sanprathom028-6
บันทึกรุ่งอรุณ,  โรงเรียนประถม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

เรื่องเล่าจากห้องอบรม : การจัดการเรียนภาษาไทยตามแนว BBL

เล่าเรื่องโดย…ครูชัชฎาภรณ์ ศิลปะสุนทร (ครูอ้อ)

sanprathom028-6         ในวันที่ ๒๐ – ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๕  ทางโรงเรียนประถมได้รับโอกาสจากอาจารย์พรพิไล เลิศวิชา ผู้เชี่ยวชาญการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางของสมอง (Brain based learning) มาสังเกตการสอน เพื่อให้คำ.แนะนำ.ในการพัฒนาการสอนของครู รวมถึงการให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการพัฒนาทักษะการคิดอย่างเป็นระบบของนักเรียนให้กับครูโรงเรียนประถม ซึ่งในสองวันแรกนั้น ในช่วงเช้า อาจารย์จะเข้าสังเกตการสอนของครูภาษาไทยทั้ง ๖ ระดับ คือ ตั้งแต่ชั้น ป.๑-ป.๖  และนำมาสะท้อนผล พร้อมให้คำชี้แนะเพิ่มเติมในช่วงบ่าย  ซึ่งอาจารย์ได้ให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์มากมาย  ซึ่งจะเป็นการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนของครู  รวมถึงมุมมองด้านบวกที่เป็นขวัญกำลังใจให้ครูเป็นอย่างมาก เช่น

๑. ครูมีพัฒนาการในการเตรียมสื่อในการสอน เพื่อให้นักเรียนใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ มีการใช้สื่อที่หลากหลายมากขึ้น  เช่น บัตรคำ บัตรภาพต่างๆ  เป็นต้น

๒. การทำ brain – gym ก่อนเริ่มเรียน ครูต้องเพิ่มเรื่องความจริงจังในการกำกับให้นักเรียนทำ.ท่าอย่างเข็มแข็ง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงจรการทำ.งานของสมองอย่างสมบูรณ์  

๓. ครูต้องพัฒนาการทำใบงานให้นักเรียนได้ฝึกเขียนในรูปแบบต่างๆ ที่มากขึ้น  เพื่อดึงศักยภาพงานเขียนของนักเรียนให้สูงขึ้น  จุดนี้กระบวนการในการสอนต้องมีความเข้มข้นขึ้น หากครูต้องสร้างบรรยากาศการเขียนให้นักเรียนรู้สึกผ่อนคลายและมีความกระตือรือร้น  ด้วยการชวนพูดคุยก่อนเขียน

๔. การสอนให้นักเรียนทำ timeline นั้น อาจารย์สนับสนุน เพราะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เป็นการช่วยให้นักเรียนได้มองเห็นภาพข้อมูลจากนามธรรมเป็นรูปธรรม และเห็นความสัมพันธ์ของแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเหตุเป็นผลกัน  โดยอาจารย์ได้ให้ความรู้เพิ่มว่า ในการสอนเรื่องนี้ ครูสามารถสอนได้ตั้งแต่ชั้น ป.๑ แต่เนื้อหาที่จะให้นักเรียนได้เรียนรู้นั้น ต้องเป็นเรื่องที่สอดคล้องตามวัยของนักเรียน เช่น การทำ timeline บันทึกเหตุการณ์ของตนเองตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน  เป็นต้น 

๕. การที่ครูได้นำกระบวนการละครมาสอนวรรณคดี  เป็นเทคนิคที่ดี  เพราะละครจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยพัฒนาคุณภาพภายในของนักเรียน จากการเข้าถึงบทบาท เรียนรู้นิสัยของตัวละคร แล้วนำมาปรับใช้กับตนเอง 

sanprathom028-5sanprathom028-4นอกจากนั้นอาจารย์ยังได้แนะนำเคล็ดลับดีๆ ในการช่วยพัฒนาภาษาของนักเรียน คือ การทำ Daily language เป็นช่วงเวลาให้นักเรียนได้สนุกกับภาษาในเวลาประมาณ ๕ นาที เป็นการช่วยทบทวนความรู้ และเสริมความรู้ในส่วนที่นักเรียนยังบกพร่อง

ในวันที่สาม วันนี้เป็นวันที่มีความเข้มข้นในเนื้อหาเป็นอย่างมาก  ซึ่งอาจารย์ให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิควิธี “ทำอย่างไรให้เด็กคิดเป็น” ในการสอนให้คิดนั้นต้องไม่สอนให้คิดด้านเดียว ต้องสามารถนำไปสู่การคิดที่ซับซ้อนได้   ซึ่งกระบวนการที่จะทำให้นักเรียนพัฒนากระบวนการคิดไปสู่การคิดระดับสูง (Higher Thinking Order)  นั้น  ต้องใช้กระบวนการหลายขั้นตอน  ซึ่งต้องเริ่มจากการจำได้ในเรื่องต่างๆ ที่เรียนรู้ที่มีอยู่รอบตัว เป็นพื้นฐานประกอบในการต่อยอดการคิดขั้นสูง 

กระบวนการคิดขั้นสูงคืออะไร หลายคนอาจสงสัย อย่างไรจึงเรียกว่านักเรียนสามารถคิดขั้นสูงได้  อาจารย์พรพิไลได้ยกตัวอย่างให้ครูที่เข้าอบรมเห็นภาพเป็นรูปธรรม เช่น หลังจากที่ครูอ่านนิทานให้นักเรียนฟัง เป็นข้อที่พึงปฏิบัติว่า ครูต้องถามคำถามใน ๒ ลักษณะคือ

๑. การใช้คำถามปลายปิด เป็นการถามที่เกี่ยวกับความรู้เป็นส่วนใหญ่ คือ ใคร ทำอะไร ที่ไหน และอย่างไร

๒. การใช้คำถามปลายเปิด  ซึ่งคำถามปลายเปิดนี่เองเป็นตัวการสำคัญที่จะกระตุ้นให้นักเรียนได้รู้จักการคิดวิเคราะห์  การสังเคราะห์  เช่น ครูถามว่าแรงจูงใจเบื้องหลังของการกระทำนี้คืออะไร   ถ้าเป็นนักเรียน..นักเรียนจะตัดสินใจอย่างไร   ทำไมตัวละครตัวนั้นจึงต้องทำอย่างนี้  เป็นต้น  ซึ่งการที่นักเรียนจะคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ได้นั้น นักเรียนต้องมีชุดความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ อยู่ในตัวเอง   ดังนั้นอย่ามองว่า “ความจำ” ไม่สำคัญ 

sanprathom028-1และคำถามสุดท้ายที่ครูต้องนำมาใช้คือ การใช้คำถามประเภทการประเมินความคิดเห็น เป็นคำถามที่กระตุ้นการคิดของมนุษย์ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น  เช่น  นักเรียนจะเลือกอะไร ระหว่าง ….. กับ …..  ลองจัดลำดับความสำคัญของ ……  เป็นต้น

จากตัวอย่างจากการสอนนิทานเพื่อฝึกให้นักเรียนได้ยกระดับการคิดนั้น ทำให้ครูเรียนรู้ว่า  การตั้งคำถามของครูมีความสำคัญมาก ซึ่งคำถามเป็นตัวช่วยในการจัดระบบความคิดให้นักเรียน ดังนั้นการที่จะทำให้นักเรียนตอบไปสู่ประเด็นสำคัญได้นั้น ต้องมีการย่อยคำถามและไต่ระดับของคำถาม  การใช้คำถามควรมีความหลายหลาก  เพราะชุดคำถามแต่ละประเภทนั้นต้องใช้วิธีคิดที่ต่างกันในการให้ได้มาซึ่งคำตอบ

 ซึ่งคุณครูที่เข้าอบรมต่างสะท้อนว่า  การทำเช่นนี้มีความสำคัญและถ้านำไปปรับใช้ในห้องเรียนของตน โดยเลือกชุดคำถามที่เหมาะสมตามพัฒนาการทางด้านความคิดตามวัยของนักเรียน  อันจะเป็นการช่วยกันพัฒนานักเรียนของเราให้มีกระบวนการคิดขั้นสูงได้มากขึ้น โดยครูจะเริ่มจากการฝึกให้นักเรียนเป็นผู้สังเกต    รู้จักคิดแยกแยะ คิดเปรียบเทียบ  คิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์   กระบวนการที่ครูทำนั้นจะเป็นการฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบให้กับนักเรียน

แต่อย่างไรก็ตามในการฝึกพัฒนาการด้านความคิดนั้น ไม่เพียงแค่ทำเฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น  ทางบ้านก็สามารถทำได้  โดยมีวิธีการง่ายๆ  คือ การชวนลูกของท่านพูดคุย การพูดคุยเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งทั้งครูและพ่อแม่ต้องเรียนรู้บทบาทของการเป็นผู้สนทนาที่ดี  ต้องรู้จักระดับของการพูดคุยว่าอยู่ในระดับใด  เป็นการพูดคุยแบบสนทนา  เป็นการ Debate หรือเป็นการพูดคุยแบบ dialogue เพื่อที่จะได้คุยถูกจังหวะ   สิ่งที่ควรระวังคือ อย่านำความคิดและความรู้สึกของเราครอบลงไปในตัวเด็ก  เพราะในการการสอนให้นักเรียนคิดเป็นนั้น จำเป็นต้องฝึกตั้งแต่ระดับอนุบาล เริ่มจากกระบวนการคิดง่ายๆ  มาสู่การคิดที่ซับซ้อนตามวัยต่อไป

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.