การประกวดบรรเลงดนตรีไทยอโศกสังคีต ครั้งที่ ๖
ในช่วงปิดภาคเรียนที่ผ่านมา คณะครูดนตรีไทย โรงเรียนรุ่งอรุณ พานักเรียนไปร่วมการแข่งขันดนตรีไทยในงานอโศกสังคีต SG Music Festival ๒๐๑๓ (ครั้งที่ ๖) ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๖-๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ โดยส่งนักเรียนเข้าร่วม ๒ รายการ คือ การประกวดวงดนตรีไทย ระดับมัธยมศึกษา (ม.๑-ม.๖) ประเภทวงปี่พาทย์ผสมเครื่องสาย และการประกวดบรรเลงดนตรีไทย (เดี่ยว) ระดับประถมศึกษา (ป.๑-ป.๖) ตามรายละเอียดดังนี้
การประกวดวงดนตรีไทย ระดับมัธยมศึกษา (ม.๑-ม.๖) ประเภทวงปี่พาทย์ผสมเครื่องสาย (ไม่มีร้อง)
เพลงภิรมย์สุรางค์ เถา โดยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒
เครื่องดนตรี | นักเรียน |
ขลุ่ยเพียงออ | ด.ช.ณัฎฐชัย พฤทธิ์วิสุทธิ์ |
ระนาดเอก | ด.ช. ภูผา อมรกิจจา |
ระนาดทุ้ม | ด.ญ. ตระการตา วิวัฒนะอมรชัย |
ฆ้องวงเล็ก | น.ส. ปีย์นฎา รักษ์ไพเศษ |
ฆ้องวงใหญ่ | นายรัชชานนท์ นาคสมบูรณ์ |
จะเข้ | ด.ญ.ปภาวรินท์ สิทธิโชติ |
ซอด้วง | ด.ญ.ปัณณ์รวี เสริฐสุวรรณกุล |
ซออู้ | ด.ญ.ชมนาด ธานี |
ฉิ่ง | ด.ช.สรวิศ กรสถาพร |
กลองแขก | ด.ช.ณัชพล ภาณุประภา |
ด.ช.ณฐกร แซ่เจ็ง | |
กรับ | นายปาพร เลิศธนสาร |
การประกวดบรรเลงดนตรีไทย (เดี่ยว) ระดับประถมศึกษา (ป.๑-ป.๖)
ชื่อ-นามสกุล | เครื่องดนตรี | เพลง | ผล |
ด.ญ.ณภัทร ธงสินธุศักดิ์ | เครื่องดีด : จะเข้ | ลาวกระแซ ๒ ชั้น | ได้ที่ ๓ จากผู้เข้าร่วม ๑๔ โรงเรียน |
ด.ญ.ณัฐกร มัศยาอานนท์ | เครื่องสี : ซอด้วง | ม้าย่อง ๒ ชั้น | ได้ที่ ๗ จากผู้เข้าร่วม ๑๔ โรงเรียน |
ด.ญ.พรรณ์นลิน บุรีเศรษฐกร | เครื่องสี : ซออู้ | นารายณ์แปลงรูป ๒ ชั้น | ได้ที่ ๖ จากผู้เข้าร่วม ๘ โรงเรียน |
ด.ญ. สิรภัธ กรสถาพร | เครื่องตี : ขิม | จีนหลวง ๒ ชั้น | ได้ที่ ๑๘ จากผู้เข้าร่วม ๓๒ โรงเรียน |
คุณครูอภิญญาวุฒิ วิโรจน์เวชภัณฑ์ (ครูโอ๊ต) ครูดนตรีไทยของรุ่งอรุณ เล่าถึงเบื้องหลังการประกวดในครั้งนี้ว่า ก่อนหน้าตัดสินใจส่งประกวดนั้น ทีมครูดนตรีไทยค่อนข้างหนักใจ เพราะกติกาการประกวดที่ระบุว่า “ระดับมัธยม ม.๑-ม.๖” นั้นกว้างมาก มีความแตกต่างของผู้เล่นในวงค่อนข้างมาก นักเรียนที่จะร่วมประกวดส่วนใหญ่อยู่ระดับชั้น ม.ต้น (ม.ปลายเพียง ๓ คน) ซึ่งเป็นวัยที่ยังรักการเล่น รักสนุกกับเพื่อนๆ ยังไม่นับรวมว่านักเรียนบางคนเพิ่งฝึกเล่นดนตรี บางคนต้องเปลี่ยนเครื่องดนตรี และโจทย์เพลงที่ยาก แต่หลังจากพูดคุยกับทีมครูดนตรีไทยและนักเรียนที่สนใจแล้วก็ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า…ทุกคนจะเข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ โดยมีเวลาฝึกซ้อมตั้งแต่วันที่ ๑๙-๒๘ สิงหาคม หรือเพียง ๙ วันเท่านั้น
“นักเรียนบางคนครูได้ต่อเพลงไว้ตั้งแต่ก่อนปิดเทอมบ้างแล้ว แต่สำหรับบางคนโดยเฉพาะนักเรียนที่แข่งประเภทวงดนตรี ยังไม่ได้ต่อเพลงเลย ครูทุกคนทำการบ้านกันหนักพอสมควร เนื่องจากจะต้องตีโจทย์เพลงที่กำหนดมาว่าเราจะถ่ายทอดออกมาในทิศทางไหน สามารถใส่ลูกเล่นอะไรได้บ้าง จะดึงลักษณะพิเศษของแต่ละเครื่องมือออกมานำเสนอให้ได้มากที่สุดได้อย่างไร จะปรับวงอย่างไรให้นักดนตรีทั้ง ๑๒ ชีวิต สามารถบรรเลงไปในทางเดียวกัน มีความกลมกลืน และแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีของวง”
อีกหนึ่งอุปสรรคที่เพิ่มเข้ามา คือ นักเรียนหลายคนไม่สามารถมาซ้อมและแข่งขันได้ จึงต้องติดต่อนักเรียนคนใหม่มาเสริมวงแทน ซึ่งติดต่อได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เพราะเป็นช่วงปิดเทอม นานาปัญหาที่มีเข้ามาเป็นระยะๆ ทำให้บางครั้งครูอดคิดไม่ได้ว่า “หรือว่าเราต้องยุบวง”
“แต่ด้วยสปิริตของนักเรียนรุ่งอรุณ ทำให้สมาชิกในวงครบพร้อมแข่งขันในวันที่ ๒๖ ส.ค. (ก่อนการประกวด ๒ วัน) นักเรียนที่เพิ่งมาเสริมกำลังทัพทีหลัง มีความตั้งใจมาก ตั้งหน้าตั้งตาต่อเพลงให้จบ ทุกคนทำการบ้านกันเยอะมากๆ และให้ความสำคัญกับงานนี้อย่างเต็มที่ ทั้งๆ ที่บางคนก็ไม่เคยมีประสบการณ์การประกวดเลย ภาพที่ปรากฏข้างหน้า ณ ตอนนั้น บวกกับความตั้งใจของเด็กๆ ทำให้กำลังใจครูกลับมา ต้องขอขอบคุณนักเรียนดนตรีไทยจริง ๆ ที่ทำให้ครูมีกำลังใจทำงานนี้ต่อไปจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี”
คุณครูอภิญญาวุฒิบอกว่า ตลอดเวลาที่ฝึกซ้อมกันมา ไม่มีรอบไหนเลยที่สมบูรณ์ ถ้าไม่บรรเลงขาดหรือผิด ก็ต้องมีเรื่องคนไม่ครบ สมาชิกในวงอยู่รวมกันครบพร้อมบรรเลงก็เมื่อวันประกวด ซึ่งทำให้ครูรู่สึกอุ่นใจขึ้นมาก แต่ก็ต้องเจออีกหนึ่งอุปสรรค คือ นักเรียนตื่นเต้นจนการซ้อมก่อนขึ้นขึ้นเวทีไม่เป็นไปตามที่นัดแนะกันไว้ เมื่อเห็นดังนั้นจึงให้นักเรียนหยุดซ้อมแล้วมานั่งล้อมวงคุยกัน โดยครูชวนคุยถึงช่วงเวลาฝึกซ้อมที่ผ่านมา ปัญหาอุปสรรคที่พบเจอ พูดถึงความสามารถของแต่ละคน แล้วพูดทิ้งท้ายไว้ว่า “แล้วพวกเราจะทำให้ทุกคนรู้ว่ารุ่งอรุณมีดียังไง” จากนั้นให้นักเรียนนั่งนิ่งๆ หลับตาฟังเสียงรอบๆ ตัวว่าได้ยินเสียงอะไรบ้าง (ทั้งนี้เพราะเมื่อต้องขึ้นเวทีจริง นักเรียนจะมองไม่เห็นกัน ทุกคนต้องใช้หูฟังกันเท่านั้น) ซึ่งช่วยให้นักเรียนคลายความตื่นเต้นและสงบนิ่งขึ้น เมื่อถึงเวลาขึ้นเวที หลังจากครูปรับตั้งไมค์ ปรับเสียงเครื่องดนตรี และลองเสียงเรียบร้อยแล้ว การบรรเลงก็เริ่มขึ้น
“ทุกคนนิ่งมาก ถึงแม้ว่าจะมีอาการตื่นเวทีอยู่บ้างในช่วงแรกๆ แต่ทุกคนก็ปรับสภาพได้อย่างรวดเร็ว การบรรเลงในรอบนี้เป็นรอบที่สมบูรณ์มาก ทุกอย่างที่ปรับกันมาทำได้ครบหมด บรรเลงจบอย่างงดงาม เช่นเดียวกับน้องประถมที่เข้าร่วมการประกวดประเภทเดี่ยวในวันต่อมา ทุกคนตั้งใจและทำสุดความสามารถอย่างที่ฝึกซ้อมกันมาเช่นกัน ณ ตอนนั้นไม่ว่าผลการประกวดจะออกมาเป็นอย่างไร ไม่มีใครสนใจแล้ว แต่ที่แน่ๆ พวกเราชนะใจตัวเอง ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เราทำดีที่สุดแล้ว”