บันทึกรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

ลูกไม่นิ่ง ทำอย่างไร

วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๖ กลุ่มผู้ปกครองอาสา ชมรมห้องเล่นลูกรัก จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “ลูกไม่นิ่ง ทำอย่างไร” โดย ดร.สรินยา ศรีเพชราวุธ (SIPT certified Therapist) จากภาควิชากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ ห้องประชุมเรือนรับอรุณ โรงเรียนรุ่งอรุณ เพื่อให้ผู้ปกครองที่สนใจมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้น และนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม

โรคสมาธิสั้น (ADHD; Attention-Deficit Hyperactive Disorder) พบบ่อยในวัยเด็ก โดยเด็กจะสมาธิสั้นกว่าปกติ (Inattentiveness) อยู่ไม่นิ่งหรือซุกซนผิดปกติ (Overactivity) หุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจในการทำสิ่งต่างๆ (Impulsiveness) บอกตัวเองให้นิ่งให้หยุดไม่ได้ เหมือนเป็นเครื่องยนต์หรือเครื่องจักรที่เริ่มทำงานแล้วหยุดไม่ได้ ซึ่งมาจากภาวะสารเคมีบางตัวในร่างกายน้อยกว่าปกติ

สาเหตุของโรคสมาธิสั้น ประกอบด้วย ปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยทางชีวภาพ เช่น โรคลมบ้าหมู คลอดก่อนกำหนด ปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และปัจจัยทางกายภาพ เช่น สารสื่อประสาทมีปริมาณน้อยกว่าเด็กปกติทั่วไป โดยพบว่าปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ใช่ปัจจัยหลักที่เป็นสาเหตุของโรค แต่เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เด็กสมาธิสั้นมีอาการชัดและรุนแรงขึ้น และเป็นปัจจัยสำคัญในการบำบัดที่ช่วยให้เด็กมีอาการดีขึ้นได้

อย่างไรก็ตามการจะระบุว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่นั้นต้องอาศัยเกณฑ์วินิจฉัยที่อ้างอิงมาตรฐานของสมาคมจิตเวชอเมริกัน  โดยแพทย์จะยังไม่วินิจฉัยในเด็กเล็กๆ วัย ๑-๒ ขวบ แต่จะรอจนเด็กมีอายุ ๖ ขวบขึ้นไป เพราะอาการสมาธิสั้นนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย และการวินิจฉัยต้องใช้เวลาในการสังเกตร่วมกันถึงจะบอกได้ว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้น หรือเป็นเพียงอาการชั่วคราวที่เป็นผลจากการเลี้ยงดูหรือปัจจัยอื่นๆ

ปัญหาและผลกระทบที่พบในเด็กโรคสมาธิสั้น

ด้านความสามารถจดจ่อ ทำอะไรเสร็จไวและวอกแวกง่าย ไม่สามารถมีสมาธิที่มากพอในการทำงาน เปลี่ยนความสนใจง่ายมาก

ด้านความตื่นตัว มีการเคลื่อนไหวที่มาก อยู่ไม่นิ่ง วุ่นวาย เปลี่ยนกิจกรรมบ่อยครั้ง

ด้านอารมณ์ หุนหันพลันแล่น กระตุ้นเร้าได้ง่าย อารมณ์หงุดหงิด ร้องไห้หรืองอแงง่ายมากแม้ว่าไม่มีอะไรมายั่วยุอารมณ์ ขุ่นเคืองง่ายมากต่อการวิพากษ์วิจารณ์ อารมณ์คุกรุ่นได้ง่าย

ด้านการแสวงหาสิ่งกระตุ้นเร้า แสวงหาสิ่งเร้าตลอดเวลาและในปริมาณที่เข้มข้น ต้องการปริมาณสิ่งเร้าที่มีความเข้มข้นตลอดเวลา

ด้านการวางแผนและจัดการงาน/ตัวเอง ไม่สามารถวางแผนและจัดการกับกิจกรรมที่ต้องอาศัยสมาธิและมีรายละเอียด มักคับข้องใจ ทำงานเร็วแต่เสร็จแบบลวกๆ ไม่มีระเบียบเรียบร้อย

ด้านการจัดการเวลา ต้องได้รับการกระตุ้นบอกให้ทำงาน หรือหากทำไปแล้วและเป็นงานหรือกิจกรรมที่ชอบมักจะไม่รู้ว่าเมื่อไรควรหยุด มักจะต่อต้านหรือไม่ให้ความร่วมมือ แต่หากเป็นกิจกรรมที่ไม่สนใจมักจะเปลี่ยนบ่อย เลิกทำโดยไม่กลับมาทำอีก แม้ว่าจะได้รับการกระตุ้นบอกก็ตาม

ด้านการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ กระวนกระวายหรือวุ่นวาย อยู่ไม่นิ่ง

ด้านการปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง มักจะต้องการควบคุมสถานการณ์เองเพราะปรับตัวยาก หากมีอะไรเข้ามาใหม่ ยากต่อการปรับตัวและดูเครียดกับการเปลี่ยนแปลง

โรคสมาธิสั้นสามารถบำบัดให้มีอาการดีขึ้นได้ด้วยกิจกรรมบำบัด โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้ปกครอง ครู และนักกิจกรรมบำบัด ที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้น การบำบัดที่ตัวเด็กด้วยกิจกรรม SI (Sensory Integration Intervention) และการปรับสิ่งแวดล้อมด้านสิ่งเร้าความรู้สึกและทางกายภาพ รวมทั้งการจัดตารางกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการและทำให้เด็กเรียนรู้หรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดีขึ้น

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.