บันทึกรุ่งอรุณ,  โรงเรียนมัธยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

การพูด : ศิลปะเพื่อการสื่อสาร

Jui

วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๖ คุณจุ้ย-ศุ บุญเลี้ยง ศิลปินผู้สร้างแรงบันดาลใจผ่านงานเขียน เสียงเพลง และการพูด เช่น หนังสือเรื่อง “นักอยากเขียน” “ลิ้นชักนักเดินทาง” ผลงานเพลง “อิ่มอุ่น” ที่เป็นทั้งผู้แต่งและขับร้อง ได้มาบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การพูด : ศิลปะเพื่อการสื่อสาร” ในชั่วโมงเรียนวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้น ม.๔ และ ม.๕ โรงเรียนรุ่งอรุณ เพื่อจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนเห็นคุณค่าของศิลปะแห่งการพูด

คุณศุอธิบายว่า การพูดนั้นมีถ้อยคำเป็นอาวุธหลัก มีสำนวนเป็นอาวุธลับ มีสำเนียงและน้ำเสียงเป็นองค์ประกอบที่สามารถคงหรือเปลี่ยนความหมายของถ้อยคำได้ และมีท่าทาง ท่าที เป็นเครื่องมือ แต่ถึงกระนั้นเมื่อพูดออกไปแล้ว ตัวคำพูด(ที่เป็นอาวุธหลักและอาวุธลับ)กลับมีความสำคัญเพียง ๑๐%  อีก ๔๐% คือวิธีการพูด (สำเนียง น้ำเสียง ท่าทาง ท่าที) ส่วนที่เหลือคือมุมมองของผู้ฟัง ดังนั้นคนที่จะพูดได้ดีจึงต้องฟังเป็น และการฟังที่ดีที่สุดคือ การฟัง(ให้ได้ยิน)ในสิ่งที่ผู้พูดไม่ได้พูด

IMG_9615

ช่วงหนึ่งคุณศุชักชวนเด็กๆ ทำกิจกรรมการพูดและการฟัง โดยขอตัวแทนนักเรียน ๓ คน ออกมาเล่าถึงความทรงจำในวัยเยาว์คนละ ๓ นาที หลังจากนักเรียนคนแรกเล่าจบ คุณศุก็เรียกนักเรียนคนที่จะพูดถัดไปออกมาเล่าสิ่งที่ได้ยินจากเพื่อนคนแรก จากนั้นก็ให้นักเรียนคนที่สามออกมาเล่าเรื่องที่ได้ยินจากเพื่อนคนแรกและคนที่สอง ผลปรากฏว่าจากเรื่องเล่าเรื่องเดียวกัน ฟังในสถานที่และเวลาเดียวกัน แต่เรื่องเล่าของแต่ละคนกลับไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะยิ่งเล่ารายละเอียดในเรื่องราวก็ยิ่งขาดหายไป

“นั่นเพราะนักเรียนทั้งสองคนกำลังพะวงกับสิ่งที่ตัวเองจะต้องพูด จึงไม่ได้ตั้งใจฟังเรื่องของเพื่อน นี่คือความสำคัญของการฟัง เพราะถ้าเราฟังพลาด สารสำคัญอาจหายไป”

อีกกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยฝึกทักษะการฟัง คือ การให้นักเรียนฟังเรื่องเล่าสั้นๆ ความยาวราว ๕-๖ บรรทัด แล้วตอบแบบทดสอบ ๖ ข้อ ว่าข้อไหนเป็น “ข้อเท็จจริง” จากเรื่องเล่า และข้อไหนเป็น “การอนุมาน” ของผู้ฟัง ผลปรากฏว่ามีนักเรียนเพียงไม่กี่คนที่ตอบถูกทุกข้อ นั่นเพราะคนเรามักจะอนุมานหรือคาดเดาเพิ่มเติมจากสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เช่น ในเรื่องบอกเพียงว่า “ไก่กับแดงชอบช้อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้า” หลายคนก็อาจอนุมานไปว่า ไก่กับแดงเป็นวัยรุ่น หรือไก่กับแดงเป็นผู้หญิง ซึ่งการอนุมานนี้อาจทำให้เรื่องที่ได้ยินได้ฟังมานั้นผิดเพี้ยนไปได้

“บางครั้งคนพูดอาจมีประเด็นซ่อนเร้นที่ไม่ได้พูดออกมา คนฟังจึงต้องเป็นนักสืบถ้อยคำ ฟังให้ได้ยินในสิ่งที่เขาไม่ได้พูดออกมา การฟังเป็นจะทำให้เราพูดเป็น และใช้การพูดให้เป็นประโยชน์กับชีวิตได้”

ก่อนจากกันในวันนั้น คุณศุได้แบ่งปันมุมมองที่เป็นหลักในการเรียนรู้และการทำสิ่งต่างๆ จนถึงทุกวันนี้ว่า

“ในสมัยเรียนผมเคยสอบได้คะแนนไม่ดี แต่ก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองหัวไม่ดี ผมเคยวาดรูปได้คะแนน ๐ จนครูวิชาอื่นต้องมาขอดูว่ามีด้วยหรือคนที่วาดรูปได้ ๐ คะแนน แต่ผมก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองวาดรูปไม่ได้ ผมเชื่อว่าตัวเองแต่งเพลงได้ก่อนจะแต่งได้ เชื่อว่าตัวเองเล่นดนตรีได้ก่อนจะเล่นได้”

เสียงหัวเราะและรอยยิ้มของนักเรียนที่ปรากฏอยู่เป็นระยะตลอดการบรรยายในวันนั้น สะท้อนให้เห็นว่าคุณศุไม่เพียงมาสอนหลักการพูดการและการฟังให้กับเด็กๆ เท่านั้น แต่ยัง “ทำ” ให้เด็กๆ เห็นว่า การพูดอย่างมีศิลปะนั้นเป็นอย่างไร

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.