เด็กไทย (ไม่) ไปอาเซียน
เด็กไทย (ไม่) ไปอาเซียน
เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๕ ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้มีการเปิดตัวสารคดีชุดใหม่ ชุด “ASEAN BEYOND 2015 สู่อนาคตประเทศอาเซียน ” เพื่อชวนคนไทยก้าวสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีนักวิชาการและคนดังในแวดวงสื่อสารมวลชนมาร่วมพูดคุย และนำเสนอนิทรรศการจากโรงเรียนทางเลือก เพื่อเสนอแนวทางพัฒนาเด็กไทยให้พร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ ทั้งนี้โรงเรียนรุ่งอรุณได้รับเชิญให้ไปร่วมนำเสนอนิทรรศการแนวทางการเรียนรู้ของเด็กไทยในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่มองมากไปกว่าการเข้าร่วมประชาคม อาเซียนเท่านั้น
สำหรับชุดนิทรรศการของโรงเรียนนรุ่งอรุณ ได้เสนอภาพรวมของระบบการศึกษาทางเลือกซึ่งเป็นโลกแห่งความเป็นจริงที่นักเรียนเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ด้วยประสบการณ์ตรง จนสามารถสร้างความรู้ด้วยตนเอง เกิดการตระหนักในตนเอง มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายทางการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ ที่การเรียนรู้จะเป็นการบูรณาการสู่ชีวิตอย่างเป็นองค์รวมเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยมนุษย์พันธุ์ใหม่ในศตวรรษที่ ๒๑ นี้จะต้องดำรงชีวิตเป็นคนดีของสังคม พึ่งพาตนเองและเผื่อแผ่ผู้อื่น พร้อมจะเผชิญและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและไม่คาดฝัน ครั้งแล้วครั้งเล่า รวมถึงมีทักษะที่รอบด้าน ทั้ง Learning Skill , Life Skills , Work Skills
ทั้งนี้โรงเรียนรุ่งอรุณจึงจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนมีทักษะและกระบวนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 อาทิ การเรียนรู้ผ่านโครงงาน (Project Based Learning –PBL) ศึกษาจากโจทย์สถานการณ์จริง ทำงานเป็นทีม ฝึกฝนการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็น การประมวลความคิดสำคัญการสื่อสารและเจรจาต่อรอง หรือ การเรียนรู้บนบริบทที่หลากหลาย ( Cross-Cultural Understandings) กับชุมชนทั้งในและนอกโรงเรียน การเรียนรู้ทั้งความรู้ในวิชาหลัก( Core subjects) และความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์โลกในศตวรรษที่ ๒๑ ฯลฯ
ในส่วนของกิจกรรมชวนคิดชวนคุย หัวข้อ “เด็กไทย (ไม่) ไปอาเซียน” ในช่วง Ignite Talk Show สร้างแรงบันดาลใจ:เด็กไทยจะโตอย่างไรในอาเซียน บอล-ทายาท เดชเสถียร และ ยอด-พิศาล แสงจันทร์ สองหนุ่มผู้ดำเนินรายการหนังพาไป พูดถึงการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนของไทยในแง่มุม “อาเซียน เพื่อนบ้าน คู่แข่ง หรือศัตรู” เมื่อทบทวนมุมมองของคนไทยที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ก็พบว่าเรามองเพื่อนบ้านด้วยสายตาที่ไม่เป็นมิตรและขาดความเข้าใจ เราน่าจะเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมเพื่อเรียนรู้และเข้าใจกันให้มากขึ้นก่อนจะดีกว่า” สองหนุ่มกล่าวสรุปก่อนลงจากเวที
ขณะที่บนเวทีเสวนา รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ นักวิจัยและอาจารย์จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคุณวัชระ ปานเอี่ยมนักดนตรีวงเฉลียง ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในหัวข้อ “เด็กไทย (ไม่) ไปอาเซียน”
ดร.การดีนำเสนองานวิจัยด้านการศึกษาที่ชี้ว่า ประเทยไทยจัดสรรงบประมาณลงทุนด้านการศึกษาสูงติดอันดับ ๑ ใน ๕ ของโลก แต่คุณภาพด้านการศึกษาของไทยกลับรั้งอันดับท้ายๆ ทั้งในเวทีโลกและในประชาคมอาเซียน ส่วนหนึ่งเพราะทิศทางการศึกษาของไทยไม่ชัดเจน และการเรียนรู้นอกห้องเรียนของเด็กไทยมีน้อย เมื่อเทียบกับเวียงจันทน์ที่มีประชากรไม่กี่แสนคน แต่มีพิพิธภัณฑ์เยอะมาก ขณะที่เมื่อหันกลับมามองในประเทศไทย เรามีพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ไม่กี่แห่ง เมื่อเด็กออกมานอกห้องเรียนเลยไม่รู้จะไปไหน ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องคุณภาพ
ด้านคุณวัชระเสนอมุมมองในฐานะผู้ปกครองของลูกวัยมัธยมว่า ก่อนจะก้าวไปอาเซียน อยากให้กลับมามองการศึกษาของไทยในวันนี้ก่อน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการศึกษาไทยในปัจจุบันนั้นมุ่งสอนเด็กเรื่อง who what where when ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร แต่ไม่ค่อยให้เด็กได้เรียนรู้ว่า why how ทำไม อย่างไร ทำให้เด็กกลายเป็นนักจำ แต่คิดวิเคราะห์ไม่เป็น
รศ.ดร.วรากรณ์กล่าวเสริมประเด็นนี้ว่า ที่เราไม่เน้น why และ how เพราะการศึกษาไทยสอนเพื่อให้ได้คำตอบ แต่ไม่เน้นให้รู้ถึงกระบวนการ ทั้งที่กระบวนการนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ขณะนี้สิงคโปร์ซึ่งเคยเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเรียนหนักมาก ได้ปรับทิศทางมาใช้นโยบายการศึกษา Teach Less, Learn More คือ สอนให้น้อย แต่ให้เด็กเรียนรู้ให้มากเพราะเล็งเห็นแล้วว่านี่คือการศึกษาที่เหมาะกับโลกอนาคต เด็กในอนาคตจะต้องเรียนรู้เป็นและเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ใช่เรียนรู้จากการจำ
ในช่วงท้ายของการเสวนา ดร.การดี เสนอทิศทางการศึกษาไทยเพื่อเตรียมพร้อมการเปิดประตูอาเซียนในอีกสองปีข้างหน้าว่า แทนที่จะท่องจำว่าดอกไม้ประจำชาติของเพื่อนบ้านเราคือดอกอะไร ธงชาติสีอะไร เราควรมาเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์และการอยู่ร่วมกัน โดยเป็นประวัติศาสตร์จากแง่มุมต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะแง่มุมที่เราเป็นพระเอกแล้วเพื่อนบ้านเป็นผู้ร้าย เพื่อที่เราจะได้เข้าใจกันและอยู่ร่วมกันพร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญของทักษะภาษาอังกฤษ เพราะประชาคมอาเซียนประกาศแล้วว่าจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร
ขอเชิญชมรายการสารคดีชุด “ASEAN BEYOND 2015 สู่อนาคตประเทศอาเซียน” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ตอนพิเศษ เสนอสาระจากวงเสวนาและนิทรรศการการศึกษาทางเลือก ในวันศุกร์ที่ ๕ ตุลาคม นี้ เวลา ๒๒.๐๐-๒๒.๓๐ น. และจะเสนอสารคดีตอนที่ ๑ ในวันศุกร์ที่ ๑๒ ตุลาคม นี้ เวลา ๒๒.๐๐-๒๓.๐๐ น.