แนวคิดการศึกษาแนวพุทธ โดย ศ. นายแพทย์ประเวศ วะสี
บันทึกปาฐกถาพิเศษ
“ระบบการศึกษาแนวพุทธ ครั้งที่3”
โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี
วันเสาร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2546 เวลา 8.00 – 12.30 น.
ณ ห้องประชุม 101 ตึก 3 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การพูดคุยในวันนี้จะเน้นเรื่องการปฏิบัติเพราะเรื่องหลักการเราคุยกันมาหลายครั้ง มีปัญหาน้อย ก็มีคำถามว่าจะทำอย่างไรในสภาพการณ์ปัจจุบัน เรื่องดีๆจะเกิดขึ้นในสังคมเรา สำหรับพุทธศาสนานี้เป็นศาสนาแห่งการศึกษา เป็นศาสนาแห่งการเรียนรู้ มีกระบวนการเรียนรู้ที่ชัดเจน คือเพื่อความหลุดพ้นจากความบีบคั้นทั้งปวง เพราะฉะนั้นอุดมคติของการเรียนรู้ของเรา จึงอยู่ที่ว่ามนุษย์สามารถพบจุดร่วมกันได้เพื่อการเรียนรู้ที่ดีเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะแสวงหาและช่วยให้เพื่อนมนุษย์ได้พบการเรียนรู้ที่ดีให้ได้ นำไปสู่การหลุดพ้นจากการบีบคั้นทั้งปวงความ ร่มเย็นเป็นสุข สังคมที่เจริญ ในภาคปฏิบัติต้องจับหลักการในทางพุทธ แต่เอาสภาพความเป็นจริงเป็นตัวตั้งต้องให้หลักธรรมทางศาสนาเป็นตัวตาม
หลักการที่ 1. ศักดิ์ศรีและศักยภาพของคนทุกคนนั้นเท่าเทียมกัน
เรื่องศักดิ์ศรีและการเรียนรู้ของคนทุกคนเป็นศีลธรรมพื้นฐาน คือการเคารพศักดิ์ศรี และคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนที่เท่าเทียมกัน ตรงนี้ทางพุทธจะต่างจากพราหมณ์ ซึ่งแบ่งเป็นชั้นวรรณะและก็มีหน้าที่ท่องคัมภีร์ ส่วนประชาชนเป็นแค่ ศูทร จัณฑาลไป ไม่ได้เท่าเทียมกัน แต่มาทางพุทธทุกคนเท่าเทียมกันหมด พระพุทธองค์เป็นเจ้า แต่ว่าลงมาเป็นสามัญชน พวกเจ้าชายศากยวงศ์เมื่อบวชก็เท่าเทียมกันหมด เป็นศาสนาที่ท้าทายบอกกล่าวทุกคนมาพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง ด้วยการปฏิบัติไม่ได้แบ่งชั้นวรรณะทุกคนทำได้ สำนวนทางพุทธคือทุกคนมีสภาพพุทธะอยู่ในตัวและมีศักยภาพที่จะบรรลุธรรม ระบบการศึกษาปัจจุบันที่เรามีอยู่เป็นระบบพราหมณ์ มีการท่องคัมภีร์ มีไม่กี่คนที่ท่องได้ คนทั่วไปยากที่จะเข้าถึง ก่อให้เกิดระบบเกียรติยศที่คับแคบ สอบเอ็นท์ไม่ได้เหมือนตกนรก ถ้าสอบเอ็นท์ได้เหมือนขึ้นสวรรค์ ซึ่งสวรรค์นี้ก็ไม่จริง ผู้คนทั้งแผ่นดินยากลำบาก พ่อแม่เดือดร้อน ไม่ใช่ระบบที่เป็นวิทยาศาสตร์ประชาชน ความหมายของความเป็นวิทยาศาสตร์หมายถึง Public Knowledge คือ เป็นความรู้ที่ทุกคนเข้ามาพิสูจน์ได้ ว่าจริงหรือไม่จริง มาพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง แต่ถ้าเป็นความรู้ที่จำกัดอยู่เฉพาะคน เฉพาะหมู่ เฉพาะพวก ไม่ใช่วิทยาศาสตร์
ถ้าจะมองอีกแง่หนึ่งพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ประชาชน นี่เป็นจุดสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงปลดปล่อยศักยภาพของผู้คน ถ้าเราคิดว่าความรู้อยู่ในตำราเท่านั้น จะนำไปสู่ปัญหาต่างๆมากมาย เกิดการเรียนอย่างที่ไม่สอดคล้องกับชีวิตจริง ไม่ได้แปลว่าตำราไม่ดี แต่ตำราเป็นตัวประกอบไม่ใช่ฐาน ถ้าเป็นแบบนี้ ระบบการศึกษาทั้งหมดตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัยเป็นบ่อเกิดให้เกิดความเสื่อมเสียทางศีลธรรมโดยไม่รู้ตัวเมื่อนักเรียนเข้ามาในระบบก็จะรู้สึกว่าสถาบันเรามีเกียรติ ชาวบ้านไม่มีเกียรติ คนขายก๋วยเตี๋ยว คนขายของชำ ช่างผสมปูน เหล่านั้นมีเกียรติหรือเปล่า การเคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคน เป็นพื้นฐานนำไปสู่เรื่องอื่น ไม่ว่าเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี สิทธิเด็ก การพัฒนา การศึกษาที่ต้องให้คนทุกคน นี่เป็นศีลธรรมพื้นฐาน ซึ่งเราขาดในระบบการศึกษาปัจจุบัน รัฐธรรมนูญก็พูดไว้เรื่องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์แต่เป็นนามธรรมในรูปธรรมทำอย่างไร เราคิดว่าความรู้อยู่ในการปฏิบัติและอยู่ในผู้ปฏิบัติ เป็นโครงสร้างทางปัญญาเป็นความจริง คนที่ปฏิบัติสิ่งใดก็จะมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ
ท่านทั้งหลายก็มีประสบการณ์อยู่ในตัวทุกคน คนไทยตั้ง 60กว่าล้านคนใครทำอะไรก็ มีความรู้นั้นๆ ผมเลยว่าลองมาทำฐานข้อมูล ว่าใครมีความดีอะไรบ้าง เขาทำอะไรเก่งบ้างทุกคนมีความดีเอาตัวนี้เป็นฐานข้อมูลตัวความรู้ คนจะอยากทำความดีและความดีก็อยู่ในระบบข้อมูลเราเรียกว่า Human Mapping แผนที่ศักยภาพของมนุษย์ ซึ่งจะมีมากมายเพราะความรู้มีอยู่ในตัวคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน การที่เอาของไม่เหมือนกันมาเจอกันจะเกิดของใหม่เกิดนวัตกรรมขึ้นเหมือนน้ำที่ประกอบด้วย H2O ไฮโดรเจน เจอกับออกซิเจน น้ำเป็นของใหม่ที่ไม่ใช่คุณสมบัติของไฮโดรเจนกับออกซิเจนเลย ทุกคนจะมีศักดิ์ศรีมีความภูมิใจในตัวเอง ปลดปล่อยศักยภาพของ ประชาชน ผู้เรียน และของอาจารย์ด้วย ถ้ามัวแต่ไปติดอยู่ในตัว ความรู้ที่อยู่ในกระดาษจะเกิดความลดหลั่นที่เรียกว่า Unequal Relationship เป็นวรรณะ ครูที่ดีของเราทุกคนอยู่ตรงนี้ ไม่ว่าเขาจะเข้าโรงเรียนหรือเปล่า เขาจะได้ปริญญาตรี โท เอก หรือเปล่า ไม่สำคัญแต่เขาเป็นครูที่ดีที่สุด
โยมมารดาของพระธรรมปิฎก ไม่เคยเข้าโรงเรียน อาจารย์เจิมศักดิ์เขียนหนังสืองานศพแม่ว่าแม่นั้นเป็นชาวบ้านไม่เคยเข้าโรงเรียนเลยแต่ว่าสอนได้สารพัดอย่าง การที่แม่สอนลูกได้ดีนั้นเพราะแม่สอนลูกจากสิ่งที่แม่มีประสบการณ์จริงๆ มีของจริงๆ ขณะที่ครูนั้นสอนจากสิ่งที่ครูไปอ่านหนังสือมาแล้วเอามาสอน และถ้าเรามีระบบข้อมูล ต่อไปใครอยากทำอะไรก็กดดูว่ามีใครเชี่ยวชาญเรื่องนี้ไหม อาจอยู่ที่สตูล ที่สกลนคร ก็จะเกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ ตรงนี้เรียก Knowledge Management แล้วสนุก เรียนง่าย ท่านทั้งหลายคงอ่านนวนิยายกันทุกคน อ่านสองวันสองคืน อ่านจบจำได้หมดสาระเข้าไปในตัวหมดโดยอัตโนมัติไม่เหมือนท่องตำราสี่ห้าร้อยหน้าต้องขีดตรงนั้นขีดตรงนี้ขีดทุกหน้าแต่จับประเด็นไม่ได้ แต่ว่าในการปฏิบัตินั้นความรู้มันอยู่ในเนื้อในตัวปฏิบัติอะไรมันก็ทำได้เกิดความมั่นใจ เมื่อบอกว่าเราเรียนนวนิยายมันเรียนง่ายมันมีชีวิตผู้คนอยู่ในนั้น ขณะที่เรามี life Story ของคนไทยนี่กว่า 60ล้านคน น่าสนใจทั้งนั้น ถ้าเรามี Mapping ตัวนี้จะรู้ว่าคนไทยที่ไหนทำอะไรเก่งบ้างเราก็เอาเข้าสู่ระบบข้อมูลคนก็จะได้กินกับข้าวอร่อยขนมอร่อยจากที่โน่น ที่นี่ ที่นี้เศรษฐกิจก็หมุนเวียน ประเทศจะเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจแบบวัฒนธรรม เศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตของผู้คนซึ่งจะไม่มีวันตก จะเกิดความมั่นคงในเรื่องเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับสังคม จิตใจ
หลักการที่ 2. มุ่งให้เกิดชุมชนเรียนรู้ (Learning Community)
หลักทางพุทธนี่มุ่งไปที่การเกิดชุมชนเรียนรู้ Learning Community คำว่าสงฆ์ หรือ สังฆะ แปลว่าชุมชนเรียนรู้ ตอนนี้เราศึกษาเรื่องความเป็นชุมชนกันมาก ทั้งในและต่างประเทศก็รู้แล้วว่าถ้าชุมชนเข้มแข็งมีการรวมตัวกันจะแก้ปัญหาทุกเรื่อง ทั้งทางเศรษฐกิจ จิตใจ ครอบครัว ชุมชน สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สุขภาพ การเรียนรู้ต้องนำไปสู่ชุมชนเรียนรู้ นำไปสู่ชุมชนเข้มแข็ง ไม่ได้เป็นตัวใครตัวมัน ปัจจุบันลัทธิปัจเจกชนนิยมสุดโต่งมันเกิดขึ้นโดยถือตัวตนมากมาย ความเป็นส่วนตัว ทำให้เกิดการแยกไปเป็นเดี่ยวๆ แล้วก็หมดพลังที่เผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เผชิญกับวิกฤต แต่ความเป็นชุมชนนี่เป็นภูมิคุ้มกัน เมื่อเอาหลักการที่ 1 และ 2 มารวมกันเป็นหลักการทีเรียกว่า INN I คือ Individual ถือว่าคนทุกคนมีความรู้อยู่ในตัว มีศักยภาพ ตัว N Node คือคน กี่คนก็แล้วแต่มารวมตัวกัน เป็นคนที่ถูกใจกัน ข้ามพรมแดนขององค์กร ด้วยความสมัครใจไม่เป็นทางการ มีความสนใจร่วมกัน จำนวนน้อยพอรู้กันทั่ว ในสังคมขนาดใหญ่เราทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเป็นกลุ่มเล็ก 5 – 6 คนแล้วพบกันเป็นประจำเรารู้ถึงกันหมด มีความเอื้ออาทรกัน อยากเรียนรู้ร่วมกัน มันทำให้เกิดความสุข และความสร้างสรรค์อย่างยิ่ง หลุดพ้นจากความบีบคั้นทางสังคม ภาษาอังกฤษเรียก Community of Practice ตั้งแต่สองคนขึ้นมามารวมตัวกัน รวมคิดรวมทำก็ถือว่ามีความเป็นชุมชน ก็อย่างที่ท่านทั้งหลายทำมี Node หลาย Node ต่างๆกันที่กำลังเกิดขึ้น ทีนี้ความเชื่อมโยงจะเป็นระหว่างบุคคลก็ได้ Node ก็ได้ คือ N ถัดไปที่เรียกว่า Network อย่างในสมองมี Neural Network ก็เป็นโครงสร้างที่วิจิตรที่สุดในจักรวาล การเรียนรู้จะสูงมาก เซลสมองตัวหนึ่งอาจจะอยู่หลายเซอกิตอยู่กับเซอกิตนี้ทำหน้าที่อย่าง ตัวเดียวกันนี่ไปอยู่เซอกิตนี้ทำหน้าที่อีกอย่าง ตัวNode อาจไปเชื่อมโยงกับ Network ก็ได้ กับโครงสร้างทางดิ่งก็ได้ขอให้มีเชื่อมโยงจะทางดิ่ง ทางราบ ทางเฉียง ทางใกล้ ทางไกล เหมือน ไม่เหมือน ได้หมดเลยก็จะเกิดโครงสร้างที่เรียกว่า INN ทุกคนมีความสำคัญหมด ทุกคนมีความรู้อยู่ในตัวมีความรู้มารวมตัวกัน พอมาเชื่อมโยงกันเป็น Network ไม่มีใครdominate ใคร ผู้คนมีอิสระจะสบายใจมีความสุข ใน Node จะมีความสุขเขาบรรยายไว้ว่า ประหนึ่งบรรลุนิพพาน เป็นนิพพานทางสังคมเพราะว่าความเห็นแก่ตัวลดลง ความเอื้ออาทรมีมากขึ้น มีความเปิดเผย ความจริงใจ มีความเชื่อถือกัน ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความสุขทำอะไรง่ายไปหมด ต้นทุนทำอะไรจะต่ำมาก และเป็นโครงสร้างใหม่ ที่ไม่ได้ทำลายโครงสร้างเก่า โครงสร้างเก่าถึงแม้มันป่วยก็จริงแต่มันมีชิ้นส่วนดีๆอยู่ในนั้น อาจมีกระเบื้องมีเหล็กมีไม้ที่เป็นประโยชน์ เมื่อมีอย่างนี้เข้าไปช่วยเชื่อมโยงของเหล่านั้นก็มีประโยชน์ ตรงนี้มันปรับเป็นโครงสร้างใหม่ไปในตัวจะเกิดพลังมาก การที่จะเคลื่อนที่ต่อไป ลองทำดูผิดไม่เป็นไร ขอให้ทำแล้วเรียนรู้จากที่ทำ ที่เราเป็นคนมาได้เพราะเราเรียนรู้จากการทำผิดมา เราเดินได้เพราะเราเคยหกล้มมาก่อน ไม่มีวิธีอื่นเลยนอกจากหกล้มมาก่อนใช่ไหม ขี่จักรยานเป็นก็ไม่มีวิธีอื่นนอกจากเคยหกล้มมา เราจะไปท่องไปจำว่าการเดินคืออะไรต้องใช้กล้ามเนื้อกี่มัดชื่ออะไรบ้างกล้ามเนื้อทำอะไรกระดูกมีกี่ชิ้นก็เดินไม่ได้ เราไปเรียนแบบนั้นทำให้ยาก เราได้ความรู้จากการปฏิบัติทำเป็นจริง ผลจากการปฏิบัติจะบอกได้ว่าถูกหรือผิด ตรรกะไม่มีทางบอกว่ามันดีจริงเพราะมันไม่ได้บอกความเป็นจริงทั้งหมดนอกจากปฏิบัติแล้วได้ผลดีมีความเป็นจริง
หลักการที่ 3. การศึกษาคือชีวิต ชีวิตคือการศึกษา
การศึกษาคือชีวิต ชีวิตคือการศึกษา ยืนที่เดียวกัน แต่ว่าการศึกษาในโลกปัจจุบันนี้ชีวิตก็อย่างหนึ่ง การศึกษาก็อย่างหนึ่ง แล้วการศึกษาก็เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ตรงนี้นี่การปฏิบัติคือพยายามย้ายการศึกษาจากการท่องเขียนให้มาอยู่ในวิถีชีวิตร่วมกัน และเรียนรู้จากวิถีชีวิตร่วมกันให้มากที่สุด โรงเรียนในกรุงเทพอาจจะทำได้ยากไม่ใช่การทำได้ทันที แต่ต้องหาวิธีทำ
หลักการที่ 4. การอยู่ร่วมกันด้วยสันติในสังคม
วัตถุประสงค์ของโลกขณะนี้ไม่ว่าของพุทธก็ตาม ของใครก็ตามคือการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และ มนุษย์กับธรรมชาติ ศีลหรือการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ แต่ถ้าเราเอาศีลไปบอกว่าคือการให้ศีลและรับศีลมันก็ให้กันแล้วก็เสร็จเรื่อง พระก็กลับเข้ากุฏิไป ทำอะไรเสร็จก็หมดภาระ คนรับก็วันๆเป็นหมื่นๆคน ความหมายของศีลคือไม่ทำร้ายกันเป็นการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทีนี้สังคมเป็นอนิจจัง สังคมปัจจุบันต่างจากสังคมในพุทธกาลเยอะมาก ในสมัยนั้นเป็นโครงสร้างชั้นวรรณะ โครงสร้างทุนนิยมก็ยังไม่มี สมัยนี้โครงสร้างซับซ้อนมาก แล้วตัวเงินทุนนิยมที่เข้ามามันหนักหนาสาหัสมันทำลายทุกอย่างอย่างรุนแรง ยากที่จะหลุดพ้นไปได้ วิถีเป็นอย่างStatic คือให้ศีลรับศีลอยู่อย่างนั้นเราก็ไม่ได้เรียนรู้ ผมคิดว่าต้องดูความเป็นอนิจจังของสังคมไม่ว่าสังคมมันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
หลักการที่ 5.ใช้สภาพความเป็นจริงในสังคมเป็นตัวตั้งให้การเรียนอยู่ในชีวิตและสังคม
ในสภาพสังคมที่มันเปลี่ยนให้ได้ เผชิญกับความเป็นจริง ตรงนี้ก็เป็นกระบวนการทางปัญญา เราต้องเผชิญกับสิ่งที่มันซับซ้อนให้ได้ อยู่กับมันเรียนรู้จากมัน เปิดอายตนะทั้งหมดไม่มีทางที่จะรู้มันได้โดยแยกส่วน ฉะนั้นต้องเรียนในสังคมและพร้อมกับสังคม สังคมจะเรียนเร็วจากเหตุการณ์ ถ้าเราจะทำการเรียนให้มันอยู่ในชีวิตอยู่ในสังคมนี่จะทำอะไรได้บ้าง ครูควรจะไปอยู่ กับชาวบ้านจะได้เข้าใจไม่อย่างนั้นสิ่งที่มันเข้ามาสู่ความคิดความรู้สึกมันยังเหมือนเดิมๆซึ่งเป็นลักษณะชั้น วรรณะ เป็นสิ่งที่ไม่เคารพศักดิ์ศรี คุณค่า ความเป็นคนของคนทุกคน เรารู้แต่เทคนิคแต่ไม่มีมิติทางมนุษย์ Human Dimension และพวกเราโตขึ้นมาโตมาเป็นเทคนิคหมดเลย มันจะเป็นอย่างนั้นทุกอาชีพ ถ้าครูไม่ระวังให้ดีก็จะเป็นการเอาเทคนิคการสอนเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาตัวมนุษย์เป็นตัวตั้งแล้วงานมันจะติดขัด เพราะฉะนั้นถ้าจะทำเรื่องนี้นี่ ทุกโรงเรียนน่าจะลองส่งครูไปอยู่กับชาวบ้าน จะได้เรียนรู้ เพื่อพยายามทำในการเอาชีวิตและการเรียนรู้เข้าไปด้วยกัน
โรงเรียนกับบ้านถ้านักเรียนหิ้วแต่การบ้านกลับไป กลับไปบ้านก็ไม่ได้คุยกับพ่อแม่ พ่อแม่คุยด้วยก็หัวเสียหงุดหงิดมากบอกอย่าคุยมากต้องทำการบ้าน ถ้าเราลดพวกนี้ลง บางแห่งครูเขาให้มาเล่าเมื่อวานหนูทำอะไรกับพ่อแม่บ้าง ช่วยพ่อแม่ทำอะไร ได้คุยกับใคร ได้เลี้ยงน้องหรือเปล่า ได้ช่วยการบ้านหรือเปล่า ถ้าอย่างนี้นี่พ่อแม่ก็มีส่วนร่วมได้ พ่อแม่คุณครูรู้ถึงกันบ้านกับโรงเรียน
โรงเรียนกับชุมชน ในชุมชนจะมีครูเยอะแยะไปหมด ครูที่เป็นชาวบ้าน เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ที่ช่วยสอนเด็กให้เรียนจากเขา ที่จริงโรงเรียนกับครูนี่น่าจะไปทำวิจัยเรื่องชาวบ้าน ใครทำอะไร ชีวิตเขาเป็นอย่างไร เขาทำอะไรดีมีแง่มุมอย่างไร เรียน Life Story ของผู้คนได้ข้อมูลมาด้วยเป็นการวิจัยมนุษย์ถ้าทุกโรงเรียนทำเราก็ได้ข้อมูลทั้งประเทศ เป็น Human Mapping เอามาเข้าระบบข้อมูลทางอิเลคโทรนิกส์คนก็จะรู้จักกันหมด รู้ในเรื่องความดีศักยภาพของผู้คน
โรงเรียนกับวัด ที่เรียกว่า บ-ว-ร บ้าน วัด โรงเรียน ถ้ามันกลับกันนี่มันได้ผลเร็วกว่า คือ โรงเรียนเป็นตัวตั้ง กลายเป็น ร-ว-บ โรงเรียน วัด บ้าน มันเร็วกว่าเพราะโรงเรียนเป็นที่เรียนรู้มีครู เป็นแหล่งเรียนรู้เพราะว่าชุมชนนั้นจะดีต่อเมื่อมีการเรียนรู้เป็นหัวใจ ตรงนี้ก็ลองทำงานดู โรงเรียน วัด บ้าน โรงเรียนกับสังคมทางกว้าง การสื่อสารทั้งหมดที่มีอยู่นี่ก่อผลลบกับผู้คนมากกว่าผลบวก คนเกิดกิเลสตันหามีข่าวเต็มไปหมดการเรียนรู้นี่ต้องรู้จักพิจารณาข่าวสารถ้าระบบโรงเรียนทั้งหมดนี่มาดูเรื่องข่าวสารอันไหนดีไม่ดีมีผลกระทบอะไรใช้โยนิโสนมสิการเข้าไป จากการที่รับเข้ามานี่เกิดการไตร่ตรอง เกิดการกรอง พวกเราไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวท่านก็รับสั่งถึงเรื่องนี้ ท่านก็บอก “มันเดินเข้าไปในหัวของมนุษย์” เราก็ไม่เข้าใจว่าท่านหมายถึงอะไร จริงๆถ้าเราไม่กรองด้วยการคิดมันเดินเข้าไปเลยในหัวคนเต็มไปหมด คนเราก็เป็นทาสกับของพวกนี้ทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นการศึกษานี่ก็ต้องฝึกให้มีเครื่องกรองข้อมูลข่าวสาร ระบบโรงเรียนเราเป็นระบบใหญ่ทั้งประเทศ ถ้าทำตรงนี้ก็จะเป็นเครื่องมือที่ feedback กลับไปยังระบบข่าวสารด้วย
หลักการที่ 6. การเรียนรู้เพื่อพัฒนาอย่างได้ดุลยภาพ
ศีลคือความเป็นปกติการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ความเป็นปกตินี่คือดุลยภาพ การเชื่อมโยงองค์ประกอบต่างๆบูรณาการก็จะเกิดดุลยภาพ ดุลยภาพคือความเป็นปกติและยั่งยืน ถ้าเราทำอย่างแยกส่วน ไม่ว่าอะไรแยกส่วนก็ตามจะนำไปสู่การเสียดุลเสมอ เราพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียวก็จะนำไปสู่เสียดุล เราแยกชีวิตออกจากการศึกษา ก็จะนำไปสู่การเสียดุล การพัฒนาอย่างบูรณาการและยั่งยืน ประกอบไปด้วยองค์ประกอบต่างๆคือเรื่อง อาชีพ ต้องให้มีสัมมาอาชีวะเป็นพื้นฐานถ้าคนขาดตัวนี้เราพยายามที่จะไปพร่ำให้ศีลเท่าไรก็ยากมาก การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญวิถีชีวิตของคนนี่พอมีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้วชีวิตมันดีขึ้น ที่อำเภออุบลรัตน์พระสงฆ์ 80รูป รวมตัวกันเป็นสภาสงฆ์แนะนำชาวบ้านเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกันกับชาวบ้าน ในอำเภอก็ค่อยๆขยับตัวค่อยๆเปลี่ยนแล้วจะเกิดสุขภาพ สุขภาวะ ทุกๆด้าน ทางเศรษฐกิจนี่หายจน มีกินอิ่มทุกคน มีเงินออม สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ปลาในแม่น้ำเพิ่มขึ้น ต้นไม้เพิ่มขึ้น มีการรวมตัวทางสังคมเข้มแข็ง รวมตัวร่วมคิดร่วมทำ ดูแลเรื่องความปลอดภัยเพราะในตำบลดูแลกันได้ไม่มีการลักขโมยจี้ปล้น ยาเสพติด วัฒนธรรม ที่จริงทั้งหมดนี่เป็นวัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรมหมายถึงวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนในสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆซึ่งไม่เหมือนกันจึงมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมไปตามที่ต่างๆที่จริงการพัฒนาควรใช้วัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง เพราะถ้าใช้เศรษฐกิจเป็นตัวตั้งจะเกิดความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม (Unequal Relationship) ทุกจังหวัดจะเป็นบริวารของกรุงเทพ กรุงเทพเป็นบริวารของนิวยอร์ก โตเกียว ลอนดอน เป็นความสัมพันธ์แบบนี้ ถ้าเอาวัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง ไม่มีใครเหนือใคร ทุกชุมชนท้องถิ่นมีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของเขาที่แตกต่างกัน คนมีเกียรติเสมอกัน มีศักดิ์ศรีเพราะฉะนั้นเรื่องประชาธิปไตยนี่อย่าไปมองเฉพาะเรื่องการเลือกตั้ง เรื่องวัฒนธรรมนี่มันทำให้เกิดความเสมอภาค ฉะนั้นการพัฒนาอย่างบูรณาการและยั่งยืน วัฒนธรรมต้องเข้ามาศาสนาธรรม เราพัฒนาไปตามวัตถุเท่านั้นไม่ได้ เรื่องความสุข เรื่องของจิตใจ การนึกถึงคนอื่นเป็นเรื่องสำคัญ การพัฒนาไปเจอความเจริญสูงสุดทางวัตถุแต่ผู้คนขาดความสุข เรื่องความดีถ้าขาดจะขาดความสมบูรณ์ในตัวเองทำไงก็ไม่สมบูรณ์ ส่วนที่ขาดมันเป็นเรื่องของคุณค่าซึ่งเป็นเรื่องจิตวิญญาณ Spiritual จะใช้คำอะไรก็แล้วแต่ถ้าอยู่ในธรรมชาติมนุษย์จะสัมผัสเอง อยู่กับธรรมชาติจะรู้ว่าแผนดินนี้มีคุณ มีพระแม่ธรณี ภาษาอังกฤษเรียก Mother Earth ถ้าเมื่อไรมีคำว่า mother หรือ แม่ แปลว่าเป็นที่มีจิตวิญญาณเป็นคุณค่า แม่น้ำที่มีบุญคุณเรียกพระแม่คงคา ต้นไม้มีบุญคุณเรียกว่ามีรุกขเทวดาเป็นคุณค่า Spiritual เป็น Value แต่พอไม่เข้าใจเอาวิทยาศาสตร์ไปวิเคราะห์ สมมติวิเคราะห์ต้นไม้ก็เจอ คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ฟอสฟอรัส อะไรก็แล้วแต่ ไม่เห็นมีเลยรุกขเทวดา ก็สรุปว่าไม่มี แต่เครื่องมือที่ใช้มันดูวัตถุไม่ใช่นามธรรมมันก็ไม่พอดีกันมันก็ไม่เจอ ไม่เจอก็เลยสรุปว่าไม่มี เมื่อไม่มีก็ไม่เชื่อ เมื่อไม่เชื่อก็ทำลายได้ ถ้าอะไรที่มีคุณค่าเราไม่ทำลาย ยังไงมนุษย์ก็ไม่ทำร้ายแม่ของตัวเอง ฉะนั้นมันขาดตรงนี้ไม่ได้ จริงๆถ้าการเรียนรู้ของเรานี่ทำให้เรามี Receptor กลับคืนมาเพราะตอนนี้มันถูกทำลายไปหมด มีวัตถุที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์เต็มไปหมดเลยเราเห็นวัดวาอาราม เห็นโบสถ์ เจดีย์ พระพุทธรูป หรือคนคริสต์เห็นไม้กางเขนอะไรก็แล้วแต่ จิตแล่นเข้าสู่สิ่งสูงสุดจึงได้เข้าใจว่าทำไมสถาปัตยกรรมพวกนี้จึงมียอดชี้ขึ้นบน เพื่อที่จะบอกว่ามนุษย์นี่เข้าถึงสิ่งสูงสุดได้ เราก็จะมีเครื่องรับเหล่านี้เราเห็นความหมายเต็มไปหมดเลยแต่ถ้าเราไม่มีเครื่องรับเหล่านี้สิ่งต่างๆก็เป็นเพียงซากอิฐซากปูนไม่มีความหมาย ถ้าเราสร้างเครื่องรับตัวนี้จิตใจเราสัมผัสธรรมะ สัมผัสธรรมชาติจะเกิดความประณีต เกิดความลึกซึ้ง เกิดความสุขอันลึกซึ้ง Spiritual Happiness ตัวความสุขจากจิตที่เข้าถึงธรรมถ้าฝึกไว้มันจะรู้สึกตลอดเวลาว่ามีธรรมะอยู่ในทุกคนทุกแห่งแล้วก็จะเข้าใจที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา สุขภาพ จริงๆเป็นผลจากทั้งหมดถ้ามันถูกต้องมันก็เกิดสุขภาวะรวมถึงทำให้ปลอดยาเสพติด ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการเรียนรู้ การเรียนรู้ตรงกลางที่เชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าปราศจากการเรียนรู้จริงก็ไม่เกิดการเชื่อมโยง การเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องของการท่องหนังสือ แต่ว่ามันไปสู่การปฏิบัติ เรียนรู้ร่วมกัน ทุกคนมีความสำคัญหมดเรื่องทั้งหมดนี่ใครคนใดคนหนึ่งเรียนรู้ก็ไม่พอเพราะมันสัมพันธ์กันคนไม่ได้เรียนรู้ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา และที่เน้นเรื่องการปฏิบัติเพราะมันเป็นของจริง ทำได้จริง มันมีอุปสรรคความยากก็ต้องเอาชนะอุปสรรคให้ได้ ซึ่งการท่องหนังสือเสร็จแล้วได้คะแนนก็ไม่รู้ว่าทำเป็นจริงหรือเปล่า มันไม่ได้เผชิญของจริงๆ การเรียนรู้ร่วมกันในทางปฏิบัติ Interactive Learning Through Action ทุกฝ่ายทั้งหมดรวมกันแล้วเกิดผลดีคือเกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการเกิดดุลยภาพเกิดความเป็นปกติขึ้น เรื่องการพัฒนาอย่างบูรณาการในพื้นที่ ถ้ามันเกิดทั้งจังหวัดท่านทั้งหลายลองนึกภาพมีคนร่วมมือทำเรื่องพัฒนาอย่างบูรณาการครบ มีสัมมาอาชีพเต็มพื้นที่ทั้งจังหวัด มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัย สังคมมีความเข้มแข็ง วัฒนธรรม ศาสนธรรม สุขภาพดี ท่านนึกภาพสิว่าจังหวัดทั้งจังหวัดคือมหาวิทยาลัยในรูปใหม่เป็นมหาวิทยาลัยชีวิตที่ทุกคนเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน ได้ผลด้วย ทำด้วย เกิดการพัฒนาทุกด้านพร้อมกัน และทุกคนเป็นทั้งครูเป็นทั้งนักเรียน ทั้งผู้ปฏิบัติเกิดอยู่ในนั้นหมด ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกจังหวัดคนอยากเรียนก็ไม่ต้องเดือดร้อนมาสอบเอ็นท์สอบอะไร การเรียนก็จะมีเต็มทั้งพื้นที่ ทุกคนมีความหมายมีเกียรติ ฉลาดคิด อยู่ได้จริง หายจนจริง มีความดีความถูกต้อง มันก็เจริญจากมหาวิทยาลัยมาเป็นมหาวิชชาลัย ถ้าใครอ่านพระมหาชนกสุดท้ายในพระราชนิพนธ์มีมหาวิชชาลัย วิชชาเป็นศัพท์ทางพุทธ ช.ช้าง 2ตัว หมายถึงปัญญา ถ้าวิชา หรือ วิทยา หมายถึงความรู้ ความรู้กับปัญญานี่มันเหลื่อมกัน ความรู้อาจจะรู้เป็นเรื่อง แต่ปัญญานี่รู้ทั้งหมดทั้งรู้ตัวเองด้วย การเรียนในโลกนี้เกือบไม่มีเลยที่เรียนแล้วรู้ตัวเอง มีแต่รู้วิชานอกตัวหมด ถ้ารู้และเห็นด้วยก็จะรู้ความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างตัวเองกับคนอื่นและกับสิ่งแวดล้อม มันก็กลายเป็นจริยธรรม ฉะนั้นถ้าคำว่าปัญญาจะมีคำว่าจริยธรรมอยู่ข้างในนั้น แต่ถ้าเป็นความรู้ไม่แน่โดยมากไม่มีจริยธรรมอยู่ในนั้น และการศึกษาทั้งหมดศึกษาความรู้ทั้งนั้นไปไม่ถึงปัญญา คำว่ามหาวิชชาลัยมันมีปัญญามีความถูกต้องอยู่ในนั้นด้วย จังหวัดทั้งจังหวัดจะเป็นมหาวิชชาลัยและถ้าเราร่วมกันทำเป็นทุกจังหวัดก็เท่ากับเต็มบ้านเมือง เกิดความร่มเย็นเป็นสุข การเรียนรู้เป็นหัวใจเลยของการที่จะเกิดทั้งหมดนี่
หลักการที่ 7. สิกขาศึกษา
หลักการการเรียนรู้ สุตมยปัญญา จิตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา สุตมยปัญญา คือการรับรู้ อายตนทั้ง 6 จะเป็นการรับรู้จาก การฟัง การอ่าน การปฏิบัติ
จินตมยปัญญา เป็นการวิเคราะห์ สังเคราะห์ สิ่งที่รับเข้ามา เราดูตัวเราเองก็ได้หน้าที่ของสมองเพื่อรับรู้ความจริง ถ้ามันรับรู้ความไม่จริงมันก็ไม่มีทางไป ปัญญาก็ไม่เกิด ต้องรับรู้ความจริง แต่สิ่งที่รับรู้เข้ามานี่มันจะเอามาวิเคราะห์สังเคราะห์เป็นปัญญาที่สูงขึ้นกว่าเท่าที่ปรากฏ เพราะสิ่งที่ปรากฏและรับรู้เข้ามาอาจจะหลอกก็ได้ ถ้าเราดูก็ต้องบอกว่าโลกมันแบน เพราะเห็นมันแบน แต่จากความรู้มันกลมฉะนั้นการวิเคราะห์สังเคราะห์นี่ทำให้เกิดปัญญาที่สูงขึ้นลึกขึ้น ตรงนั้นเป็นกระบวนการวิทยาศาสตร์ 2ประการคือ การรับข้อมูลข่าวสาร การทดลอง การสังเกต มาประกอบกับการวิเคราะห์สังเคราะห์ก็เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทำให้เข้าใจสูงขึ้นเป็นปัญญาที่สูงขึ้น ภาวนาหมายถึง ทำให้เจริญ Development ในกระบวนการเรียนรู้เราต้องจับพวกนี้เป็นในรายละเอียดพยายามเรียนรู้มันให้ครบทีแรกอาจจะยังไม่ครบก็ไม่เป็นไร พยายามเอนเข้ามาก็จะเกิดความละเอียดอ่อนขึ้นในจิตใจของครู ในจิตใจของผู้เรียน อย่างการเจริญสติ เจริญสมาธิ ปัญญา ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนซึ่งก็ต้องมีการเจริญสติก็คงหนีไม่พ้น เพราะทำอย่างไรก็ยากที่ความดีจะเกิดเพราะมันเร็วมาก เมื่อรับอายตนเข้ามามันเกิดความรู้สึกสุขทุกข์กิเลสมันเกิดทันที อย่างคลินตันนี่รู้ทุกอย่างฉลาดมากเรียนเก่งไปเรียนอ็อกซ์ฟอร์ดสองปีมีคนเห็นก็บอกว่าคนนี้แหละจะได้เป็นPresident เก่งความรู้เยอะแต่พอเห็นโมนิก้า ลูวินสกี้ ก็ไปแล้วมันไม่ทัน ไม่ได้เจริญสติ ในการเรียนรู้จึงต้องเจริญสติไม่งั้นมันยากมากที่จะไม่หลุดเข้าไปสู่ความไม่ดี การเรียนรู้ตรงนี้การเจริญสติคือการคุมไว้เฝ้าประตูไว้มีการสังวรณ์อยู่ที่อายตนะ ทีนี้เรื่องสมาธิมีปัญหาเรื่องเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 6ขวบเราจะไปสอนนั่งสมาธิควรหรือไม่ควร เพราะเรารู้แล้วว่าเด็กเล็กจิตใจยังไม่ได้วุ่นวายอะไร การกระตุ้นจะทำให้เซลสมองเชื่อมโยงตัวเดรนไดร์ทที่จะไปเชื่อมโยงนั้นมากขึ้น ฉลาดขึ้น เด็กควรจะไปนั่งสงบหรือเปล่า ถ้าสงบมันจะกระทบการงอกงามของเดรนไดร์ทของเซลสมองหรือเปล่า ถ้าให้เด็กทำสิ่งที่เขาชอบเขาก็อยู่กับมันได้นานเป็นชั่วโมงแทนที่จะเรียนเป็นคาบๆ คาบๆนี่สะดวกครู เพราะครูเหนื่อยก็เปลี่ยนครู แต่ถ้าเด็กได้ทำอะไรที่ชอบตรงนี้ก็มาเรื่องฉันทะ อิทธิบาท 4 ตรงนี้แต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน ถ้าได้ทำอะไรที่ชอบจะมีความสุข วิริยะก็เกิดง่าย และพยายามทำให้ประณีตมันก็จะเกิดความงามในสิ่งที่ทำ ความประณีต ความงามก็จะมาพัฒนาจิตใจ และให้พยายามศึกษาเรื่องนั้นๆให้มันลึกเข้าไปแล้วมันไปเจอกันเองในความเป็นทั้งหมดซึ่งเป็นความหนึ่งเดียว เหมือนช้างตัวเดียวกันนี่ถ้าไปคลำจากหาง จากหู ซึ่งมันต่างกัน แต่ไปลึกๆเข้ามันก็ไปเจอกันเองเพราะเป็นช้างตัวเดียวกัน เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ให้การศึกษาก็ดูตามฉันทะของแต่ละคน ให้เขาได้มีโอกาสทำไปตามฉันทะอาจจะดีกว่าคำว่าอัจฉริยะหรือความสามารถพิเศษ มันทำให้คนอื่นรู้สึก คนนี้มีคนนี้ไม่มี แต่ทุกคนนี่มีฉันทะของตัวเองที่ชอบต่างๆกัน ครูก็จะดีครูและนักเรียนที่มีฉันทะตรงกันได้มาเจอกันได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ครูที่ไม่มีความสุขคือสอนเด็กที่มันไม่สนใจใช่ไหม และตอนนี้การศึกษาของเราทั้งหมดนี่กำลังหมดไปกับการสอนคนที่ไม่ได้อยากเรียนหมดกำลังทั้งประเทศ เด็กไม่ได้อยากเรียนใครเป็นครูก็รู้สอนปากเปียกปากแฉะ ทีนี้เราก็ลองดูว่าเราเรียนจากการปฏิบัติแล้วก็ตามฉันทะใครชอบอะไรก็ให้ไปเจอกับครูที่สนใจเรื่องนั้น เจอกันก็จะมีความสุขมากได้ทุ่มเทกับคนที่เขาอยากเรียน
หลักการที่ 8. วิธีการคิดแบบพุทธ “ทางสายกลาง”
โลกทัศน์ตรงนี้สำคัญอยากฝากไว้ ที่จริงธรรมชาติมันมีความเป็นหนึ่งเดียวกันแต่เรามักจะคิดแบบแยกส่วนแล้วเอาตัวเราเป็นตัวตั้งเกิดความขัดแย้ง ความบีบคั้น ถ้าเราเห็นความเป็นทั้งหมด ทั้งหมดมีความเป็นหนึ่งเดียว จิตใจมันก็เปลี่ยน ความรู้สึกนึกคิดมันก็เปลี่ยนไป ในพระไตรปิฎกนี่มีวิธีคิดที่เราไม่ค่อยเอามาพูดกัน แล้วมักเอาแต่ Content มาพูด แต่ผมคิดว่าวิธีคิดสำคัญ วิธีคิดแบบมัชฌิชมาปฏิปทา ในพระไตรปิฏก ไม่มีอะไรดีหรือไม่ดีอยู่บนตัวของ สิ่งทั้งหลายถ้ามีเหตุปัจจัยให้มันมีมันจึงมี ไม่มีเหตุปัจจัยให้มันมีมันก็ไม่มี อันนี้เป็นที่มาของหลักธรรมะอื่นเช่น อนัตตา มันไม่ได้มีอะไรตายตัวอยู่ของมันเอง มันขึ้นกับเหตุปัจจัย ตรงนี้คือกระบวนการทางปัญญา มีอยู่อันแปลกมากพระพุทธเจ้าบอกว่า การชม หรือ การติเตียน ไม่ใช่ธรรมะ ธรรมะคือการรู้ว่าอะไรเกิดจากอะไร อะไรทำให้เกิดอะไรขึ้น ชม หรือ ติเตียน มันตายตัวไปแล้ว มันแล้วแต่เรื่องแล้วแต่คราวว่ามันสัมพันธ์กับเรื่องอะไร อย่าไปสรุปให้มันตายตัว ตรงนี้ครูพยายามแล้วฝึกตรงนี้จะหลุดไปทางเก่า ก็ฝึกฝึกให้มันเคย คิดแบบนี้มันเป็นกระบวนการทางปัญญา ไม่ให้ตัวกิเลสมันเข้า ถ้าตัวกิเลสเข้ามันจะโฟกัสแล้วตายตัว ตรงนี้สำคัญถ้าเราคิดอย่างมัชฌิมาปฏิปทาได้จะเป็นอิสระ แล้วมันจะทะลุทะลวงไปทุกอย่างถ้าอะไรที่มันเป็นบวก เป็นลบ เช่น อนุภาคโปรตอนเป็นบวก อิเลคตรอนเป็นลบ มันเคลื่อนที่ไปนิดเดียวมันโดนอนุภาคตรงข้ามจับมันไปไม่ได้ไกล แต่ถ้านิวตรอนเป็นกลาง มันทะลุตึกไปได้หลายตึกก็ยังไปได้ ถ้าเราคิดอย่างเป็นกลางก็เช่นกันมันจะทะลุทะลวงไปได้ไกลเชื่อมโยงไปหมดรูปธรรมนามธรรม ถ้าคิดแบบแยกส่วนตายตัวก็จะนำไปสู่การขัดแย้งไปสู่เรื่องต่างๆ ฉะนั้นในกระบวนการเรียนรู้เราก็จับหลักต่างๆเหล่านี้เข้ามา
สุดท้ายการที่จะทำงานเรื่องนี้ต่อก็ใช้ หลักจำง่ายๆ RCN ใช้ RESEARCH ไปวิจัยว่าใครทำอะไรดีๆอยู่ที่ไหน มีคนทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ในประเทศนอกประเทศมีการวิจัยเป็นเครื่องมือ Communication สื่อสารให้รู้เรียนถึงกันNetworking เครือข่ายมีการเชื่อมโยงกันมีการเรียนรู้จากกันขยายตัวไปเรื่อยๆไม่มีใคร dominate ใคร RCN ก็จะขยายตัวไปเรื่อยๆ คุณภาพก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ความสมบูรณ์ก็จะมีขึ้นเรื่อยๆ ซ้ำอีกทีว่าอย่าเชื่อที่ผมพูด ตายตัวมันมีวิธีอื่นหลากหลาย มีวิธีที่ดีกว่านี้ อย่าไปเชื่อแบบตายตัว ดูไปรอบๆทดลองดูให้มันแตกต่างกันไป อันนี้คือประโยชน์ของการวิจัยที่จะนำเป็นตัวเดิน ถ้าเรา Organize แบบนี้เรื่องนี้ก็จะก้าวหน้าไปเป็นลำดับ ที่กระทรวงศึกษาก็ดี สภาการศึกษาก็ดี เราก็เชื่อมโยงเป็น Network กับเขา อะไรที่นโยบายมันขาดคนทำนโยบายก็เข้ามาเรียนรู้มาเชื่อมโยง มันเป็นโครงสร้างใหม่ที่จะให้เริ่มดำเนินและขยายตัว ให้เก่งทั้งประเทศแล้วไปเชื่อมโยงกับพวกปฏิบัติเยอะเชียวที่กำลังเดินอยู่ในพื้นที่เรื่องการพัฒนาอย่างบูรณาการ ความยั่งยืน เราไม่ต้องไปทำเพียงแต่ไปร่วมกัน
ปุจฉา วิสัชนา จากงานก้าวสู่ทางสายเอกระบบการศึกษาแนวพุทธครั้งที่3
1.คำจำกัดความอย่างง่ายที่ครอบคลุมระบบการศึกษาแนวพุทธหน้าตาเป็นอย่างไร?
ท่านพระครูปลัดปิฎกวัฒน์: การศึกษาแนวพุทธ คือ การสอนบุคคลบนฐานธรรมดาความจริงของธรรมชาติ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมะ ซึ่งเป็นหลักความจริงที่เกิดขึ้นเป็นไปของชีวิตมนุษย์นั่นเอง ต้องการให้ผู้คนได้ฝึกฝนปรับปรุงตน สิ่งที่พระองค์ได้ทรงเน้นย้ำในการศึกษาก็คือการนำเอาเสา 3ด้าน คือหลักไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา มาเป็นแกนกลางที่จะต้องฝึกอบรม ปรับปรุงตนด้านพฤติกรรม จิตใจ และปัญญาให้ก้าวหน้าไปเป็นลำดับเพื่อทำให้เกิดพัฒนา 4
ด้านซึ่งมี กายภาวนา ศีลภาวนา จิตภาวนา และ ปัญญาภาวนา เพื่อบรรลุเป้าหมายคือความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ หรือ ทำให้มนุษย์ได้บรรลุภาวะมนุษย์นิพพานตรงนี้ก็ถือว่าเราได้บรรลุเป้าหมายตามแนวทางพุทธศานาเพื่อให้การจัดการศึกษาแบบพุทธเป็นไปได้ด้วยดีถ้าพวกเราทุกคนมีความตระหนัก มีความชัดเจนเรื่องการจัดโรงเรียนวิถีพุทธให้ดีเป็นสถานศึกษาที่ดำเนินการแบบพุทธ คำว่าพุทธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญา ชาวพุทธมักมีการเน้นย้ำฝึกปฏิบัติ วัฒนธรรมการเมตตาจะมีมากในสังคมไทยแต่ว่ายังขาดวัฒนธรรมการแสวงปัญญาถ้าเราสามารถปลุกเร้าให้สังคมไทยโดยเฉพาะเยาวชนของชาตินั้นมีแนวทางที่จะเป็นผู้ที่คิด พิจารณาใช้ปัญญาแก้ไขปัญหา จะทำให้สังคมนั้นรื่นรมย์น่าอยู่มากขึ้น ในเยาวชนควรได้รับการพัฒนาให้ กิน อยู่ ดู ฟัง เป็น พัฒนาการของเด็กจะก้าวหน้าไปด้วยดี
ศ.สุมน อมรวิวัฒน์: โรงเรียนแนวพุทธมีลักษณะเด่นๆดังต่อไปนี้1.เน้นชีวิตของผู้เรียน ทั้งในลักษณะผู้เรียนแต่ละคนและผู้เรียนทุกคนเน้นไปถึงทุกฝ่ายทุกคนที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ปกครอง เพื่อน บุคคลแวดล้อม รวมถึง ธรรมชาติและเทคโนโลยีต่างๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับนักเรียนของเรา 2.เน้นความสัมพันธ์ของชีวิตนั่นคือชีวิตไม่ได้หยุดนิ่ง แต่ชีวิตของนักเรียน ครู บุคลากรในโรงเรียน ย่อมมีความสัมพันธ์กัน และมีหลักสัมพันธภาพ ตามแนวของพุทธศาสนาที่จะทำให้สังคมของเราอยู่รอด 3.เน้นแนวทางการดำเนินชีวิต ที่แปรเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ ค่านิยม จุดหมาย ทิศทาง วิธีปฏิบัติ มีแนวทางดำเนินชีวิตที่ชัดเจน โดยยึดฐาน 3ฐาน คือ ฐานวัฒนธรรมชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่ ฐานศีลธรรมตามพุทธศาสนาหรือศาสนาใดๆก็ได้ และฐานปัญญาธรรมที่มุ่งให้การเรียนรู้นำไปสู่ปัญญาเป็นสำคัญ และแกน 3แกน พัฒนาการเรียนรู้ให้เป็นไปตามแกนของชีวิต คือ พัฒนากายเป็นปกติ พัฒนาจิตให้มีสมาธิ และปัญญาคือเรียนรู้ให้เกิดปัญญา
2.ระบบการศึกษาแนวพุทธต่างจากการศึกษาทั่วไปอย่างไร?
ท่านพระครูปลัดปิฎกวัฒน์: มีอย่างหนึ่งที่มีความชัดเจนต่างจากการศึกษาทั่วไปคือ ระบบไตรสิกขา นั่นเอง เรานำมาเน้น มาย้ำ ทำให้เกิดความเป็นจริงขึ้นมาในระบบโรงเรียนแนวพุทธ ระบบการศึกษาทั่วไปอาจมีการจัดการที่ไม่แน่ใจนักว่าจะครบถ้วนตามหลักไตรสิกขานี้หรือไม่
ศ.สุมน อมรวิวัฒน์: ถ้าโรงเรียนได้ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้โดยเน้นชีวิตของผู้เรียนเป็นสำคัญจัดสาระการเรียนรู้ที่คำนึงถึงจุดประสงค์และมาตรฐานการเรียนรู้ที่โรงเรียนพึงประสงค์แล้วก็ไม่แตกต่าง ก็คือโรงเรียนที่ไม่แปลกแยกไปจากโรงเรียนอื่นใดเลย แต่จะแตกต่างถ้าหากไปเปรียบเทียบกับโรงเรียนที่ยังยึดแนวดั้งเดิมคือสอนหนังสือให้สอบได้และเพ่งเล็งคะแนนเป็นสำคัญอันนั้นก็เรียกว่าแตกต่าง เพราะสิ่งนั้นมี สิ่งนี้จึงมี
3.การศึกษาแนวพุทธสามารถนำไปใช้ในโรงเรียนทั่วไปในอีก 4 ระบบของนวัตกรรม การศึกษาได้หรือไม่?
ท่านพระครูปลัดปิฎกวัฒน์: การศึกษาแนวพุทธสามารถนำไปใช้ในโรงเรียนทั่วไปอีก 4ระบบที่ทางรัฐบาลได้จัดขึ้น คือ โรงเรียน 2 ภาษา โรงเรียนระบบไอซีที โรงเรียนที่อยู่ในกำกับของรัฐ และ โรงเรียนสำหรับเด็กอัจฉริยะ ควรอย่างยิ่งที่นำไปใช้เพราะความจริงสังคมไทยมีสภาพที่เอื้อที่จะนำหลักการของพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้เพราะศาสนาพุทธเป็นหลักการธรรมชาติตามที่ได้กล่าวไป
4.เหตุใดจึงนำระบบการศึกษาแนวพุทธมาเป็นประเด็นในการปฏิรูปการศึกษาในช่วงนี้ทั้งๆที่คนไทยนับถือพระพุทธศานามานานแล้ว และแนวคิด บ้าน วัด โรงเรียน ก็มี อยู่แล้ว
ท่านพระครูปลัดปิฎกวัฒน์: ระบบการปฏิรูปการศึกษาที่ดำเนินการกันอยู่ก็ยังทำอยู่ในขณะเดียวกันก็มีโรงเรียนวิถีพุทธนี้ขึ้นมาเป็นจุดเด่นที่ทำให้เกิดความสนใจ เป็นรูปธรรมขึ้นมา ก็เป็นนิมิตหมายอันดีในเมื่อมีการปฏิรูปเกิดขึ้น หลักการในพุทธศาสนาที่เราชาวพุทธมีการปฏิบัตินับถือมายาวนานในสังคมไทย แต่ในความจริงเมื่อศึกษาลึกลงไปพบว่าคนไทยที่รู้เรื่องพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้จริงจังที่จะนำไปสู่การปฏิบัตินั้นมีน้อยมาก ในระยะหลังชาวตะวันตกกลับหันมาสนใจศึกษาพุทธศาสนาอย่างเอาจริงเอาจัง ทำให้คนไทยหันมาสนใจด้วยเช่นกัน เมื่อคนไทยรู้และเข้าใจพุทธศาสนามากขึ้นจะนำไปสู่การแก้ปัญหาของชาติบ้านเมืองเพราะจากเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมไทยโดยเฉพาะเรื่องเยาวชนของชาติจะเห็นว่ามีเหตุการณ์ มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายที่เราต้องกลับมาตั้งข้อสงสัยว่า การศึกษาที่เราจัดมามีปัญหาเสียแล้ว แต่ก็มีความกังวลว่าหากนำพุทธศาสนาเข้ามาในการศึกษาและทำไม่ดียิ่งจะทำให้พุทธศาสนายิ่งจมหนักลงไปอีกผู้คนในสังคมอาจไม่สนใจศึกษาต่อไปได้ด้วยหลายท่านในที่นี้จึงต้องการช่วยกันหาหลักการวิธีการ นำสู่การปฏิบัติการศึกษาของชาติซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะพอดีกับการปฏิรูปการศึกษา
รศ.ประภาภัทร นิยม: หมายความว่าเนื้อหาของพุทธศาสนาผู้คนอาจยังไม่ได้เข้าไปสนใจมากนัก โดยอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาของการศึกษา และการปฏิบัติด้วยตนเอง เมื่อมาถึงช่วงยุคสมัยที่พอเหมาะและมีส่วนช่วยได้ในการปฏิรูปการศึกษา
ศ.สุมน อมรวิวัฒน์: เป็นความจำเป็นที่เราต้องเรียกร้องให้ธรรมะกลับเข้ามาเป็นหลักของการจัดการศึกษาเพราะเราเริ่มรู้แล้วว่าการจัดการศึกษาของเรานี่เด็กจบออกไปไม่รู้จักผิด ชอบ ชั่ว ดี เราจึงมีผู้ใหญ่ที่ไม่รู้ว่าอะไรผิด และ อะไรถูกค่อนข้างมากพระสงฆ์เองได้เข้ามาผสมผสานกับบ้านและโรงเรียนก็เป็นผู้นำทางปัญญา ผู้นำทางจิตวิญญาณ มากขึ้น วัดไม่ใช่สิ่งที่อยู่แยกออกไป เหล่านี้อาจทำให้โรงเรียนแนวพุทธขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว
5.กระบวนการพัฒนาปัญญาโดยมากมักเกี่ยวกับผู้ใหญ่จะเอามาใช้กับเด็กได้หรือไม่?
ศ.สุมน อมรวิวัฒน์: เด็กหรือผู้ใหญ่ก็เป็นมนุษย์อาจจะต้องปรับวิธีการเท่านั้นคือ อาจมีหลักการสาระการเรียนรู้ที่ต่างขอบเขตและความลึก เน้นวิธีการที่สอดคล้องกับวัยและพัฒนาการของเด็ก ก่อนที่เราจะพัฒนาปัญญาของนักเรียนแต่ละวัยให้ออกมาทางแนวพุทธสิ่งที่ต้องสังวรณ์คือฐานความรู้ จะทำอะไรก็ต้องมี Knowledge Base เป็นสำคัญ คือต้องมีฐานความรู้จริง เช่น ฝึกพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา ต้องมีฐานความรู้ในเรื่องนั้นๆ เดิมทำไมเราไม่มีโรงเรียนแนวพุทธ เพราะเราได้แยกศาสนากับการศึกษาออกจากกัน และเพิ่งในระยะห้าทศวรรษหลังนี่เองที่พุทธศาสนาได้เป็นศาสตร์ สาระความรู้ที่จะนำมาสอนในโรงเรียนแนวพุทธมีครบถ้วนในหนังสือของ ท่านพุทธทาส ท่านธรรมปิฎก สิ่งเหล่านี้เป็นฐานความรู้ และการที่จะพัฒนาปัญญาของเด็กในแต่ละวัยก็ต้องปรับว่าเราคำนึงถึงบูรณาการของชีวิตเป็นสำคัญ โรงเรียนแนวพุทธไม่แยกเป็นส่วนเช่น นักเรียนอาราธนาศีลหน้าเสาธง ให้นักเรียนเตรียมการในพิธีสำคัญทางศาสนา กิจกรรมเหล่านี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ในการสอนนั้นนอกจากจะคำนึงถึงสาระการเรียนรู้ กิจกรรมที่เหมาะแต่ละวัย สื่อที่จะใช้ประกอบ สถานภาพของโรงเรียน สิ่งแวดล้อม จะทำให้เราจัดได้อย่างบูรณาการมากขึ้น
6.ยังมีคำถามย่อยๆที่ยังค้างอยู่ขอเชิญแต่ละท่านตอบรวมกันไปดังนี้
เด็กจะเข้าถึงพุทธศาสนาได้อย่างไร? ทำอย่างไรให้เด็กนำคำสอนมาใช้ในชีวิตประจำวันได้? การปฏิบัติธรรมจำเป็นสำหรับเด็กและบุคลากรในโรงเรียนมากน้อยเพียงใด? เด็กจะเรียนอย่างมีความสุขในวิถีพุทธได้อย่างไร? บางรร.นำการศึกษาแนวพุทธไปใช้โดยเพิ่มชั่วโมงจริยธรรมทำให้เด็กเบื่อ เด็กในรร.แนวพุทธจะแตกต่างกับเด็กในระบบทั่วไปอย่างไร? พ่อแม่ควรมีบทบาทอย่างไรเพื่อส่งเสริมให้เด็กประสบความสำเร็จในระบบการศึกษาแนวพุทธ? ควรเตรียมตัวเด็กที่ผ่านระบบแนวพุทธมาก่อนให้เข้าสู่ระบบการศึกษาที่มีการแข่งขันมากอย่างไร?ทำอย่างไรให้ระบบการศึกษานี้กระจายอย่างรวดเร็ว? การศึกษาแนวพุทธจะทำให้เกิดการแบ่งแยกทางศาสนาชัดเจนขึ้นหรือไม่?
ศ.นพ.ประเวศ วะสี: ควรมีความหลากหลาย เพราะวัฒนธรรมก็แตกต่างกัน ตามความสมัครใจ อาจจะเลือกมาเรียนรู้จากกันก็ได้มนุษย์ไม่ควรมีศาสนาเดียว เป็นไปไม่ได้ว่าจะเอาศาสนาเดียวไปครอบ ความหลากหลายเป็นของดี ทำให้เกิดนวัตกรรมและความยั่งยืน เอาตามความเป็นจริงกระบวนการเรียนรู้ที่ดีนำไปสู่ปัญญา
ศ.ดร.อารีย์ สัณหฉวี: การมีชีวิตที่ดี การเรียนรู้ที่ดี ทุกศาสนาจะสอน แต่โรงเรียนวิถีพุทธมีเพื่อการสืบทอดศาสนาพุทธเป็นไปแบบมีระบบขึ้นเราไม่จำเป็นต้องเพิ่มชั่วโมงจริยศึกษา แต่เราเพิ่มเรื่องความหมายให้เด็กเข้าจริงๆและมีทางปฏิบัติ
ศ.สุมน อมรวิวัฒน์: มีคนขอให้ทำหลักสูตรแนวพุทธ ทำไม่ได้ค่ะ ขอให้ใช้วิธี RCN (Research,Communication,Network)ของคุณหมอประเวศ คือการวิจัย ศึกษานักเรียน สรุปลงเป็นองค์ความรู้และสื่อสารให้เข้าใจกันทั้งโรงเรียน แล้วก็จะเกิดการเรียนรู้และพัฒนากิจกรรมต่างๆได้ด้วยตนเอง หลังจากนั้นก็แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนอื่นๆที่เป็นเครือข่ายกัน
รศ.ประภาภัทร นิยม :คิดว่าทุกท่านคงคลายความกังวลนะคะว่าการศึกษาแนวพุทธไม่ได้เป็นภาระหนักหนา ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ตายตัวที่ใครต้องทำอะไรอย่างเดียวให้เหมือนกันไปหมด ความแตกต่างจะทำให้เกิดการเรียนรู้และถ่ายเทซึ่งกันและกันสุดท้ายขอนิมนต์พระครูปลัดกล่าวปัจฉิมคาถาเพื่อที่ประชุมได้เป็นข้อประทับไว้ในใจและปิดการประชุมในครั้งนี้
ท่านพระครูปลัดปิฎกวัฒน์: ขอเจริญพร อาตมาขอยกตัวอย่างง่ายๆสถานการณ์ที่เป็นอยู่จริงของท่านพระครูธรรมปิฎกวัดที่ท่านสร้างขึ้นมาเป็นชุมชนตัวอย่างสร้างสรรค์สมาชิกทุกท่านได้รับการเรียนรู้เข้าใจ ในขณะที่ท่านยังมีสุขภาพแข็งแรงดีท่านก็ทำกิจวัตรเป็นประจำทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น พูดธรรมะให้พระฟัง เปิดโอกาสให้ซักถาม นำพระสวดมนต์นั่งสมาธิ คำสอนของท่านเป็นแนวทางในการปูพื้นฐานจากคนที่ไม่ค่อยรู้อะไรก็จะรู้เข้าใจพุทธศาสนาขึ้นเป็นลำดับ นอกจากจะสอนให้รู้แล้วก็ยังทำให้ดูโดยการที่ท่านเองต้องศึกษาค้นคว้า เมื่อรู้และเข้าใจธรรมะก็ต้องมาเขียนอธิบายให้ญาติโยมรู้และเข้าใจได้ จากนั้นท่านก็อยู่ให้เห็นในธรรมวินัยลูกศิษย์ลูกหาเห็นแล้วก็มีความชื่นใจ สบายใจ สิ่งหนึ่งที่ท่านพูดเป็นประจำคือมุ่งเน้นให้ทุกคนเรียนรู้เข้าใจเกิดปัญญา เพราะปัจจุบันเราดำเนินชีวิตบนความชอบ ชัง ปรุงแต่งในการจะได้จะเอา พอชังขึ้นมาก็มีความปรุงแต่งในการทำร้าย หรือหลีกหนีไปให้พ้นวิธีการนี้ทำให้เกิดทุกข์เกิดปัญหาในชีวิต ทำอย่างไรเราจึงจะมีท่าทีที่จะเรียนรู้ทุกอย่าง ทุกขณะในการดำรงชีวิตประสบพบสิ่งต่างๆทั้งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ แต่เราได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ทุกเวลา มีแต่ความสุขยิ่ง ในสถานการณ์ที่ไม่ชอบใจยิ่งได้ฝึกตนได้เรียนรู้มากกว่าสิ่งที่เราชอบใจด้วยซ้ำไป เราชาวพุทธทุกคนน่าจะนำมาใคร่ครวญและนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันว่าการเรียนรู้ในแนวพุทธนั้นมีวัฒนธรรมในการแสวงปัญญา ถ้าเราได้ใช้วันเวลาในการเรียนรู้เข้าใจฝึกตนตลอดเวลา เราก็จะเกิดปัญญา ความชื่นใจ ได้พัฒนาตนตลอดเวลา และยังเป็นแบบอย่างให้อนุชนรุ่นหลังเยาวชนของชาติด้วยเช่นเดียวกัน ขออนุโมทนา.