IMG 1488 resize
บันทึกรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ,  โรงเรียนอนุบาล

กิจกรรมการเรียนรู้ กิจกรรมประจำวันของโรงเรียนเล็กรุ่งอรุณ

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ กิจกรรมประจำวันของโรงเรียนเล็กรุ่งอรุณ

 

   โรงเรียนรุ่งอรุณถือว่าวิถีกิจวัตรประจำวันเป็น ๑ ในปัจจัยสำคัญที่สุดในการเรียนรู้อย่างบูรณาการซึ่งเกิดพัฒนาการในทุกๆ ด้านไปด้วยกัน คุณสมบัติของกิจวัตรประจำวันในความหมายของรุ่งอรุณ คือ

                           “การโอบอุ้มแต่ละชีวิตให้เรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองตามวิถี”

  เนื่องจากกิจวัตรประจำวันมีความสม่ำเสมอ เป็นจังหวะเวลาและตอบโจทย์ของชีวิต เป้าหมายสำคัญสำหรับการศึกษาปฐมวัยในโรงเรียนคือการเป็นสะพานเชื่อมเด็กกับ โลกภายนอกให้เกิดความสัมพันธ์ที่อบอุ่นและมีความสุข โดยใช้กิจวัตรประจำวันเพื่อการ “การกิน อยู่ ดู ฟัง เป็น” คือ การที่เด็กช่วยเหลือตัวเองได้ รู้จักฟัง รู้จักสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสิ่งแวดล้อม(ของเล่น ข้าวของเครื่องใช้ สถานที่ต่างๆ ) รวมถึงบุคคลอื่น เช่น เพื่อนและครู    เป็นต้น

         เด็กต้องการพื้นที่ซึ่งหมายถึงโอกาสและเวลาเพื่อการเรียนรู้และเติบโตตาม ธรรมชาติของตน เราต้องศรัทธาและเชื่อมั่นว่าเด็กมีเจตจำนงของตนและ “ทำได้” แท้จริงแล้วการงานในวิถีชีวิตเหล่านี้ควรเริ่มต้นที่บ้านซึ่งเป็นพื้นที่ที่ เหมาะสมที่สุด แต่ในปัจจุบัน หลายครอบครัวก็ไม่ได้ให้โอกาสและเวลาสำหรับเด็กในแง่มุมนี้ แต่ในทางกลับกัน พ่อแม่กลับเคร่งเครียดต่อการสอนการบ้านลูก หรือใช้เวลากับการ “ติว” ทางวิชาการเช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาที่ ๓ หรือดูโทรทัศน์ แทนการให้ลูกช่วยทำงานบ้าน เช่น ทำอาหาร ปลูกผัก รดน้ำต้นไม้ ล้างรถ ตามศักยภาพของเขา บ้างก็มองว่าถ้าทำเช่นนั้นแล้วลูกจะเล่นและ “ทำให้ยุ่ง เลอะเทอะข้าวของเสียหายและงานเพิ่ม” เรากำลังละทิ้งโอกาสที่ดีไปอย่างน่าเสียดาย โอกาสที่เด็กจะได้ซึมซับแบบอย่างจากพ่อแม่ในการเคียงบ่าเคียงไหล่กันทำงาน หายไปจากวิถีชีวิต เขาถูกส่งไปเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญนอกบ้าน บางครอบครัว พ่อแม่อาจต้องทำงานจนค่ำมืดดึกดื่น ลูกอาจต้องอยู่กับพี่เลี้ยง อาหารการกินก็อาจเป็นอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแช่แข็งบ้าง คุณภาพชีวิตที่ดีของเราค่อยๆ หายไป  

 

กิจวัตรประจำวันของระดับอนุบาล มีดังนี้
๐๗.๓๐ – ๐๘.๓๐ น.       ใจต่อใจครู เตรียมห้องเรียนด้วยความใส่ใจ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ของเล่นและพื้นที่ต่างๆ ไว้ให้ครบครันโดยคำนึงถึงความต้องการในการพัฒนาในแต่ละช่วงเวลา เช่นระยะนี้ครูอาจต้องเตรียมพื้นที่และอุปกรณ์สำหรับการเล่นบทบาทสมมติ มากกว่าพื้นที่อ่านหนังสือ ต้อนรับเด็กอย่างอบอุ่นด้วยการรับรู้สภาวะทางกาย – ใจ ตั้งแต่ก้าวแรกเมื่อมาถึง โดยการสบสายตา ใช้การโอบกอดสัมผัส พูดคุย และทักทาย ครูพาเด็กจัดเก็บกระเป๋าและแยกแยะของใช้ส่วนตัวเข้าที่ให้เรียบร้อย หลังจากนั้นเด็กเล่นอิสระในห้องหรือช่วยครูเตรียมงานของห้อง

IMG 1591 resize

๐๘.๓๐ – ๐๙.๐๐ น.        วงกลมรับอรุณ           เด็กๆ ตระเตรียมกายใจให้พร้อมเริ่มต้นการเรียนรู้ในโรงเรียนและตระหนักในบทบาทของ ตนร่วมกับเพื่อน ครูจะหาบทกลอนหรือบทกวีที่ไพเราะและมีความหมายมาพูดนำให้เด็กพูดตาม เช่นบทกลอน “ตื่นอย่างสดใส” ตามด้วยเพลงของฤดูกาล (เช่นหากเป็นช่วงฤดูฝนก็จะเป็นเพลงที่เกี่ยวกับภูมิประเทศและภูมิอากาศใน ช่วงฤดูฝน) เพลงชาติไทยและ เข้าสู่ความสงบด้วยการไหว้พระสวดมนต์ ฝึกรู้กาย-ใจด้วยการเคลื่อนไหวมือ และแขน พร้อมกับร้องเพลง “ดั่งดอกไม้บาน” ที่ไพเราะ ต่อจากนั้นเป็นช่วงเวลาเพื่อตั้งจิตอธิษฐานต่อการปฏิบัติดีในแต่ละวัน จบท้ายด้วยนิทานวงกลมซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของการเรียนรู้ ครูจะต้องคัดสรรนิทานที่จะเสริมพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจและสติปัญญา โดยเด็กๆ จะได้โลดแล่นจินตนาการไปกับนิทาน เด็กซึมซับคุณค่าจากนิทานโดยการพูดไปพร้อมกับครู เพราะจดจำจากการได้ฟังหลายครั้ง และเคลื่อนไหวร่างกายให้สอดคล้องกับความหมายของแต่ละบท ไปพร้อมกันทั้งห้อง ส่วนมากครูจะเลือกนิทานพื้นบ้าน เทพนิยาย และนิทานชาดก นำมาเล่าIMG 0018 resize 

๐๙.๐๐ – ๐๙.๓๐ น.         เล่นกลางแจ้ง (สนามฟุตบอล, เครื่องเล่นสนาม, ลานทราย ฯลฯ)         ครูจะเลือกสถานที่เล่นที่ใดที่หนึ่งที่จะสามารถเล่นได้อย่างอิสระ และปลอดภัย และตอบกับโจทย์ของพัฒนาการเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการพัฒนาเด็กอย่างเป็น ธรรมชาติ เช่นในระยะนี้ นักเรียนอาจต้องการพื้นที่ของการเคลื่อนไหวแบบมุด ลอด ปีน นักเรียนคิดหาอุปกรณ์ และวิธีการเล่นด้วยตนเอง โดยครูสังเกตและช่วยเหลือเมื่อพบว่าเด็กต้องการ และ/หรือคอยดูแลความปลอดภัย บางครั้งก็เล่นไปด้วยกัน บางครั้งครูอาจทำงานอยู่ใกล้ๆ เช่น กวาดสนาม ริดกิ่งต้นไม้ และเฝ้าสังเกตพัฒนาการอย่างใกล้ชิด

DSCN3921 resize๐๙.๓๐ – ๑๐.๐๐ น.        รับประทานอาหารว่าง

 อาหารที่รับประทานจะเน้นผล ไม้ น้ำเต้าหู้ น้ำผลไม้ หรือน้ำสมุนไพร ขนมที่รสไม่หวานจัดนัก บางครั้งครู- เด็กจะช่วยกันทำเองในตอนเช้า เมื่อทำด้วยตัวเองและนำมารับประทาน เด็กจะเข้าใจที่มาที่ไปของอาหารและขนมต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ครูอาจพาไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งคือความรู้สึกถึงบุญคุณของธรรมชาติและผู้ เกี่ยวข้องเช่น ชาวนา ชาวสวน ฯลฯ ได้โดยไม่ยาก

๑๐.๐๐ – ๑๑.๐๐ น.          กิจกรรมการเรียนรู้ (กิจกรรมประจำวัน)

จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปทุกวัน เป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้เด็กๆ พัฒนาทักษะชีวิต และเกิดพัฒนาการทั้งด้านกาย จิตใจและสติปัญญา เช่น

CIMG0041 resize 2

วันจันทร์ : ทำงานบ้าน กวาด ถู จัดดอกไม้ เตรียมใส่ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน

วันอังคาร : ทำอาหาร/ทำขนม

วันพุธ : ทำงานศิลปะ/หัตถการ

วันพฤหัส : ทำสวนครัว รดน้ำผัก

วันศุกร์ : เดินชมธรรมชาติบริเวณสวนป่าของโรงเรียน/ปิกนิค

ความ สม่ำเสมอของกิจวัตรประจำวัน ที่เวียนมาบรรจบครบรอบครั้งแล้ว ครั้งเล่าเหล่านี้ จะทำให้เด็กเข้าใจเรื่องการเคลื่อนของวันเวลาอย่างเป็นธรรมชาติ และเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ “กาลเทศะ” เช่น เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง เราอาจได้ยินเด็กพูดว่า “วันนี้จัดดอกไม้ พรุ่งนี้ก็ทำขนม” นอกจากนั้นยังได้เรียนว่ายน้ำ ภาษาอังกฤษซึ่งบูรณาการกับดนตรี และการละเล่น/กีฬาไทย

DSCN2949 resize๑๑.๐๐ – ๑๑.๓๐ น. เล่นอิสระในห้องเรียน

         ครูให้เด็กเล่นอิสระทุกวัน ในห้องเรียนจะเตรียมของเล่นที่เหมาะกับวัย ของเล่นส่วนใหญ่ เป็นของเล่น “ปลายเปิด” นั่นคือ เด็กสามารถนำมาดัดแปลงเป็นสิ่งต่างๆ ตามจินตนาการของตนและเข้ากับการดำเนินเรื่องราวในการเล่นได้ เช่นผ้า อาจนำมาผูกเป็นเปลสำหรับเด็กอ่อน หรือเป็นหลังคาบ้าน เป็นต้น  ของเล่นเหล่านี้มักเป็นของในธรรมชาติ เช่นบล็อกไม้ ได้จากการนำกิ่งไม้มาตัดให้เป็นขนาดต่างๆ ในขณะที่เด็กๆ เล่น หรือตุ๊กตาก็ได้มาจากการตัดเย็บด้วยฝีมือของครู ครูจะทำงานของครูไปพร้อมๆ กันไม่เข้าไปแทรกแซงการเล่นหากไม่เกิดปัญหารุนแรง เพราะนี่จะเป็นโอกาสที่เด็กจะพัฒนาทักษะทางสังคม จนกระทั่งหมดเวลา ครูให้สัญญาณโดยการร้องเพลง “เก็บของ” ครูและเด็ก จะช่วยกันเก็บของเล่นเข้าที่อย่างเป็นระเบียบ ในช่วงนี้แนวคิดของการแยกประเภท จัดหมวดหมู่จะได้รับการปลูกฝังครั้งแล้วครั้งเล่า

๑๑.๓๐ – ๑๒.๐๐ น.        รับประทานอาหารกลางวัน

               เด็กช่วยครูเตรียมจัดโต๊ะ อาหาร โดยครูจะพากลุ่มเล็กๆ มาช่วยกัน เด็กจะเรียงจาน ถ้วยน้ำ ช้อมและส้อม เป็นเซ็ทสำหรับเพื่อนแต่ละคน แบ่งอาหารใส่ภาชนะไว้สำหรับให้เด็กได้ตักเติมด้วยตนเอง เพื่อให้พอดีกับความต้องการ หลังการเล่น เด็กล้างมือก่อนเข้านั่งที่โต๊ะอาหาร ครูร้องเพลง ๒-๓ เพลง เพื่อรอทุกคนนั่งประจำที่ พิจารณาอาหารก่อนรับประทานอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยครูรับประทานไปพร้อมๆ กัน การรับประทานอาหารด้วยตัวเองเป็นเจตจำนงของเด็ก ดังนั้นเมื่อเด็กคนไหนมีท่าทีรับประทานยาก หรือเลือกรับประทานเฉพาะสิ่งที่ตนคุ้นเคย ครูจะไม่บังคับแต่จะชวนมานั่งใกล้ๆ และพูดโน้มน้าวชักชวนแต่พองาม การที่ครูเป็นแบบอย่างในการรับประทานประกอบกับเด็กได้ทำอาหารและขนมด้วยตัว เอง จึงไม่ยากนักที่จะเกิดพัฒนาการในเรื่องการรับประทานอาหารด้วยตัวเองและรับ ประทานหลากหลายได้ในที่สุด เมื่อรับประทานเสร็จ ครูแนะนำการจัดเก็บแยกประเภทภาชนะ และแยกเศษอาหาร สำหรับเด็กโตเขาจะนำแก้วน้ำและช้อนส้อมไปล้างด้วย จากนั้นจะมีเด็กกลุ่มเล็กๆ ช่วยครูเช็ดถูทำความสะอาดโต๊ะอาหารด้วย

๑๒.๓๐ น.                   อาบน้ำ แปรงฟัน

       เป็นกิจกรรมที่เด็กได้ฝึกการช่วย เหลือตนเอง เริ่มตั้งแต่เรื่องง่ายๆซึ่งเด็กได้ทำซ้ำทุกวัน โดยในระยะแรกครูให้ความช่วยเหลือ แนะนำทั้งการอาบน้ำชำระร่างกาย และการพานักเรียนถอด-ใส่เสื้อผ้า และฝึกพับ จัด เก็บเสื้อผ้า และของใช้เข้าที่ เด็กยังทำด้วยตัวเองไม่ได้ดีนัก แต่ถ้าเขามีโอกาสได้ทำโดยมีครูช่วยเหลือจะเป็นโอกาสในการบ่มเพาะความเคารพตน เอง ความตระหนักในตนเองและการดูแลสุขอนามัยของตน ได้เป็นอย่างดี

๑๒.๓๐ – ๑๓.๔๕ น.      สวดมนต์ นอนหลับพักผ่อน และฟังนิทานก่อนนอน

         เด็กได้น้อมใจระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่พึ่งอันประเสริฐ และได้พักผ่อนกาย-ใจ หลังจากออกแรงเล่นมาตั้งแต่เช้า และนอนบนที่นอนฟังครูเล่านิทานปากเปล่าจนหลับไป

๑๓.๔๕ – ๑๔.๐๐ น.      ตื่นนอน เปลี่ยนเสื้อผ้า

         เมื่อได้พักอย่างเต็มอิ่ม ความสดชื่นแจ่มใสจะกลับมาอีกครั้ง จากนั้นเด็กได้ฝึกการช่วยเหลือตนเองในการเก็บที่นอนเข้าที่ เข้าห้องน้ำ บ้วนปาก ล้างหน้า ถอดใส่ พับ จัดเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋ากลับบ้าน ซึ่งเด็กๆจะได้ทำซ้ำจนเกิดความชำนาญ หลังจากนั้นดูแลความเรียบร้อยของร่างกาย หวีผม ทาแป้ง เป็นการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนกลับบ้าน

๑๔.๐๐ – ๑๔.๒๐ น.     รับประทานอาหารว่างบ่าย

        ก่อนรับประทานอาหารว่างบ่ายร่วมกัน ครูจะร้องเพลงเพื่อเป็นเป็นสัญญาณบอกให้เด็กๆ เตรียมตัวให้พร้อม และครูจะเป็นแบบอย่างในการรับประทานอาหารที่หลากหลายให้เด็กๆ ได้สังเกต เรียนรู้ถึงวิธีการรับประทานอาหารแบบต่างๆ และฝึกการแยกแยะเศษอาหาร เก็บจานชาม เก็บทำความสะอาดโต๊ะซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

๑๔.๒๐ – ๑๔.๓๐ น.    ทบทวนการเรียนรู้ แผ่เมตตา

       เด็กจะได้ทบทวนตนเองตั้งแต่เช้าจรดเย็นของแต่ละวัน เพื่อเป็นการตรวจสอบความรู้สึกของเด็ก ครูอาจใช้คำถาม เพื่อให้เด็กระบุความประทับใจ และบอกสิ่งที่ได้เรียนรู้ เช่นอาจพบว่าเด็กเกิดความกังวลกลัวผึ้งต่อย หลังจากการออกไปเดินในสวนป่าในช่วงเช้าแต่ไม่ได้บอกครูในขณะนั้น ครูจะได้แก้ไขสถานการณ์ได้ทันและสามารถตั้งเป็นโจทย์ของครูสำหรับวันต่อไป จากนั้นจึงร่วมกันแผ่เมตตา เป็นการครบวงรอบของกิจวัตรในวันหนึ่งที่โรงเรียน

ผู้ปกครองและครูควรจัดวิถีกิจวัตรประจำวันที่มีความราบรื่นและเคลื่อนไปอย่างมีจังหวะจะโคน จัดกิจกรรมที่ตื่นตัวสลับกับกิจกรรมที่ผ่อนคลาย

แต่รักษาความสงบ ไม่เร่งรัด จะสร้างจิตใจที่สงบมั่นคงให้เกิดขึ้นแก่เด็กด้วย

พ่อแม่ ครู มีหน้าที่สำคัญเพียงอย่างเดียวคือทำให้สติเกิดขึ้นในใจลูก หรือลูกศิษย์ ส่วนหน้าที่ในการเรียนรู้นั้น เป็นของเด็ก

 

 

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.