ข่าวสารแวดวงห้องสมุด,  ห้องสมุด

กวีนิพนธ์ “หัวใจห้องที่ห้า” คว้ารางวัลซีไรต์ ๒๕๕๖

 

     เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๖  คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ของประเทศไทย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร เป็นประธาน มีมติให้รวมบทกวี “หัวใจห้องที่ห้า” ฉบับปรับปรุง ของ อังคาร จันทาทิพย์ ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน(ซีไรต์) ของประเทศไทย

      ในที่สุด “หัวใจห้องที่ห้า” ฉบับปรับปรุง ก็คว้าซีไรต์ในปีนี้ จากหนังสือ ๗ เล่ม สุดท้ายที่ผ่านการคัดเลือกสู่รอบตัดสิน ประกอบด้วย

     ๑. ของฝากจากแดนไกล / โชคชัย บัณฑิต

     ๒. ต่างต้องการความหมายของพื้นที่ / ศิวกานต์ ปทุมสูติ

     ๓. บ้านในหมอก / สุขุมพจน์ คำสุขุ

     ๔. ผู้ออกแบบเส้นขอบฟ้า / จเด็จ กำจรเด

     ๕.เมฆาจาริก / ธมกร

     ๖. โลกใบเล็ก / พลัง เพียงพิรุฬห์ และ

     ๗. หัวใจห้องที่ห้า / อังคาร จันทาทิพย์

     สำหรับหัวใจห้องที่ห้า นำเสนอเรื่องเล่าโดยจำลองวิวัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่ยุคโบราณก่อนประวัติศาสตร์ การตั้งชุมชนสังคมร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมเมือง ซึ่งประกอบไปด้วย คนไร้บ้าน คนพลัดถิ่น คนกลุ่มน้อย โดยเชื่อมโยงเรื่องเล่าในอดีตกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งล้วนระทมทุกข์ นำเสนอการปะทะสังสรรค์ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม

     ผู้แต่งมองโลกและปรากฎการณ์ด้วยมุมมองที่ย้อนแย้ง ในภาคแรก “หัวใจห้องที่ห้า” และภาคหลัง “นิทานเดินทาง” ภาพคู่ขนานของการว่ายวนต่อสู้ดิ้นรนของมนุษย์ ท่วงทำนองการประพันธ์ใช้ฉันทลักษณ์ที่หลากหลาย และมีลีลาเฉพาะตน

     รวมบทกวี หัวใจห้องที่ห้า ฉบับปรับปรุง ของ อังคาร จันทาทิพย์ จึงสมควรได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ของประเทศไทย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๖

     สำหรับคณะกรรมการตัดสินประกอบด้วย

     ๑. รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร

     ๒. เจน สงสมพันธุ์

     ๓. รศ.ทวีศักดิ์ ปิ่นทอง

     ๔. ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา

     ๕. นรีภพ จิระโพธิรัตน์ สวัสดิรักษ์

     ๖. ดร.พิเชฐ แสงทอง

เราต่างมี “หัวใจห้องที่ห้า” กวีซีไรต์ “อังคาร จันทาทิพย์”

     ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา… ชื่อของ “อังคาร จันทาทิพย์” ปรากฏขึ้นในฐานะกวีหนุ่มผู้กวาดรางวัลมาแล้วอย่างมากมาย จึงไม่แปลกสำหรับคนในแวดวงวรรณกรรมจะได้ยินชื่อของเขาอีกครั้งในฐานะเจ้าของ รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือกวีซีไรต์ประจำปี ๒๕๕๖

     ด้วยฝีไม้ลายมือในเชิงกวีอันเป็นที่ยอมรับ ห้วงคิดคำนึงต่อประเด็นเชิงสังคมอันแหลมคม อาจบอกได้ว่า ณ ช่วงเวลานี้ เขาคือกวีหนุ่มอันดับต้นๆของประเทศไทยก็คงไม่ผิดหรอก

     จากกวีพื้นถิ่นอีสาน สู่คนทำงานหนังสือในเมืองหลวง กระทั่งคว้ารางวัลซีไรต์ รวมบทกวี “หัวใจห้องที่ห้า” ต้องการบอกอะไรกับสังคมบ้าง? และสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “กวี” ในสังคมปัจจุบันหายใจเข้า – ออกด้วยความรู้สึกและด้วยห้วงหัวใจเช่นไร? ท่ามกลางความวุ่นวายในสังคมสากลของมวลมนุษย์ห้องที่ห้าในหัวใจของเขาบรรจุ ซ่อนอะไรไว้?

     ท่ามกลางแวดล้อมของเรือกสวนไร่นาแห่งภูมิภาคอีสานของประเทศ อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ที่นั่นคือพื้นเพถิ่นกำเนิดของเขา

     “ผมเป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตจาก วาทกรรม – เกษตรกร เกษตรกรรม ความยากไร้ ผลักเราสู่ที่ทางใหม่ ไกลออกมา ซึ่งเขียนไว้ในบทกวี “ด้านทั้งสองของโลกเสมือน” ในหัวใจห้องที่ห้าด้วย”

     ในครอบครัวชาวนา เขาเป็นลูกคนสุดท้องโดยมีพี่ชาย-พี่สาวหลายคน ชีวิตที่เติบโตมาท่ามกลางแวดล้อมแบบสังคมเก่า ผลัดเปลี่ยนสู่เมืองหลวงของชีวิตยุคใหม่ บ่มเพาะเป็นมุมมองกลั่นกรองสู่บทกวี

     ก้าวแรกๆ ของชีวิตในทางกวีของเขาคือ การได้เปิดหูเปิดตาอ่านหนังสือจากร้านเช่าหนังสือ ห้องสมุดของโรงเรียน กระทั่งเข้าค่ายวรรณกรรมเยาวชน จนได้พบกับ “พระไม้” หรือ “อาจารย์ประยูร ลาแสง” ครูทางกวีนิพนธ์คนแรกในชีวิต โดยเขาได้เริ่มเขียนบทกวีตั้งแต่ช่วงเรียนอยู่มัธยมต้น

     “ทุกวันนี้การใช้ชีวิตของชาวนา พ่อแม่ต้องเหนื่อยขึ้นเพื่อให้ลูกทุกๆ คนได้เข้าไปเรียนหนังสือในเมือง” เขาเอ่ยถึงท่วงทำนองชีวิตในพื้นถิ่นบ้านเกิดของเขา “เพื่อ ให้มาเป็นมนุษย์ที่เท้าสองข้างเหยียบยืนอยู่ระหว่างเส้นแบ่งของโลกใบเก่ากับ โลกใบใหม่ ในที่สุดผมพบว่าการเป็นมนุษย์ที่เหยียบยืนอยู่ระหว่างพรมแดนของโลกทั้งสองใบ ระหว่างใหม่และเก่าที่เหลื่อมซ้อนกันอยู่นี่แหละคือที่ทางของผม และคงเป็นที่ทางของคนอีกหลายล้านคนในโลกและประเทศนี้”

     จากนั้นเส้นทางของชีวิตก็ได้พัดพาเขาสู่การศึกษาในเมืองหลวง และได้รู้จักกับเพื่อนๆ “กลุ่มศิลปวรรณกรรม” ที่รามคำแหง ได้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเขียน การอ่าน โดยในช่วงเวลานั้นที่รามคำแหงยังมีกลุ่มนักเขียน กวีรุ่นพี่หลายๆ คนแวะเวียนไปมาหาสู่กันอยู่ตลอด ทำให้มีบรรยากาศของการพูดคุยถกเถียงเรื่องวรรณกรรม เรื่องการเขียนบทกวีที่เข้มข้นและจริงจัง

     ต่อมากลุ่มก้อนคนเขียนหนังสือกลุ่มนี้ถูกเรียกขานว่า “กลุ่มกวีหนุ่มหน้ารามฯ” โดยในช่วงปี ๒๕๓๖ – ๒๕๔๐ ถือเป็นช่วงเวลาที่นิตยสารทั้งรายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือนยังมีพื้นที่ให้เผยแพร่ผลงานอย่างเปิดกว้าง ทำให้บรรยากาศโดยรวมของแวดวงกวีช่วงนั้นก็ถือว่าค่อนข้างคึกคักพอสมควร

     อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่า บรรยากาศความคึกคัดในแวดวงกวีได้ลดน้อยถอยลง โดยเฉพาะในแง่มุมคนในสังคมที่มองกวี และในช่วงเวลาที่ของการดำเนินชีวิตนอกบทบาทของกวี เขาก็ทำงานหนังสือโดยเป็นหัวหน้าบรรณาธิการอยู่ที่นิตยสารมาร์( Mars magazine) ด้วยท่าทีติดตลก

     “ปัจจุบันเขียนบทกวีเป็นงานหลัก ทำงานแมกกาซีนเป็นงานรอง” เพราะแม้กวีจะถูกมองจากสังคมด้วยท่าทีเช่นไร สำหรับเขาที่เกิดและดำเนินชีวิตมาในท่วงทำนองของบทกวีก็ยืนยันว่า “บทกวีเป็นเหมือนหญิงสาวที่ทำให้ตกหลุมรักตั้งแต่แรกพบ รักแล้วถอนตัวไม่ขึ้น”

     แต่สิ่งที่หลายคนรู้สึกถึงบุคคลที่ทำอาชีพ “กวี” คือกวีไส้แห้ง และคำถามที่ผุดขึ้นมาอย่างบ่อยครั้งคือ ในยุคนี้ใครยังคงอ่านบทกวี? เขายิ้มพร้อมตอบอย่างชัดเจนว่า เรื่องมูลค่าทางการเงิน จำนวนคนอ่านน้อยนั้นไม่ใช่สาระสำคัญ

     “ยังจะตอบคำถามเหล่านี้ด้วยคำตอบเดิมคือ ข้อสังเกตเหล่านี้ไม่ควรจะตกอยู่กับกวีแต่เพียงฝ่ายเดียว มันคงเกี่ยวพันไปถึงผู้อ่าน ผู้คนในสังคมปัจจุบันด้วยว่าให้ความสนใจอะไรอยู่เป็นพิเศษ? และส่วนตัวก็ยังเชื่อว่างานเขียนไม่ว่ากวีนิพนธ์ วรรณกรรม และศิลปะประเภทอื่นๆ อีกประเด็นคือมีความจำเป็นแค่ไหนที่กวีคนหนึ่งต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการ เขียนในสิ่งที่ไม่ได้เชื่อ ศรัทธา เพื่อตอบโจทย์ หรือเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการตลาด หรือเพื่อจะได้รับความนิยม”

     โดยเหตุผลที่เขารักและเชื่อในคุณค่าของบทกวีนั้นมาจากการที่เขามองว่า บทกวีสามารถส่งความรู้สึกถึงเรื่องราวที่อยากบอกเล่า อยากสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้อย่างดีที่สุด

     “ความน่าหลงใหล และความสั้นกระชับ แต่สามารถหลอมรวม หรือบรรจุเอาทุกสิ่งทุกอย่างทั้งอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด สีสัน บรรยากาศ จินตภาพที่ต้องการสื่อสารออกไปไว้อย่างครบถ้วน หมดจดงดงาม สั่นสะเทือนความรู้สึกตัวเองตอนเขียน และสั่นสะเทือนความรู้สึกผู้ที่ได้อ่าน ซึ่งวรรณกรรมประเภทอื่นๆ อาจจะต้องใช้ความยาวหลายหน้าหนังสือในการบอกเล่า แต่อาจปรากฏในกวีเพียงบทเดียว”

     ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาบนสายทางของกวี ชื่อของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงกวีจากผลงานที่เข้ารอบและคว้ารางวัลใน หลายเวทีระดับประเทศ ตั้งแต่รางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ นายอินทร์อะวอร์ดจนถึงซีไรต์

     ห้วงทำนองในหัวใจห้องที่ห้า

     “งานของอังคาร จันทาทิพย์ มีมิติที่หลากหลาย มองภาพหลายด้าน ทำให้เห็นความเป็นมนุษย์ที่เคลื่อนย้ายถิ่นฐานในหลายรูปแบบ ทั้งคนชนบทและชาติพันธุ์ต่างๆ เป็นการบอกให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ที่เหมือนโลกคู่ขนานของ สังคมแต่โบราณ ซึ่งอาจจะกลับทิศกลับทางกันบ้าง แต่มนุษย์ก็ยังมีความหวังอยู่ตลอดเวลา งานแบบนี้แหละที่มีพลังและทำให้วงการกวีฟื้นคืนกลับมา” นี่คือปากคำจากเจน สงสมพันธุ์ นายกสมาคมนักเขียนที่พูดถึงงานกวีของเขา

     ดุจเดียวกัน จากบทกวี “ความตายของสันติสุข” ที่ ชนะเลิศรางวัลกวีนิพนธ์ยอดเยี่ยม รางวัลนายอินอะวอร์ด ประจำปี 2554 แม้จะอยู่ในรูปแบบของบทกวี หากแต่เรื่องราวของมันคือบทอาลัยถึงการจากไปของชีวิตที่ชื่อ สันติสุข พรมดาว – เจ้าลิงแสมแสนรู้ สายตรวจของตำรวจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

     จึงไม่แปลกหากจะบอกว่า กวีของเขาจะสามารถเข้าถึงและสัมผัสกับจิตใจของผู้คนได้อย่างเป็นรูปธรรม เขาออกปากเลยว่า หมดสมัยแล้วที่กวีจำเป็นจะต้องเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก

     “ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีกวีอยู่จำนวนไม่น้อยได้เปลี่ยนแปลงลักษณะการนำเสนอบท กวีไปมาก บ้างก็มีการนำรูปแบบของพล็อตเรื่องเล่าเข้ามารองรับประเด็น เนื้อหา ซึ่งพล็อต เรื่องเล่าก็เป็นภาพและเรื่องราวของผู้คนธรรมดาสามัญที่เห็นกันอยู่ทั่วไปใน สังคมเมือง ชนบท ความขัดแย้ง ความเปลี่ยนแปลง ความไม่ลงตัวของวิถีชีวิต เพื่อง่ายแก่การสื่อสารถึงผู้อ่าน”

     กับรวมบทกวี “หัวใจห้องที่ห้า” ที่พิชิตรางวัลซีไรต์ปีล่าสุดมาได้ก็เช่นกัน เขาเผยถึง คอนเซ็ปต์ของเรื่องราวทั้งหมดซึ่งถูกวางโครงสร้างของความต่อเนื่อง การเชื่อมโยง ที่แต่ละเรื่องราวในบทกวีเป็นเสมือนจิ๊กซอว์ ที่จะค่อยๆ ถูกปะติดปะต่อให้เห็นภาพใหญ่ของปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เป็นอยู่ และเป็นไปในยุคสมัยปัจจุบัน

     มีตั้งแต่ประเด็นในระดับสากลของความขัดแย้ง สงคราม ความเชื่อ เชื่อมโยงสู่วิถีชีวิต ชาติพันธุ์ และการปะทะกันของวัฒนธรรมใหม่และเก่า โดยวัตถุดิบของงานมาจากข่าวสารมากมายที่เขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่เป็นหน่วย ย่อยของสังคมได้รับรู้

     “กวีในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เรื่องราว ประเด็นปัญหาเหล่านี้ ย่อมเป็นธรรมดาที่อยากบอกเล่าสื่อสารความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อสิ่งที่พบเห็น แต่จะบอกเล่า จะนำเสนออย่างไรให้ผู้อ่านได้เห็นความหลากหลายของเรื่องราวและประเด็นให้มาก ที่สุด”

     กับการทำงานในฐานะกวีนอกเวลางาน เขายังคงทำงานหนัก นับแต่การตระเตรียมข้อมูล หากจะเขียนถึงประวัติศาสตร์ การทำข้อมูลย่อมไม่ต่างจากนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์คนหนึ่ง ทั้งรวบรวมกระทั่งสังเคราะห์ออกมาเป็นบทกวี ถ่ายทอดผ่านปากกาที่หลายครั้งเขายังคงใช้ปากกาหมึกซึมเขียนด้วยลายมือแจ่ม ชัดลงบนผืนกระดาษ อย่างคนยุคเก่า ทว่าในอีกมุมเขาก็ยังใช้มือถือสมาร์ทโฟน และพิมพ์โพสต์บทกวีลงบนสถานะในเฟซบุ๊ก ราวกับตอกย้ำรอยต่อของยุคสมัยที่เขาเหยียบยืนอยู่

     “ปกติถ้าทำต้นฉบับบางทีก็ใช้ปากกา แต่บางทีก็พิมพ์ลงคอมพ์เลย มันเขียนร่างแรกไม่เสร็จอยู่ดี มันต้องมีร่างที่ 2 ร่างที่ 3 ซึ่งมันต้องเต็มที่และต้องละเอียดกับการทำงานเพื่อให้มันดีในความรู้สึกของ เราก่อน”

     เขาพูดถึง ใจความของหัวใจห้องที่ห้าเพิ่มเติม “เราต่างก็เห็นการดิ้นรน ปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ด้วยเงื่อนไข ปัจจัยที่แตกต่าง เช่น การอพยพ เคลื่อนย้ายของผู้คน แรงงาน มีทั้งที่หนีภัยสงคราม ความรุนแรงจากคนกับคนด้วยกัน และภัยพิบัติธรรมชาติ ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเกิดขึ้นเพราะโครงสร้างความสัมพันธ์แบบเดิมมัน ขาดหายและเปลี่ยนแปลงไป”

     ราว ๔ – ๕ ปีคือเวลาที่เขาใช้สร้างสรรค์รวมบทกวีเล่นนี้ มันเป็นช่วงเวลาที่เกิดจากการต้องไปค้นข้อมูลต่างๆ ทั้งข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ มนุษยวิทยา คติชมวิทยา รวมถึงโบราณคดี ส่วนประกอบทั้งหลายเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือในการมองและบอกเล่าถึงปัญหา เพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นบทกวี

     “บทกวีสมัยก่อนช่วงรุ่นผมอาจจะมีการสร้างข้อสรุปขึ้นมาชุดหนึ่งในการเป็น แว่นขยายที่อ่านปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและสังคมไทย ซึ่งผมรู้สึกว่าการใช้แว่นขยายเดียวมันไม่เพียงพอที่จะสามารถอธิบาย ปรากฏการณ์ทางสังคมที่สลับซับซ้อนในยุคปัจจุบันได้”

     ดังนั้น ชุดข้อมูลหลากหลายในการทำความเข้าใจกับปมปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นเครื่องมือ ในการบอกเล่าปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคมได้อย่างชัดเจนขึ้น โดยสิ่งที่ผู้อ่านจะได้รับจาก หัวใจห้องที่ห้านั้น เขาเผยว่าคือความหลากหลายของประเด็นที่สะท้อนภาพรวมของมนุษย์

     “มันมีเรื่องเล่าและประเด็นที่หลากหลาย ขณะเดียวกันในฐานะของคนสร้างงานผมก็มองว่ามันมีเอกภาพ เพราะมันเป็นเรื่องของมนุษย์ ซึ่งทำให้เห็นภาพบางอย่างของสิ่งที่ที่เกิดขึ้นกับสังคมยุคปัจจุบันที่ปัญหา หลายอย่างมันข้ามพรมแดนไปแล้ว”

     เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม บ่มเพาะผ่านการรับรู้ ผ่าน “หัวใจ” ความรู้สึกนึกคิด ในท่ามกลางวิกฤตการณ์หลายด้าน แต่หัวใจของเขายังคงใฝ่มองหาความสุขสงบ เสมือนอีกห้องที่ถูกสร้างขึ้นในชื่อ หัวใจห้องที่ห้า

     “คนเรามันมีหัวใจสี่ห้อง…ส่วนหัวใจห้องที่ห้ามันถูกบรรจุไว้ด้วยความเชื่อ เรื่องราวต่างๆ ประวัติส่วนตัวเล็กๆของแต่ละคน นอกจากนี้ มันยังมีความพิเศษ มันเป็นหัวใจที่คนมีความปรารถนาดีต่อกันด้วย

     “เพราะในสภาพสังคมปัจจุบันที่มันมีความขัดแย้งอยู่เยอะ ปัญญาเรื่อง3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชายแดนไทย – กัมพูชา เรื่องชนกลุ่มน้อย แม้แต่สิ่งแวดล้อม เหล่านี้ส่งผลต่อหลากหลายผู้คน มันไม่มีพรมแดนแล้วส่งผลกระทบกระเทือนต่อกันหมด ฉะนั้นการจะข้ามผ่านเรื่องเหล่านี้มันต้องอาศัยหัวใจห้องพิเศษ หัวใจห้องที่ห้าที่มันบรรจุไว้ซึ่งความปรารถนาดีต่อกัน”

     ผลงานที่ผ่านมา ของ อังคาร จันทาทิพย์

     รวมบทกวี คนรักของความเศร้า (๒๕๔๒)

     รวมบทกวี วิมานวงแดง (๒๕๔๓) (รางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ)

     รวมบทกวี ที่ที่เรายืนอยู่ (๒๕๕๑) (รอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์)

     รวมบทกวี หนทางและที่พักพิง (๒๕๕๒) (รางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ)

     บทกวี ความตายของสันติสุข รางวัลกวีนิพนธ์ยอดเยี่ยม รางวัลนายอินทร์อะวอร์ด (๒๕๕๔)

     บทกวี เสียงกบภูเขาที่ถนนข้าวสาร ได้รับรางวัลบทกวีดีเด่น รางวัลสมาคมภาษาและหนังสือ ประจำปี (๒๕๕๔)

     รวมบทกวี หัวใจห้องที่ห้า ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ๒๕๕๖ เซเว่นบุ๊คอะวอร์ด และรางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

ที่มา : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1378452916

http://www.manager.co.th/daily/viewnews.aspx?NewsID=9560000115481

 

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.