ปั่นจักรยานท่องสวนยาง…เที่ยวงานบุญเดือนสิบ ที่ชุมชนตะโหมด จ.พัทลุง
แดนน้ำตกดื่นดาษ ธรรมชาติเขียวขจี ประเพณีสองศาสนา
ยางพาราแผ่นสวย ร่ำรวยไม้ผล บุคคลใจดี บารมีพ่อท่านช่วย
ไปได้สวยกลุ่มทำนา มีสภาลานวัดเป็นของชุมชน
…เพราะเรื่องราวที่ปรากฏในคำขวัญของชุมชนตะโหมดนี้เอง ที่นำพานักเรียนชั้น ม.๓/๑ โรงเรียนรุ่งอรุณ ทั้ง ๒๔ คน และครูอีก ๓ คน ออกภาคสนามเดินทางมาเรียนรู้และใช้ชีวิตที่เทศบาลตำบลตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง แห่งนี้ตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน – ๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ โดยแยกพักอาศัยตามบ้านชาวบ้าน เพื่อศึกษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีของชาวใต้ ซึ่งเป็นโจทย์การเรียนรู้ในหน่วยวิชาบูรณาการสังคมศึกษา-ภูมิปัญญาภาษาไทยของระดับชั้น ม.๓ ในภาคเรียนนี้
ตะโหมดเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกันมาแต่ครั้งปู่ย่าตายาย โดยมีการใช้ “ฌาปนสถาน” ร่วมกัน แม้ว่าปัจจุบันชาวไทยมุสลิมจะมีฌาปนสถานใหม่แยกไปต่างหาก แต่ทุกวันสงกรานต์ชาวตะโหมดทั้งสองศาสนาจะมาทำพิธีกราบไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับร่วมกันที่ฌาปนสถานเดิมแห่งนี้ในงานประเพณีที่เรียกว่า “ประเพณีสองศาสนา”
พัทลุงเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ที่ไม่ติดทะเล ชาวตะโหมดจึงมีอาชีพหลักด้วยการทำสวนยางพารา สวนผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง สละ และการทำนา โดยใช้แหล่งน้ำตามธรรมชาติจากเทือกเขาบรรทัดในการทำการเกษตรและใช้ในครัวเรือน ชาวบ้านที่นี่จึงร่วมแรงร่วมใจกันดูแลรักษาผืนป่าและแหล่งน้ำไว้ โดยมีวัดตะโหมดและสภาลานวัดเป็นศูนย์กลางนำชาวบ้านร่วมกันดูแลและพัฒนาชุมชนของตน เช่น
การปลูกป่า…ทดแทนป่าเดิมที่กลายมาเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน เพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติไว้ ตามแนวคิดของคุณตาสวาท ทองรักษ์ ปราชญ์ชุมชน ที่ชวนชาวบ้านแบ่งที่ดินของตนเองไว้ปลูกป่า เช่น ไม้ตะเคียน ไม้จำปา เพื่อให้ป่ามีคนดูแลและยังเป็นมรดกไว้ให้ลูกหลาน ตามสำนวนคุณตาสวาทที่บอกว่า “ปลูกยางไว้จ่าย ปลูกไม้ไว้เก็บ”
ธนาคารน้ำ…การทำฝายชะลอน้ำเพื่อออมน้ำ ออมดิน และกักเก็บปุ๋ยชีวภาพตามธรรมชาติ โดยมีวิธีการสร้างฝายที่แฝงหลักธรรมของการอยู่ร่วมกันไว้อย่างแยบคายว่า การสร้างฝายเป็นกิจกรรมที่นำคนทุกเพศ ทุกวัย และทุกกลุ่ม มามีส่วนร่วม…การเรียงกระสอบทรายอย่างเป็นระเบียบสะท้อนให้เห็นว่าสังคมจะเข้มแข็งและมีพลังนั้นต้องมีกฎระเบียบ ไม่ใช่ทำอะไรตามใจตัว…วิธีการวางกระสอบทรายให้เกยกันสะท้อนถึงการอยู่ร่วมกันที่ต้องอิงอาศัยและมีน้ำใจต่อกันจึงจะเกิดพลัง…การสร้างฝายให้สูงเพียงครึ่งของลำธาร สะท้อนถึงความพอดี ไม่โลภ เพราะถ้าโลภ อยากกักเก็บน้ำไว้มากๆ แล้วสร้างฝายสูงถึงขอบตลิ่ง ในฤดูน้ำหลาก แรงดันน้ำจะทำให้ฝายพังทลายลงได้
ตลอดระยะเวลา ๔ วัน ๔ คืน ที่ชุมชนตะโหมด นักเรียนสัมผัสได้ถึงความมีน้ำใจของชาวตะโหมด ที่ไม่ว่าจะปั่นจักรยานผ่านไปบ้านไหนก็มีแต่คนเรียกกินน้ำ กินขนม วิถีชีวิตที่ผูกพันใกล้ชิดศาสนา ตลอดจนการมีสำนึกกตัญญูต่อบรรพบุรุษของชาวใต้ในงาน “บุญเดือนสิบ” งานประเพณีของชาวใต้ ที่ลูกหลานจะกลับมารวมตัวกันเพื่อทำบุญให้ตายายผู้ล่วงลับ…สิ่งต่างๆ เหล่านี้เองที่หล่อเลี้ยงให้ชาวตะโหมดเป็นชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ เปี่ยมด้วยน้ำใจ พึ่งพาตนเองและพึ่งพิงอาศัยกัน