“ละคร” บูรณาการคุณค่าประวัติศาสตร์สู่ความหมายของชีวิต
ภาคเรียนที่ ๓/๒๕๕๕ หน่วยการเรียนวิชาบูรณาการสังคม-ภาษาไทยของนักเรียนชั้น ม.๒ โรงเรียนรุ่งอรุณ เป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยใช้กระบวนการละครเป็นสื่อบูรณาการการเรียนรู้ และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับนักเรียน ด้วยการอ่านนิยายอิงประวัติศาสตร์ แล้วออกภาคสนามตามรอยประวัติศาสตร์ในนิยาย ณ สถานที่จริง จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาศึกษาและวิเคราะห์ หาข้อมูลเพิ่มเติม แล้วเขียนเป็นบทละครเพื่อจัดแสดงต่อไป
ในภาคเรียนที่แล้ว นักเรียนมีโอกาสเข้าค่ายเรียนรู้ทักษะการละครในค่าย “ปลูกฝันให้หยั่งราก ร่วมฝากละครให้ผลิใบ” กับครูจากคณะละครมรดกใหม่โดยครูช่าง-ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง รวมทั้งเดินทางไปเข้าค่ายร่วมกับคณะละครมรดกใหม่ที่จังหวัดเลยในช่วงปิดภาคเรียนเดือนตุลาคม ๒๕๕๕ ที่เปิดโลกการเรียนรู้พาเด็กๆ ไปรู้จักละครเวทีในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นงานของผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้าง งานฝ่ายฉากและเวที งานกำกับศิลป์ การเขียนบท การจัดเสื้อผ้า เทคนิคการแสดง และการจัดแสง สี เสียง รวมทั้งการเข้าถึงคุณค่าที่แท้จริงของงานละครเวทีที่พวกเขากำลังทำอยู่ว่า ละครคือสื่อเชื่อมโยงระหว่างพวกเขากับผู้ชม ในบอกเล่าและสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ นั่นคือเรื่องราวประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาในแง่มุมของความสามารถ ความเสียสละและความสามัคคี เพื่อให้ผู้ชมเห็นถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์และภาคภูมิใจในบรรพบุรุษไทยเหมือนกับที่พวกเขาได้เรียนรู้ ซึ่งการจะให้ผู้ชมเข้าถึงคุณค่าที่ต้องการจะสื่อ นักเรียนหรือผู้แสดงและทีมงานละครทุกคนต้องเข้าใจและเข้าถึงคุณค่านั้นเสียก่อน แล้วถึงจะสื่อคุณค่านั้นออกไปผ่านการแสดงละครที่เป็นหนึ่งเดียวระหว่างผู้แสดงและผู้ชม
การทำงานละครในครั้งนี้ ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นเจ้าของงานอย่างแท้จริง โดยนำองค์ความรู้ที่ได้จากค่ายละครมาใช้ทำงานจริง ขณะที่ครูอารี ครูอ้อม และครูเฉิม ถอยออกมาเป็นทีปรึกษาที่พร้อมให้คำแนะนำและช่วยเหลือเมื่อนักเรียนต้องการ เด็กๆ จึงได้เรียนรู้กระบวนการทำงานละครในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเขียนบทละครอิงประวัติศาสตร์ที่มีเนื้อหากินใจ การแบ่งบทบาทการทำงานและการแสดง การออกแบบและจัดหาเสื้อผ้านักแสดง การทำฉาก และการจัดแสง สี เสียง พร้อมกันนั้นก็ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน และการเผชิญปัญหาและหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันด้วย
ใครที่ได้มาชมละครทั้ง ๓ เรื่อง จาก ๓ ห้องเรียน ในวันที่ ๑๘-๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ คงรู้สึกไม่ต่างกันว่า เด็กๆ เติบโตขึ้นจากการทำงานละครในครั้งนี้ พวกเขามองเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ สามารถเชื่อมโยงเนื้อหามาสู่ตัวเอง และเชื่อมโยงตัวเองไปสู่ผู้อื่นหรือผู้ชมได้ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงที่สมจริงในฉากสนทนาที่บอกเล่าเนื้อหาสำคัญในประวัติศาสตร์ ฉากสู้รบ และฉากตลกที่เรียกเสียงหัวเราะจากคนดู เสื้อผ้าที่ดัดแปลงจากของที่มีอยู่ การทำฉากง่ายๆ แต่ช่วยสร้างความสมจริงให้กับเรื่องราว เทคนิคการจัดแสง สี เสียง ที่ได้รุ่นพี่มาช่วย ทำให้ละครดูมีสีสันและน่าสนใจ ตลอดจนการร่วมแรงร่วมใจกันของนักเรียนทั้ง ๓ ห้อง ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาช่วยงานด้วยความเต็มใจ เพราะตระหนักดีว่า นี่ไม่ใช่งานของใครคนใดคนหนึ่งหรือห้องใดห้องหนึ่ง แต่งานละครนั้นคือหนึ่งเดียว ที่ทุกคนจะต้องพร้อมใจทำและทำไปด้วยกัน
ชั้น ม.๒/๑ เรื่อง “พระนเรศวร” รำลึกถึงพระปรีชาสามารถด้านการสู้รบด้วยกลศึกของพระนเรศวร
ชั้น ม.๒/๒ เรื่อง “บางระจัน” รำลึกถึงความกล้าหาญและความเสียสละของวีรชนคนบางระจัน
ชั้น ม.๒/๓ เรื่อง “ขุนศึกพระเจ้าตากสินมหาราช” รำลึกถึงความกล้าหาญและความเสียสละของพระเจ้าตาก