวอุดมอันอุดม” ของนักเรียนชั้น ม.๕ โรงเรียนรุ่งอรุณ ที่จัดทำขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๖ ชี้ให้เห็นว่าก่อนหน้านี้อ่าวอุดมนั้นอุดมไปด้วยทรัพยากร สัตว์น้ำ และความสวยงามทางธรรมชาติ ชาวบ้านเลี้ยงชีพด้วยการทำประมงพื้นบ้านกันมาแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ตราบจนกระทั่งมีการก่อสร้างท่าเรือขึ้นหลายแห่ง อ่าวอุดมก็เริ่มจะไม่อุดมอีกต่อไป

ทันทีที่มาถึง เด็กๆ บอกว่าพวกเขาต่างรับรู้ถึงปัญหาที่เป็นผลมาจากการก่อสร้างท่าเรือบริเวณอ่าวอุดมได้โดยทันที ทั้งขยะที่เกลื่อนชายหาดและในทะเล กลิ่นเหม็น เสียงดัง และฝุ่นละออง ก่อนจะตามมาด้วยอาการคัดจมูก แสบคอ และผื่นแพ้ตามผิวหนังของแต่ละคน

ยิ่งเมื่อได้ลงนั่งพูดคุยกับชาวบ้าน ข้อมูลปัญหาที่ตามมาหลังโครงการพัฒนาท่าเรือดูจะเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านส่วนใหญ่บอกตรงกันว่าอ่าวอุดมในวันนี้เปลี่ยนไป น้ำทะเลไม่ใส ชายหาดไม่สวยเพราะเกลื่อนไปด้วยขยะ ฝุ่นฟุ้งกระจายที่กลายเป็นเขม่าจับตามบ้านเรือน ชาวบ้านเริ่มมีปัญหาสุขภาพ สัตว์น้ำลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย ขณะที่ทางฝั่งของบริษัทท่าเรือก็มองว่า บริษัทดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และปัญหาที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้มาจากท่าเรือทั้งหมดเสียทีเดียว

IMG 3726เมื่อต่างก็มองในมุมของตน ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจึงเรื้อรังมาเป็นเวลานาน

การอาศัยอยู่ร่วมบ้านและร่วมพูดคุยกับชาวบ้านระหว่างลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลเป็นเวลาหลายวัน ทำให้เด็กๆ เข้าใจและเห็นอกเห็นใจในความทุกข์ของชาวบ้าน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มองว่าท่าเรือเป็นผู้ร้ายที่ต้องผลักไสให้พ้นไปจากชุมชน เพราะถึงวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าท่าเรือได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนไปแล้ว

ในเมื่ออยู่ร่วมชุมชนเดียวกัน แทนที่จะแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมองแต่ในมุมของตัวเอง เด็กๆ เสนอว่าจะดีกว่าไหมถ้าจะเปลี่ยนจาก “ฉัน  (ME)” มาเป็น “เรา (WE)” ว่าแล้วพวกเขาก็จัดเวทีเสวนาโต๊ะกลมเชิญตัวแทนฝ่ายต่างๆ ทั้งผู้นำชุมชน แกนนำกลุ่มประมงพื้นบ้าน นักวิชาการชุมชน สมาชิกวุฒิสภา ตัวแทนภาครัฐและตัวแทนจากบริษัทท่าเรือ มาร่วมพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน ณ สำนักงานเทศบาลนครแหลมฉบัง จ.ชลบุรี โดยมีเด็กๆ ทำหน้าที่เป็นคนกลางดำเนินการเสวนา

แม้ผลการพูดคุยในครั้งนี้จะยังไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม แต่สิ่งที่เด็กๆ ทำก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ทุกฝ่ายได้มาเปิดอกคุยกันจนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ร่างธรรมนูญชุมชนหรือวิสัยทัศน์ของอ่าวอุดม ตลอดจนหารือเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ของชุมชนต่อไป

การจัดทำรายงาน HIA และจัดเวทีเสวนาโต๊ะกลมในครั้งนี้ คือตัวอย่างหนึ่งของการเรียนรู้ผ่านการทำโครงงาน (Project-based Learning) ที่เป็นการเรียนรู้จากปัญหาจริง และลงมือทำบนบริบทจริงของสังคม เด็กๆ ต้องไปทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อรู้ถึงที่มาที่ไปของปัญหา มองเห็นความเชื่อมโยงและผลกระทบที่เกิดขึ้น ตลอดจนสามารถนำความรู้มานำเสนอทางออกของปัญหาได้

รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าวถึงการจัดการศึกษาที่ปลูกฝังให้เด็กมีจิตสำนึกของความเป็นพลเมืองผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบและพัฒนาสังคมเช่นนี้ว่าเป็นแนวโน้มของการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ เพราะการจัดการศึกษาเพื่อให้เด็กอ่านออกเขียนได้หรือสอบผ่านนั้นไม่เพียงพอแล้ว แต่โรงเรียนและครูต้องสร้างให้เด็กมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม สามารถใช้ความรู้เพื่อแก้ปัญหา วิเคราะห์ปัญหา คิดเชื่อมโยง รู้ว่าจะเข้าถึงความรู้หรือใช้ความรู้เหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร

จะว่าไป การพัฒนาที่นำไปสู่การทำลายธรรมชาติและวิถีชีวิตของชาวบ้านดังเช่นกรณีบ้านอ่าวอุดมและอีกหลายพื้นที่ในบ้านเราทุกวันนี้ ล้วนเป็นผลพวงจากการศึกษาที่เน้นเพียงการอ่านเขียนและคะแนนสอบไม่ใช่หรือ


(ที่มา : เรียนรู้จากปัญหาจริง, Life is learning, จุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันศุกร์ที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๖)

รายงาน HIA เรื่อง “อ่าวอุดม…อันอุดม” ผลงานของนักเรียนชั้น ม.๕ โรงเรียนรุ่งอรุณ…คลิกที่รูปภาพเพื่อดาวน์โหลด

Udom Gulf for Print company Page 01

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.