PB270206
บันทึกรุ่งอรุณ,  ผลงานนักเรียน,  ภาคสนาม,  โรงเรียนมัธยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

ตามรอยปลากะพงสู่รายงาน ‘HIA ลุ่มน้ำบางปะกง’ของเด็กชั้น ม.๕ ร.ร.รุ่งอรุณ

จากปลากะพงทอดน้ำปลาที่ครูนำมาให้รับประทานในมื้อกลางวันเมื่อต้นปีการศึกษา นำพานักเรียนชั้น ม.๕ สายศิลป์ โรงเรียนรุ่งอรุณ ว่ายเวียนตามปลากะพงไปถึง “ลุ่มน้ำบางปะกง” แหล่งอาหารอันอุดมของคนในพื้นที่ภาคตะวันออก และคนไทยในภาคอื่นๆ รวมถึงคนเมืองอย่างนักเรียนรุ่งอรุณด้วย แต่จากการชมคลิปวิดีโอข่าวพลเมืองเรื่องปลากะพงเลี้ยงในแม่น้ำบางปะกงตายยกกระชัง และการศึกษาลุ่มน้ำบางปะกงในโครงงานวิชาสังคมศึกษา เด็กๆ กลับพบว่าวันนี้ลุ่มน้ำบางปะกงกำลังป่วยไข้จากการพัฒนาของภาครัฐ จึงได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาจัดทำเป็นรายงานการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Health Impact Assessment;HIA) โดยการสนับสนุนของสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) แล้วจัดเวทีสาธารณะ “เด็กวอนถามผู้ใหญ่ กรณี : แหล่งอาหารกับการพัฒนา พื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง” ในวันเสาร์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ณ วัดสนามจันทร์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเรียกร้องความสมบูรณ์คืนสู่ลุ่มน้ำแห่งนี้อีกครั้ง โดยมีนักวิชาการ ตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ชาวบ้านและเยาวชนในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงเข้าร่วมงานจำนวนมาก

00

ช่วงแรกของเวทีสาธารณะเป็นการนำเสนอรายงานHIA ทั้ง ๓ ฉบับ โดยนักเรียนชั้น ม.๕ สายศิลป์ โรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งแบ่งพื้นที่การศึกษาออกเป็น 3 กลุ่ม ตามเขตการประกอบอาชีพและภูมิศาสตร์ ได้แก่ แม่น้ำบางปะกงช่วงต้น ช่วงกลาง และช่วงปลาย ภายใต้ข้อสังเกต “ศักยภาพของพื้นที่ลดถอยเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกเข้าไปสู่ชุมชน สิ่งแปลกปลอมเหล่านี้เข้ามาได้อย่างไร มีปัจจัยใดบ้างสนับสนุน”

รายงาน HIA เล่ม ๑ :PB270206 แหล่งอาหารบางปะกงช่วงต้น กับ อุตสาหกรรมน้ำดิบเจาะจงศึกษาในพื้นที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โดยพบว่าพื้นที่นี้ดินอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านยังคงไว้ซึ่งภูมิปัญญาการยกร่องสวน มีผลผลิตสำคัญ เช่น ข้าวหอมมะลิ หมากพลู มะพร้าวน้ำหอม มะม่วงแรด และมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่โด่งดัง ดาวน์โหลดรายงาน HIA เล่ม ๑…คลิก

รายงาน HIA เล่ม ๒ : แหล่งอาหารบางปะกงช่วงกลาง กับ นิคมอุตสาหกรรม และโครงการท่าเรือเจาะจงศึกษาในพื้นที่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา และ อ.พานทอง จ.ชลบุรี พบว่าในอดีตพื้นที่นี้มีการทำนากันมาก ปัจจุบันชาวบ้านหันมาเพาะเลี้ยงกุ้งและปลาเพิ่มมากขึ้น ผลผลิตสำคัญ เช่น ข้าวหอมมะลิ กุ้งกุลาดำ ปลานิล ปลาสลิด และอาหารจากต้นจาก เช่น น้ำตาลจาก ลูกจากเชื่อม น้ำพริกดอกจาก  ดาวน์โหลดรายงาน HIA เล่ม ๒…คลิก

รายงาน HIA เล่ม ๓ : แหล่งอาหารบางปะกงช่วงล่าง กับ โรงงานอุตสาหกรรมเจาะจงศึกษาในพื้นที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในเขตปลายน้ำถึงบริเวณปากน้ำ พบว่าชาวบ้านมีการเพาะเลี้ยงปลากะพงกันมาก ผลผลิตสำคัญ เช่น ปลากะพง ปลากด ปลาม้า กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย หอยแครง ปูม้า ดาวน์โหลดรายงาน HIA เล่ม ๓…คลิก 

ในตอนท้ายของรายงาน HIA แต่ละฉบับได้นำเสนอข้อมูลผลกระทบจากโครงการพัฒนาของภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมน้ำดิบ นิคมอุตสาหกรรม และโครงการท่าเรือ ที่ก่อให้เกิดขยะ มลพิษทางน้ำและทางอากาศ และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรและแหล่งอาหารอันอุดมตามธรรมชาติเริ่มลดหายไปจากลุ่มน้ำบางปะกง  

การพัฒนาคืออะไรกันแน่?
จะแน่ใจได้อย่างไรว่าอาหารที่เราบริโภคจะไม่ปนเปื้อนสารเคมีจากอุตสาหกรรม?
จะหาจุดสมดุลระหว่างการพัฒนาและทรัพยากรอย่างไร?
แหล่งอาหารของเรา จะยอมแลกหรือกับโรงงาน?

นานาคำถามที่เด็กๆ ทิ้งท้ายไว้ก่อนจะมอบรายงาน HIA ให้กับผู้ใหญ่บ้านเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ต่อไป

PB100077-tile

ช่วงที่สองเป็นเวทีเสวนาที่ประกอบด้วย นักวิจัยชุมชน นักวิชาการด้านผังเมือง ตัวแทนจากกรมเจ้าท่า แกนนำเครือข่ายชาวบ้าน และตัวแทนสภาเยาวชนขณะที่ตัวแทนจากนิคมอุตสาหกรรมมาเข้าร่วมสังเกตการณ์ในช่วงแรก และกลับไปก่อนโดยไม่ขออยู่ร่วมเวทีเสวนา
ตัวอย่างความเห็นจากเวทีเสวนา

“จากที่ฟังเด็กๆ นำเสนอรายงาน HIA พบว่าเด็กๆ ได้ทำสิ่งใหม่ให้ผู้ใหญ่กลับไปคิด นั่นคือ การสร้าง GBP หรือ Gross Bangpakong Product ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของเศรษฐกิจชุมชน และน่าจะเป็นตัวชี้วัดความกินดีอยู่ดีของชาวบางปะกงได้ดีกว่า GDP” อาจารย์ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง

“การพัฒนาทุกวันนี้เป็นการพัฒนาแบบแยกส่วน แยกจากสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม ซึ่งไม่ได้พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน แต่ไปพัฒนาชีวิตนายทุน ทั้งนี้มีรายงานวิจัยพบว่า หนึ่ง พื้นที่ ๓ จังหวัดในภาคตะวันออก คือ จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ปลูกข้าวไม่พอกิน และสอง GDP ภาคเกษตรกรรมของไทยลดลง และติดลบตลอด นับแต่มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก งานวิจัยนี้บอกได้ว่า พอหรือยังกับภาคอุตสาหกรรม กับท่าเรือน้ำลึก” ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิจัยชุมชน และผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายเพื่อนตะวันออก

“เราสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจโดยนำเข้าวิชาการจากต่างประเทศ ถึงเวลาแล้วที่เราควรเปลี่ยนมาทำอุตสาหกรรมที่เหมาะกับวัฒนธรรม เหมาะกับผู้คน และเหมาะกับพื้นที่ของประเทศไทย นั่นคือ อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ซึ่งต้องทำในรูปแบบอุตสาหกรรมพอเพียง คือ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคน ไม่ทำร้ายคน และดำเนินตามหลักพอเพียง” นายไตรภพ โคตรวงษา ผอ.สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
การเสวนาในวันนั้นจบลงพร้อมด้วยข้อเสนอแนะและคำถามมากมายให้ทุกคนกลับไปขบคิด เพื่อหาวิธีการรักษาขุมทรัพย์ทางอาหารของเราไว้ ให้ปลากะพงยังคงมีแม่(น้ำ)บางปะกงให้อาศัยและว่ายเวียนต่อไป

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.