ครูควรเป็นเช่นไร? เมื่อสังคมไทยกำลังอ่อนแอ
ในชีวิตของคนเราทุกคนย่อมเปลี่ยนแปลงจากวัยทารกสู่วัยเด็ก วัยรุ่นสู่วัยคนทำงาน ผ่านการมีครอบครัว เปลี่ยนสถานภาพจากที่เคยเป็นลูก หลาน มาเป็นพ่อ แม่ จนกระทั่งเป็นปู่ ย่า ตา ยาย เป็นวงจรชีวิตที่เคยเกิดขึ้นส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ผลัดกันขึ้นมาแทนที่ ทุกคนล้วนผ่านการเรียนรู้ ปรับปรุง พัฒนากาย ใจ สติปัญญา เพื่อการดำรงอยู่แห่งชีวิตมนุษย์ให้สุขสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าหลายคนจะผ่านพ้นไปด้วยดีไม่มีอุปสรรค ในขณะที่อีกหลายคนต้องเผชิญความทุกข์ยาก ลำบากแสนสาหัส แต่ที่เหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือทุกคนล้วนมีธรรมชาติแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัด หรือศักยภาพเดิมของตนเอง ไปสู่ศักยภาพใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่มีใครย่ำอยู่กับที่หรือถดถอยกลับไปเป็นเด็กทารกที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้แม้เมื่อเข้าสู่วัยชราก็ตาม เราทุกคนพัฒนาความสามารถใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ด้วยเมล็ดพันธุ์แห่งการเรียนรู้ที่แฝงอยู่ในตัวเราทุกคน
ภายใต้พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวของมนุษย์แต่ละคนนั้น ยังมีเรื่องราวและสิ่งท้าทายให้ได้เผชิญและประลองความสามารถ ความแข็งแกร่ง อดทน และการแก้ปัญหาจากง่ายสู่ยากและซับซ้อนขึ้น ซึ่งมีทั้งปัญหาภายในตนเอง ตั้งแต่การก้าวข้ามความกลัว ความลังเลไม่แน่ใจ ความอึดอัดคับข้องใจ ความเจ็บป่วยครั้งแล้วครั้งเล่า ฯลฯ และปัญหาภายนอกไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน คนในครอบครัว โรงเรียน การเล่าเรียนและเพื่อนฝูงจนถึงการทำงาน การทำมาหากินและความสัมพันธ์ที่แผ่ขยายออกไปอีกมากมายหลากหลาย บางคนผ่านพ้นไปด้วยความทุกข์ยาก บางคนผ่านพ้นไปสู่ความสำเร็จอันงดงาม กลายเป็นบุคคลสำคัญที่ยังคุณประโยชน์ให้แก่สังคมมนุษย์อย่างยิ่งไปก็มี
มองอีกมุมหนึ่ง มนุษย์เราแม้จะมีธรรมชาติการเรียนรู้อยู่ในตัว และสามารถพัฒนาตนเองสั่งสมความรู้ความสามารถเฉพาะตนขึ้นได้ แต่ที่แท้แล้วมนุษย์นั้นเกิดมาอ่อนแอ และต้องพึ่งพิงอาศัยความเมตตา กรุณา ช่วยเหลือประคับประคองดูแล เอาใจใส่จากพ่อแม่ในระยะปฐมวัย ตลอดจนครู อาจารย์ เพื่อเป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณเปลี่ยนผ่านและให้เกิดใหม่อย่างมีคุณภาพ ราวกับว่าชีวิตเราอีกภาคหนึ่งนั้นเกิดขึ้นได้โดยอาศัยความเกื้อกูลจากผู้มีพระคุณ มนุษย์จึงมีลักษณะเป็นสัตว์สังคมที่ต้องเอื้อเฟื้อโดยกัลยาณมิตรผู้เกิดก่อน มาก่อน จึงจะสร้างมนุษย์รุ่นหลังที่มีคุณภาพและสังคมที่เจริญมีสันติสุขได้
จึงไม่น่าแปลกใจที่สังคมในบางยุคสมัย เมื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นอารยะจึงสร้างนักปราชญ์ นักคิด นักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ เพราะในสังคมนั้นๆ มีกัลยาณมิตรเป็นเหตุปัจจัย ส่งเสริมสนับสนุนให้คนบางคนลุกขึ้นตั้งคำถามและขับเคลื่อนการพัฒนาเปลี่ยนแปลงทั้งตนเองและเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยเฉพาะเมื่อสังคมนั้นๆ เผชิญกับปัญหาวิกฤติอย่างรุนแรงก็จะเกิดผู้นำที่น่ายกย่องศรัทธา ชี้นำทางออกจากความวิบัติหายนะต่างๆ ได้ด้วยปัญญา
ดังนั้นหากสังคมใดพัฒนาเจริญรุ่งเรือง ผู้คนอยู่เย็นเป็นสุขไม่ทุกข์ยาก ย่อมสะท้อนว่าสังคมนั้นมีกัลยาณมิตรผู้เอื้อเฟื้อ และเป็นสังคมที่ผลิตหรือสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ในทางตรงข้าม สังคมใดมีแต่ความอ่อนแอ ไร้วินัย ไร้ทิศ หลงทาง เดินไปสู่ความวิบัติ เพราะความโลภ โกรธ หลง ย่อมสะท้อนเช่นกันว่า สังคมนั้นขาดกัลยาณมิตร ขาดผู้นำทางปัญญา
กัลยาณมิตรนั้นมักจะเล็งเห็นถึงมนุษย์สภาวะซึ่งเป็นความพิเศษที่มนุษย์ทุกคนมีมาตั้งแต่เกิด ได้แก่การทำงานของสมองอันวิจิตรพิสดาร จิตใจที่สามารถใคร่ครวญเรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้งจนสามารถตระหนักถึงคุณค่าที่แท้จริงของสรรพสิ่ง รู้จักความกตัญญูรู้คุณ รู้บาปบุญคุณโทษ รู้จักความรัก ความเมตตากรุณา และความสัมพันธ์ฉันมิตร ฉันญาติพี่น้องผองเพื่อน ตลอดจนคุณธรรมชั้นสูง คือ เห็นไตรลักษณ์ เห็นทุกข์ การดับทุกข์ และหนทางแห่งการดับทุกข์ กัลยาณมิตรนั้นตระหนักว่า มนุษย์รุ่นหลังสามารถเรียนลัดและต่อยอดความรู้ของบรรพบุรุษหรือผู้ที่รู้ก่อนแล้วได้
ถึงกระนั้นกัลยาณมิตรย่อมเล็งเห็นเช่นกันว่า มนุษย์บางส่วนมิได้ใช้สิ่งพิเศษแห่งมนุษย์สภาวะนั้นไปให้สมคุณค่าของตนได้ เมื่อเขาเหล่านั้นยึดติดอยู่กับตัณหา – ความทะยานอยากและทิฏฐิมานะ คือยึดมั่นในความคิดและถือดี จึงหลงสมมติและเลยเถิดไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงเยี่ยงศัตรูคู่อาฆาต เช่น ฆ่ากันเหมือนไร้จิตใจมนุษย์ ความผิดเพี้ยนเยี่ยงนี้มักจะเริ่มต้นจากความโลภเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งดูเหมือนเป็นความปกติธรรมดาของมนุษย์ แต่หากไม่มีผู้ชี้ให้เห็นหรือผู้เตือนสติ เขาก็จะหลงมัวเมาไปกับการเสพที่ไม่รู้จักเต็มอิ่ม กลายเป็นความประมาทขาดสติ หากมีผู้คนเช่นนี้เป็นจำนวนมาก ก็จะกลายเป็นสังคมที่ทำลายตนเองด้วยการทำลายกันและกัน ทำลายธรรมชาติแวดล้อม โดยไม่รู้สึกเกรงกลัว หรือละอายต่อบาปเลยแม้แต่น้อยนิด
จึงเป็นหน้าที่ของกัลยาณมิตร เช่น พ่อ แม่ ย่อมรีบสั่งสอนลูกเสียแต่ยังเล็กๆ ซึ่งเขามาจากความไม่รู้ เช่น ไม่รู้การควรไม่ควร หากพ่อแม่รีบฝึกหัดให้เขาตระหนักถึงความเกรงกลัวละอายต่อการทำสิ่งที่ไม่ควร แล้วฝึกหัดให้ทำในสิ่งที่ควรได้ เมื่อเขาเติบโตขึ้นเขาจะยังคงรักษามนุษย์สภาวะอันเป็นเมล็ดพันธุ์ที่งดงามนั้นไว้ได้ต่อไป ครูที่บอกกล่าวพร่ำสอนให้นักเรียนหยั่งถึงคุณค่าของความอดทน สร้างแรงบันดาลใจให้เขาฟันฝ่าอุปสรรค ความยากไปจนบรรลุถึงความสำเร็จได้ด้วยตนเอง จึงช่วยนักเรียนรักษาเมล็ดพันธ์ที่ดีงามไว้ได้เช่นกัน
สังคมไทยกำลังเผชิญทางเลือก ทางหนึ่งคือทางวิบัติที่เห็นอยู่รำไร อีกทางหนึ่งคือการพัฒนาคุณค่าแท้แห่งความเป็นมนุษย์ที่ยังพอจะมีต้นทุนอยู่ไม่น้อยในสังคมพื้นฐานการเกษตร ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นสังคม ๒ ค่านิยม ยกตัวอย่างเช่น ค่านิยมแรกที่มีความทะเยอทะยาน อยากจะมีกินมีใช้ เสพบริโภคได้อย่างใจโดยไม่สนใจว่าสิ่งเสพที่เกินตัวและเป็นคุณค่าเทียมเหล่านั้นจะต้องแลกมาด้วยการละทิ้งความเป็นมนุษย์ไปเท่าใด ส่วนอีกค่านิยมหนึ่งคือความพยายามที่จะรักษาสมดุลของสังคมด้วยการบริโภคอย่างพอดี พอเพียง ไม่เกินตัว เห็นคุณค่าที่แท้จริงแห่งชีวิตมนุษย์ คอยเตือนสติตรวจสอบตนเอง และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่คุณภาพที่แท้จริงนั้นๆ
ในขณะนี้นาวาสังคมไทยใกล้จะอับปาง เพราะมีรู้รั่วอยู่มากมาย คนส่วนหนึ่งพยายามวิดน้ำออกจากเรือ อีกส่วนหนึ่งพยายามอุดรูรั่ว ในขณะที่คนอีกมากกำลังกระแทกกระทั้นให้เกิดรูรั่วต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ใส่ใจว่าเรือใกล้จะจมลงแล้ว ใครเล่าจะเป็นผู้กู้สถานการณ์อันเหลวไหลไร้สาระเหล่านี้ให้กลับมาสู่ความเป็นปกติได้ คงมิใช่ใครคนใดคนหนึ่งคนเดียว คนที่อยู่ใกล้รูรั่วก็คงจะต้องรับอุดรูรั่ว ใครที่มีเครื่องมือวิดน้ำก็คงต้องรีบวิดน้ำ ส่วนใครที่พอจะเตือนสติผู้คนที่ประมาทมัวเมาอยู่ ก็คงจะต้องทำหน้าที่นั้น เรือลำนี้จึงจะรอด
สำหรับคนที่อยู่ใกล้เด็กใกล้เยาวชนเล่า ควรทำหน้าที่ใด เด็กๆ กำลังแสดงรูรั่วให้เห็นหรือแสดงถึงน้ำที่เต็มเรือ หรือกำลังแสดงถึงความมัวเมามองไม่เห็นสถานการณ์สังคมที่แวดล้อม คือเรือที่กำลังจะจม พ่อแม่และครูจะประสิทธิ์ประสาทวิชาใดให้เขา หรือจะช่วยกันเป็นครูกู้เรือ สอนวิธีมองสถานการณ์ สอนวิธีอุดรูรั่ว สอนวิธีวิดน้ำ สอนวิธีเดินเรือฝ่าพายุคลื่นลมแรง นำเรือสู้ฟากฝั่งที่ปลอดภัยได้
สังคมไทยกำลังเผชิญทางเลือก ทางหนึ่งคือทางวิบัติที่เห็นอยู่รำไร
อีกทางหนึ่งคือการพัฒนาคุณค่าแท้แห่งความเป็นมนุษย์
ที่ยังพอจะมีต้นทุนอยู่ไม่น้อยในสังคมพื้นฐานการเกษตร
หากพ่อแม่และครูตื่นขึ้นก่อน และรับรู้ว่าสังคมไทยกำลังเผชิญวิกฤตการณ์ เช่น เราผลิตอาหารได้เองแทบทุกชนิด แต่เรากำลังบริโภคอาหารราคาแพง (อาจแพงกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งไม่สามารถผลิตอาหารได้เองด้วยซ้ำไป) และกำลังแสดงให้เห็นว่า แก้ปัญหาไม่เป็น เรื่องดีๆ ที่ควรเกิดขึ้นได้ง่ายๆ กลับยาก และไม่มีทางทำได้ในสังคมไทย ส่วนเรื่องไร้สาระ ไร้ประโยชน์ ฉาบฉวย และสิ้นเปลื้อง กลับทำขึ้นง่ายๆ ที่น่ากังวลมากที่สุดคือ คุณภาพของคนไทย ยิ่งนับวันเด็ก ๆ รุ่นใหม่กลับมีค่าเฉลี่ย IQลดลงจนเกือบจะถึงเส้นอันตราย การจัดการศึกษาของรัฐไม่ได้ทำเพื่อตอบโจทย์นี้สักนิด เพราะย่ำอยู่กับที่ ใช้ชุดความรู้ ชุดความคิดเดิมๆ ความเคยชินเดิมๆ จนล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก ไม่ว่าจะเป็นมิติทางด้านเทคโนโลยี หรือมิติทางด้านจิตใจ ฯลฯ
หากท่านยอมรับความจริงเหล่านี้ได้ ท่านย่อมพร้อมที่จะเป็นกัลยาณมิตรคู่แรกที่จะลุกขึ้นตั้งหลักมอบความจริงให้อยู่ในมือของเด็กและเยาวชนเสียตั้งแต่วันนี้ และพร้อมที่จะจูงมือเขาเผชิญสถานการณ์ไปด้วยกันอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ พากันตั้งคำถามที่จะสะกิดเตือนสติและหิริโอตตัปปะให้สว่างขึ้นในใจของเขา พร้อมที่จะรับฟังเขาด้วยใจที่เป็นธรรม ไม่ด่วนตัดสินถูก-ผิด ให้โอกาสเขาได้แสดงความสามารถในการเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา แทนผู้ใหญ่ที่หมดสภาพความรู้สึกผิดชอบชั่วดีไปแล้วดูบ้าง ฝึกเขาให้อดทน และมองความไม่ชอบมาพากลในสังคมให้เป็นบทเรียนที่เขาจะไม่เดินซ้ำรอยนั้นอีก
ผู้ใหญ่ในวันนี้อย่าคิดว่าจะต้องรอให้เด็กๆ เติบโตขึ้นเสียก่อนค่อยไปเผชิญสถานการณ์เหล่านี้เอาเอง ถึงวันนั้นเด็ก และเยาวชนของเราจะโทษว่าทำไมผู้ใหญ่ไม่บอกว่าเขาจะต้องมาแก้ปัญหาที่ผู้ใหญ่สร้างทิ้งไว้ให้เป็นมรดกอันขมขื่นเช่นนี้ และไม่ได้สร้างเขามาให้พร้อมที่จะรับมือกับวิกฤตการณ์เหล่านี้เลย ช่างไร้ความปราณีอะไรเช่นนั้น และเมื่อถึงวันนั้นทุกสิ่งจะสายเกินเยียวยา
สังคมไทยจะเป็นเช่นไร? ลูกหลานเราจะอยู่อย่างไร? เราพร้อมจะเป็นครูกู้เรือกันหรือยัง?
รศ.ประภาภัทร นิยม
๔ มิถุนายน ๒๕๕๕