บันทึกรุ่งอรุณ,  โรงเรียนมัธยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

วันนั้นที่โรงเรียนกับนักเรียนโรงเรียนโอมิฯ

เล่าเรื่องโดย…kaze

รายงานฉบับย่อของนักเรียนรุ่งอรุณกลุ่มปิ๊ง เจ้าของนามปากกา “kaze”


14834_4524338020625_96856733_n

              เมื่อวันครู (๑๖ ม.ค.) ที่ผ่านมา ขณะที่หลายคนกำลังหลั่นล้ากับวันหยุดกลางสัปดาห์ นักเรียนม.๕ และพี่ๆ ม.๖ ส่วนหนึ่งได้มาโรงเรียนเพื่อต้อนรับและทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับเพื่อนๆ นักเรียนระดับม.๕ จำนวน ๗๐คน จากโรงเรียนโอมิ บราเธอร์ฮูด เมืองชิกะ ประเทศญี่ปุ่น   ซึ่งทางโรงเรียนรุ่งอรุณของเราได้ส่งนักเรียนไปแลกเปลี่ยนด้วยทุกปี แ ละปีนี้ก็ถือว่าเป็นปีการศึกษาที่พิเศษหน่อย เพราะทั้งสองโรงเรียนได้มาทำกิจกรรมด้วยกันจริงๆ เป็นครั้งแรก

                Kaze มาถึงโรงเรียนตอนประมาณ ๘ โมงเช้า พอมาถึงก็เห็นพี่ๆ ม.๖ มาจัดเตรียมงานกันแล้ว ทั้งยกเครื่องดนตรีโปงลาง เตรียมจอโปรเจคเตอร์ ทดสอบไมโครโฟน นอกจากนี้ยังมีคุณครูดีดีและพี่หนูดีมาช่วยเตรียมด้วย พอถึงเวลาเกือบๆ ๙ โมง นักเรียนโอมิฯ พร้อมคุณครู ๔ ท่านก็ทยอยกันเข้ามาในเรือนรับอรุณ  ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน บางคนใส่ชุดโรงเรียน  บางคนใส่ชุดยูกาตะ พร้อมกับขนอุปกรณ์ทำกิจกรรมถุงใหญ่มาด้วย งานนี้สนุกแน่ๆ ค่ะ

                และแล้ว เวลาเก้าโมงเศษ ก็ได้ฤกษ์เริ่มงานกิจกรรม ซึ่งมี Kaze และพี่การ์ตูน ม.๖ เป็นพิธีกร โดยคุณครูอัจฉรา สมบูรณ์ – ครูอุ๊ ได้ขึ้นมากล่าวเปิดงานค่ะ

“ในนามตัวแทนโรงเรียนรุ่งอรุณ ครูขอกล่าวต้อนรับคณะครูและนักเรียนโรงเรียนโอมิบราเธอร์ฮูดด้วยความเต็มใจ ครูรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ทางโรงเรียนโอมิให้เกียรติมาเยี่ยมโรงเรียนรุ่งอรุณ และร่วมกันจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างนักเรียนมัธยมของทั้งสองโรงเรียนเป็นกรณีพิเศษในปีนี้

ญี่ปุ่นและไทยมีประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาสืบทอดมาเป็นระยะเวลายาวนานเช่นเดียวกัน การรู้จักตนเองเป็นเรื่องสำคัญ เพราะช่วยให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เราเรียนรู้เพื่อรู้จักตนเองจากการรู้เฉพาะเรื่องของตนเองไม่เพียงพอ วิธีที่เราจะรู้จักตัวเองดีขึ้น เราสามารถเรียนรู้จากการรู้จักผู้อื่นด้วย การรู้จักกัน เข้าใจกัน ช่วยสร้างมิตรภาพให้เกิดขึ้น

เป็นเวลากว่าแปดปี ที่ทั้งสองโรงเรียนให้การสนับสนุนการสร้างความเข้าใจ และความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างเยาวชนญี่ปุ่นและไทย ด้วยการจัดให้นักเรียนได้อยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ของแต่ละฝ่ายเป็นประจำทุกปี ปีละ1-2 คน เป็นระยะเวลาประมาณ ๑ เดือน ซึ่งกิจกรรมนี้ ได้สร้างความผูกพันระยะยาวให้เกิดขึ้นระหว่างเยาวชนทั้งสองประเทศ

ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก ที่มีการพบปะกันในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็เต็มไปด้วยกิจกรรมวัฒนธรรมที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักเรียนเป็นผู้จัดเตรียมและดำเนินการด้วยตนเอง ครูจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากให้ความเข้าใจแล้ว ยังสร้างความสนุกสนานเป็นที่จดจำไม่รู้ลืมของนักเรียนทั้งสองโรงเรียน”

จากคำกล่าวของคุณครูอุ๊   เราจะเห็นได้ถึงมิตรภาพที่มีมาอย่างยาวนานของทั้งสองโรงเรียน   ซึ่งทั้งสองโรงเรียนก็หวังให้ความสัมพันธ์นี้ เป็นเช่นนี้ตลอดไป   จากนั้นคุณครูอันโดะ ตัวแทนคุณครูโรงเรียนโอมิฯ ได้ขึ้นมากล่าวขอบคุณที่ทางโรงเรียนได้มีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนนี้ และให้การต้อนรับเป็นอย่างดี จากนั้นพี่ธันวาและพี่หนูดีได้เป็นตัวแทนนักเรียนโรงเรียนรุ่งอรุณกล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อโครงการแลกเปลี่ยนในฐานะอดีตนักเรียนในโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างโรงเรียน   ซึ่งก็มีนักเรียนและคุณครูที่จำพี่ๆ ทั้งสองได้ด้วย จากนั้นนักเรียนโรงเรียนโอมิก็ขึ้นมาบอกเล่าความรู้สึกเช่นกัน

                จากนั้น ทางโรงเรียนรุ่งอรุณได้เริ่มนำเสนอก่อน  โดยการเปิดวิดิทัศน์แนะนำโรงเรียนและของขึ้นชื่อประเทศไทย ซึ่งถึงแม้จะมีเวลาน้อยและมีข้อผิดพลาดบ้าง  แต่ทุกอย่างก็เป็นไปด้วยดี  ต่อมาเป็นการแสดงดนตรีโปงลาง ซึ่งมีนักดนตรีโปงลางทั้ง ม.๕ และ ม.๖  รวมไปถึงครูโต้งมาบรรเลงเพลงโปงลางอย่างสนุกสนาน พร้อมกลุ่มพี่วิว พี่แตงโม และพี่ฝ้าย ขึ้นมาเซิ้งให้ชมสร้างความสนุกสนานให้คนทั้งห้องได้เป็นอย่างดี

                หลังจากที่นักเรียนโรงเรียนรุ่งอรุณได้นำเสนอไปแล้ว  ก็ถึงคราวของนักเรียนโรงเรียนโอมิบ้าง  ซึ่งมีทั้งการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับโรงเรียนในประเทศญี่ปุ่น  สาธิตการชงชา และแสดงละครเกี่ยวกับตำนานทะเลสาบเมืองชิกะให้ชม (มีคนใส่ชุด     เหมือคุณกินเรื่องกินทามะด้วย) แม้จะมีบางคนที่ดูขี้อายบ้าง(ถึงขั้นมือสั่นเวลาถือบท) แต่ก็เห็นได้ชัดว่ามีการเตรียมตัวมาอย่างดีมาก   ทั้งอุปกรณ์ การนำเสนอ และการเล่นกับผู้ชม ทำให้การนำเสนอสนุกสนานไม่แพ้กันเลยค่ะ

                เมื่อเสียงปรบมือซาลงแล้ว ก็ถึงเวลาทำกิจกรรมวัฒนธรรมญี่ปุ่น   ซึ่งจะมีทั้งหมด ๓ ฐานเวียนกันฐานละประมาณครึ่งชั่วโมง ได้แก่ ฐานพับกระดาษโอริกามิและทำของเล่น ฐานการละเล่น และฐานชงชาและใส่ชุดยูกาตะ

สำหรับฐานพับกระดาษและทำของเล่น ก็ได้พับนกกระเรียนกัน  แต่เป็นแบบญี่ปุ่น  ที่พับยากกว่าแบบไทยนิดนึง      แต่พับออกมาได้สวยมากค่ะ  สำหรับของเล่นก็จะเป็นกล้องส่องที่เมื่อส่องแล้วจะเห็นเป็นลวดลายละลานตา

ฐานการละเล่นจะเป็นเกมที่เหมือนกันกับบ้านเราคือ ให้คนหนึ่งเป็นซามูไร และผู้เล่นที่เหลือเป็นนินจา (ต้องถือดาบไว้ด้วย) แล้วซามูไรจะท่อง “Omae ha dareda” (“เจ้าเป็นใคร”) แล้วหันกลับมา ระหว่างที่ท่อง พวกนินจาจะต้องวิ่งเข้าไปแปะซามูไรให้ได้ หากซามูไรหันมาแล้วนินจาจะต้องหยุด  หากใครขยับก็ออกจากเกมไป ท่องหลายครั้งจนกว่าจะมีนินจาเอาดาบฟันซามูไรได้ ซามูไรจะนับ ๑ ถึง ๕ ให้พวกนินจาวิ่งถอยกลับไป ครบห้าแล้วจะบอกให้หยุด แล้วจะกระโดดเจ๗  ก้าวเข้าไปหาพวกนินจา ใกล้ใครก็แปะคนนั้นให้เป็นซามูไรต่อไป ด้วยความที่พื้นเรือนรับอรุณลื่นเลยมีนินจาสไลด์หนีไปได้ไกลหน่อย ก็ลำบากซามูไรนิดนึงค่ะ

ฐานชงชาก็สนุกไม่แพ้กันค่ะ ก็จะมีถ้วยชามาให้ แล้วตักผงชาใส่ลงไปสองช้อนไม้ไผ่ เทน้ำร้อนตามลงไป แล้วใช้ที่ชงคนชาเร็วๆ (อารมณ์เหมือนเจียวไข่เจียวบ้านเรา) พอเข้ากัน  เริ่มด้วยการกินขนมหวานก่อน  แล้วยกถ้วยชามาประคองไว้  อีกมือหนึ่งหมุนถ้วยชา ๒ ครั้ง ครั้งละประมาณ ๙๐ องศา จึงจะซดได้  ซึ่งขอบอกว่าชาหอมมากๆ ค่ะ เสร็จแล้วก็ใช้นิ้วปาดถ้วยชาตรงที่โดนปากเรานิดนึง  จากนั้นหมุนถ้วยชา ๒  ครั้งเหมือนเดิม เป็นอันเสร็จ  ซึ่งในพิธีจริงๆ ทุกคนจะสำรวมและเงียบขรึมมาก ไม่มีการแสดงท่าทีที่ไม่จำเป็นออกมา พิธีชงชาจึงถือเป็นศิลปะในการดำเนินชีวิตตามแบบแผนวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างหนึ่งค่ะ

เสร็จชงชาก็แวบไปใส่ชุดยูกาตะกับพี่การ์ตูน   แล้วมาทำหน้าที่พิธีกรต่อทั้งชุดยูกาตะนั่นเลย (เพิ่มบรรยากาศอีกนิด)  ก่อนที่จะทานข้าวกลางวันกัน ก็มีการถ่ายรูปรวม โดยให้นักเรียนที่ใส่ชุดยูกาตะมานั่งข้างหน้า ก็เลยไปเนียนกับเด็กญี่ปุ่นเขาซะเลย

ข้าวกลางวันเป็นข้าวกับผัดเปรี้ยวหวาน ผัดไท และต้มข่าไก่ ของหวานเป็นมังคุดและซ่าหริ่ม นักเรียนทั้งสองโรงเรียนก็นั่งทานข้าวด้วยกันอย่างเป็นกันเอง ซึ่งจะมีคำชมว่า”อร่อย”จากนักเรียนญี่ปุ่นอยู่ตลอดเวลา เมื่อกินข้าวเสร็จก็ถึงเวลาของหวาน  ซึ่งมังคุดเป็นที่ชื่นชอบในบรรดาเด็กญี่ปุ่นมาก เพราะทั้งแปลกใหม่ แกะสนุกและมีรสชาติอร่อย ก็เลยมีเด็กญี่ปุ่นไปหยิบมังคุดมาแกะกินกันใหญ่  ยิ่งพอเขารู้ว่าเปลือกทำสบู่ได้ก็ยิ่งชอบกันยิ่งขึ้น

อิ่มแล้ว ก็เป็นกิจกรรมช่วงบ่าย ซึ่งเป็นกิจกรรมวัฒนธรรมไทย ทั้งรำไทย มวยไทย การละเล่นไทย อาหารไทย ขนมไทย ภาษาไทย และสานปลาตะเพียน แต่ละฐานก็มีกลุ่มพี่ ม.๖ ประจำอยู่   ซึ่งเมื่อกลับมารวมกันอีกครั้งตอนบ่ายสองโมงกว่า   ทุกคนก็บอกว่ากิจกรรมสนุกมาก   ระหว่างรอให้ทุกกลุ่มกลับมา ก็มีการโชว์ผลงานให้ดู กลุ่มปลาตะเพียนก็มีปลาตะเพียนที่สานไว้มากมาย กลุ่มภาษาไทยก็นับหนึ่งถึงสิบเป็นภาษาไทยให้ฟัง กลุ่มทำอาหารไม่มีเพราะกินกันไปหมดแล้ว กลุ่มขนมหวานมีบัวลอยมาให้ทั้งนักเรียนและคุณครูชิมกัน (ได้ยินมาว่าอร่อยมาก) กลุ่มมวยไทยก็มีพี่นาย ม.๖และนักเรียนโอมิฯ คนหนึ่งขึ้นมาสาธิตให้ดูสองสามท่า  ก่อนสาธิตแต่ละท่าก็มีการเตรียมกันไว้ก่อนด้วย

เมื่อทุกคนครบแล้วก็ถึงเวลาปิดงาน โดยคุณครูอุ๊   ได้ขึ้นมากล่าวถึงงานกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้และอวยพรให้คณะคุณครูและนักเรียนโรงเรียนโอมิฯ เดินทางโดยสวัสดิภาพ   จากนั้นคุณครูอันโดะก็ได้ขึ้นมาบอกเล่าความประทับใจและขอบคุณทางโรงเรียนที่จัดกิจกรรมดีๆ นี้ขึ้นมา จากนั้นก็เป็นนักเรียนโรงเรียนรุ่งอรุณ คือ ฟ้าใส ม.๕  และนักเรียนโอมิฯ ๒  คนขึ้นมาบอกเล่าความประทับใจในวันนี้   นับได้ว่ากิจกรรมในวันนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งค่ะ

หลังจากทางทั้งสองโรงเรียนให้ของขวัญที่ระลึกแก่กันและกันแล้ว ก็ถึงเวลาถ่ายรูปที่ระลึก ทั้งเรือนรับอรุณมีเสียงพูดคุยกันเซ็งแซ่  ทั้งชวนกันถ่ายรูป ให้เมลล์และไลน์ไว้ติดต่อกัน   ระหว่างนั้นมีการเต้นฮิปโปด้วยกันโดยมีพี่นายเป็นมือกลอง และมีนักเรียนโรงเรียนโอมิมาร่วมเต้นด้วย (เพลงฮิปโปโกอินเตอร์ก็งานนี้แหละค่ะ) จากนั้น ทุกคนก็เดินไปส่งคณะคุณครูและนักเรียนโรงเรียนโอมิฯ ที่รถ   ระหว่างเดินก็มีเสียงพูดคุยกันไม่ขาดถึงความประทับใจและคำบ่นว่า “ไม่อยากกลับเลย” จากนักเรียนญี่ปุ่น    เมื่อรถออก ทั้งสองโรงเรียนก็โบกมือลากัน  ในขณะที่นักเรียนโรงเรียนเราก็เต้นฮิปโปส่งท้าย  

                 รถบัสของคณะโรงเรียนโอมิลับตาหายไปแล้ว  แต่ความประทับใจและมิตรภาพในวันนั้น  ถือเป็นของขวัญที่ยังคงอยู่กับทั้งสองโรงเรียนไปอีกนานค่ะ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.