PA150163
บันทึกรุ่งอรุณ,  ผลงานนักเรียน,  โรงเรียนมัธยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

ปลูกฝันให้หยั่งราก ร่วมฝากละครให้ผลิใบ

 

“ลูกสาวมาเข้าค่ายละครเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้ลูกชายก็มาเข้าอีก ลูกสาวบอกว่าค่ายละครทำให้เขาเติบโตขึ้น เขาได้รับฟังเพื่อนคนอื่น ได้เปิดใจ ได้ถ่ายทอดสิ่งที่เขาคิดให้ผู้อื่นฟัง ลดการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางลง กระบวนการละครเป็นกระบวนการที่ทำให้เด็กๆ ซึมซับสิ่งเหล่านี้ ขอบคุณมรดกใหม่ที่มาทำให้น้องๆ ทำความชื่นใจให้คุณพ่อคุณแม่”

ความประทับใจของผู้ปกครองหลังการแสดงละครของนักเรียนชั้น ม.๒
เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๖ ณ เรือนรับอรุณ โรงเรียนรุ่งอรุณ

 
IMG 4094วันศุกร์ที่ ๑๑-วันจันทร์ที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ นักเรียนชั้น ม.๒ ทั้งสามห้องมาร่วมเข้าค่ายละคร “ปลูกฝันให้หยั่งราก ร่วมฝากละครให้ผลิใบ” เพื่อฝึกฝนทักษะกระบวนการทำละครกับครูและพี่ๆ คณะละครมรดกใหม่ ของครูช่าง-ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ตลอด ๔ วัน ๔ คืน ที่โรงเรียน นักเรียนต้องความรู้จากการเรียนในหน่วยวิชาบูรณาการสังคมศึกษาและภูมิปัญญาภาษาไทย ผ่านโครงงาน “การสร้างบ้านแปงเมือง ราชธานีกรุงศรีอยุธยา” และการออกศึกษาภาคสนามเกาะเมืองอยุธยา แล้วนำข้อมูลและประเด็นที่สนใจมาเขียนเป็นบทความ พัฒนาบทความนั้นเป็นบทละคร เพื่อเสนอสาระและคุณค่าของเรื่องราวอย่างสร้างสรรค์ น่าสน และลึกซึ้ง ด้วยรูปแบบของละครเวที

หลักสูตรละครของคณะละครมรดกใหม่เป็นหลักสูตรที่บูรณาการทั้งสาระวิชาและสาระชีวิต เช่น ภาษาไทย ดนตรีไทย ดนตรีสากล นาฏศิลป์ ขับร้อง วรรณศิลป์ ทัศนศิลป์ ศิลปะการต่อสู้ ศิลปะการแสดง การออกแบบ การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ กระบวนการทำงานกลุ่ม ทักษะการเผชิญปัญหาและการแก้ไขปัญหา โดยใช้หลักอริยสัจ ๔ เชื่อมโยงไปสู่ความเข้าใจ

  • ละครคืออะไร (ทุกข์)
  • สาเหตุของละครเกิดมาได้อย่างไร (สมุทัย)
  • ละครมีไว้เพื่ออะไร (นิโรธ)
  • กระบวนการทำให้เกิดละครทำได้อย่างไร (มรรค)
  • การบรรยายและแยกกลุ่มปฏิบัติ (มรรค)…สถานการณ์ : ปัจจัยแรกที่ทำให้ละครสนุก เรื่องราวจากเรื่องเล่ายาก คัดเลือกเรื่องเล่ายากมานำเสนอ การเลือกคนฟังที่แท้จริง การเลือกธีม การสร้างตัวละคร กาย วาจา ใจ และการสร้างสถานการณ์ให้กับบทละครของกลุ่ม การรำ(โขน) ทำแล้วทำเล่าให้เรื่องราวเป็นละคร ละครจะดีต้องมีอุตสาหะในการซ้อม (แผ่วที่ผล ทำที่เหตุ)

หลังจากเข้าค่ายกันมาตลอด ๔ วัน ๔ คืน เช้าวันพุธที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๖ ก็ถึงเวลาที่นักเรียนได้นำสิ่งพวกเขาร่วมเรียนรู้ ร่วมทำ ท่ามกลางรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ น้ำตา ความขัดแย้ง การคลี่คลาย และการร่วมแรงร่วมใจ ออกมาเป็นละครเวที ๓ เรื่อง ให้คุณครู ผู้ปกครอง และเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ นักเรียนรุ่งอรุณได้ชมกัน

ก่อนขึ้นเวทีและเปิดประตูให้ผู้ชมเข้ามาในเรือนรับอรุณที่แปรสภาพเป็นโรงละคร (ชั่วคราว) ครูไก่จากบ้านเรียนละครมรดกใหม่ซักซ้อมคิวกับนักเรียนทั้งสามห้องเป็นครั้งสุดท้าย พร้อมกล่าวถ้อยคำที่เป็นทั้งคำสอนและขวัญกำลังใจว่า “ที่เราซ้อมกันมา คุณภาพละครครูให้ ๕๐% แต่คุณภาพใจของพวกเรา ครูให้ ๑๐๐% บนเวทีไม่มีอะไรผิด มีแต่คนไม่ทำ และอย่าลืมว่าละครเราต้องสนุก”


การแสดงเริ่มด้วยละครเรื่อง “ช่างศิลป์” ของชั้น ม.๒/๓ เรื่องราวการเปลี่ยนแปลงตัวเองของช่างศิลป์กับภารกิจก่อสร้างเจดีย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา


ต่อด้วยชั้น ม.๒/๒ กับละครเรื่อง “สูญ” บอกเล่าประวัติศาสตร์การเสียกรุงครั้งที่ ๑ เพราะการทรยศของคนในชาติ และจุดจบของผู้ทรยศ… “ขนาดบ้านเกิดเมืองนอนของเจ้า เจ้ายังทรยศได้ เหตุใดข้าจักไว้ชีวิตเจ้า”


ปิดท้ายด้วยละครเรื่อง “ปม” ของชั้น ม.๒/๑ ที่ว่าด้วยเรื่องของชายคนหนึ่งที่ต้องมาเผชิญกับปมที่ผูกไว้แต่วัยเยาว์ จนกลายเป็นพันธนาการที่เขาต้องหาทางคลี่คลาย

หลังการแสดงจบลง ครู นักเรียน และผู้ปกครองที่มาร่วมชมจนล้นห้องประชุมรับอรุณ ต่างปรบมือชื่นชมในความสามารถของนักเรียน ที่ทั้งเขียนบท แสดง ทำฉาก กำกับ แต่งเพลง และเล่นดนตรีสดประกอบที่เป็นการผสมผสานดนตรีไทยและดนตรีสากลอย่างลงตัว ละครดูสนุก มีสาระและสื่อประเด็นเรื่องได้อย่างชัดเจน รวมทั้งชื่นชมในความตั้งใจและความร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวของนักเรียนทั้งสามห้อง ที่ปรากฏอยู่ในการแสดงละครแต่ละเรื่อง

ข้อความบางส่วนจากสมุดบันทึกการเรียนรู้ของนักเรียน

“เราต้องทำไปทีละขั้นตอน แบ่งหน้าที่ แต่งบท ซ้อมแสดง และต้องมีการจัดลำดับงาน ทุกหน้าที่สำคัญ ทุกคนต้องช่วยกันทำถึงจะสำเร็จ”

“ห้องเราตอนแรกขาดกำลังใจเพราะตอนที่ร้องเพลง ห้องเราร้องไม่ได้ห้องเดียว แล้วตอนแต่งบท ห้องเราก็ไม่เสร็จห้องเดียว จากนั้นห้องเราก็มีปัญหา ทะเลาะกันตอนกินข้าวเที่ยง แล้วเราก็มาแก้ปัญหา ปรับความเข้าใจกันอีกรอบ”

“ขอขอบคุณทีมมรดกใหม่ที่มาช่วยต่อยอดสิ่งที่เราปลูกสร้างไว้ใน ๓ เรื่อง คือ ความเป็นไทย ความรักชาติ และความรักในเอกราช ก่อนหน้านี้เราพานักเรียนไปเรียนจากของจริง สถานที่จริง จิตวิญญาณจริง คราบอิฐ หิน ปูนจริง  น.ณ ปากน้ำ เคยเขียนไว้ว่า พวกเราถูกพม่าควักดวงใจไปหรือเปล่า วันนี้นักเรียนสะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าเราเคยถูกเผาเมือง แต่จิตใจของไทยยังมีอยู่”  อ.ผ่อง เซ่งกิ่ง หัวหน้าบ้านช่าง โรงเรียนรุ่งอรุณ

“วันนี้เด็กๆ ได้แสดงศักยภาพ ตั้งใจ และทะลายตัวเองออกมา ทะลายสิ่งที่เป็นปมของเขา ฝึกความกล้าหาญ และความอดทน”  ครูอารี จันทร์แย้ม ผู้ช่วยครูใหญ่มัธยม และครูประจำชั้น ม.๒/๑

“รู้สึกดีใจที่กระบวนการเรียนรู้ของมรดกใหม่ได้ส่งต่อ เพราะศิลปะไม่ใช่เพื่อพอกพูนให้ตัวเอง แต่ต้องส่งต่อให้ผู้อื่น เราได้ส่งต่อให้น้องๆ รุ่งอรุณ ได้เกิดการแลกเปลี่ยนกัน ตอนนี้น้องๆ คงอยากรู้ว่าพี่ไก่ให้กี่เปอร์เซ็นต์ อยากบอกว่ากี่ % ไม่รู้ แต่หน้าที่ของเราคือการกลับมาหาข้างในของเรา ถามตัวเองว่าวันนี้เราให้คนดูกี่ % ให้ตัวเองกี่ % เพราะเปอร์เซ็นต์ที่คนอื่นให้เราไม่สำคัญเท่ากับ % ที่เรารับรู้กับตัวเอง” ครูไก่จากคณะละครบ้านเรียนมรดกใหม่

 

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.