คณิตแนวใหม่ในรั้วรุ่งอรุณ
เล่าเรื่องโดย… พ่อหมี
การปฐมนิเทศในระดับประถมศึกษาปีที่ ๑-๖ ในภาคเรียนที่ ๓ ปีการศึกษา ๒๕๕๕ นี้ ทางโรงเรียนได้เปิดชั้นเรียนคณิตศาสตร์แนว Open Approach โดยจำลองชั้นเรียนมาให้ผู้ปกครองสังเกตการเรียนการสอนที่ห้องประชุมเรือนรับอรุณตอนที่ผมได้รับจดหมายมาอ่านนั้น ความรู้แรกเลยคือ ดีใจครับที่จะได้ช
การเรียนการสอนคณิตศาสตร์แนว Open Approach ซึ่งเป็นแนวใหม่ ผมได้ยินมา ๒-๓ ปีแล้ว แต่ผมก็ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่ามันคือการสอนแบบไหนกันแน่ แต่รู้คร่าวๆ ว่าเป็นการสอนแบบเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ร่วมกันแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ มีอิสระความคิดในการคิดวิธีแก้ปัญหาโจทย์ วิธีคิดของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน แต่ผลลัพธ์หรือวัตถุประสงค์ที่จะได้รับเหมือนกัน ผมทราบเท่านี้แหละครับ
ย้อนไปในวัยเด็ก…หลายท่านคงเคยได้ผ่านประสบการณ์การเรียนในวัยเด็กเหมือนผมคือ คุณครูถามคำถาม แต่ไม่มีใครกล้ายกมือตอบ บรรยากาศที่น่าสะพรึงกลัว หวาดกลัวเหลือเกิน กลัวครูจะชี้หน้าถาม ทำไมถึงไม่มีใครกล้ายกมือตอบล่ะครับ ทั้งๆ ที่ครูก็ให้โอกาส??? ก็ผมเห็นเพื่อนผมยกมือตอบคำถาม พอตอบผิด เพื่อนๆ หัวเราะ แทนที่ครูจะบอกกล่าวเพื่อนว่า อย่าหัวเราะเยาะเพื่อน คุณครูกลับหัวเราะซ้ำเติมเพื่อนผม แล้วพูดว่า “เธอเอาสมองส่วนไหนคิดเนี่ย?”
ผมถามจริงๆ เถอะว่า ถ้าเป็นคำถามต่อไปจากคุณครู จะมีใครกล้าเสี่ยงโดนเพื่อนหัวเราะหรือครูถากถางหรือไม่ครับ ถ้ากล้า…ผมถือว่าคุณแกร่งมากๆ !!!!! คุณเคยหรือไม่ที่เจอประสบการณ์แบบนี้ตอนจบคาบเรียนในชั้นเรียน
“มีใครสงสัยอะไรบ้างมั๊ย?” คุณครู
“ผมไม่ทราบว่าจำนวน 50 มันมาจากไหนครับ?” นักเรียนคนหนึ่ง
“นี่เมื่อตะกี้นี้ เธอไม่ได้ฟังที่คุณครูพูดเลยใช่มั้ย?!?” คุณครู
คราวนี้ยาวเลยล่ะครับ…กลายเป็นความผิดที่ถามครู แบบนี้ครั้งหน้าใครจะกล้าถาม ถ้าเป็นผม ผมก็เงียบทำหน้าซื่อๆ เหมือนเข้าใจ แต่จริงๆ ในสมองกลวงเป็นโพรงไม้ผุๆ ไม่เข้าใจอะไรเลย เวลาเข้าเรียนครั้งหน้าก็จะพยายามนั่งหลังห้อง เผื่อว่าไกลมือครูจะเอื้อมมาชี้ถึง หรือครูอาจจะสายตาไม่ดี จะได้เรียกแต่คนนั่งหน้าที่เห็นชัดๆ แทน !!!! ไม่น่าเชื่อว่า ผมเรียนจากระดับประถมจนถึงชั้นปริญญาตรี…ผมก็ไม่เคยยกมือออกแสดงความเห็นหรือตอบคำถาม นั่นเป็นเพราะว่า ผมกลัวตอบผิด กลัวคนหัวเราะเยาะ
ตราบวันนั้นจนถึงวันนี้ วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๕ (ขอจารึกไว้เป็นช่วงเวลาที่ดี ฮ่าๆ ) คือวันที่ผมได้เห็นชั้นเรียนบรรยากาศในฝัน สวรรค์ในการเรียนที่ผมอยากสัมผัส บอกตรงๆ ว่าผมแอบอิจฉาลูก อันที่จริงผมอิจฉาเขาตั้งแต่ลูกสาวคนโตได้มาเรียนที่โรงเรียนรุ่งอรุณเมื่อ ๕ ปีที่แล้ว
วันแรกของการเปิดชั้นเรียนคณิตศาสตร์เป็นของระดับ ป.๑ ซึ่งเป็นชั้นเรียนของลูกชายคนเล็กของผมเอง ตอนเริ่มชั้นเรียนนั้น บรรยากาศเป็นกันเองมาก ผมสังเกตจากเด็กนักเรียนมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ เวลาคุณครูตั้งคำถามขึ้นมา ก็จะเปิดโอกาสให้เด็กได้ยกมือตอบคำถามกัน ผมเห็นเด็กหลายคนยกมือแย่งตอบกันใหญ่ (เห็นคุณครูบอกว่าปกติยกมือมากกว่านี้อีก แต่อาจจะเป็นเพราะเขินอายผู้ปกครองที่มานั่งชม) ในใจผมคิดขึ้นมาทันที “ว้าว…นี่เป็นห้องเรียนในฝันผมเลย” ผมอยากเห็นนักเรียนแย่งตอบคำถามกันแบบนี้ ผมอยากได้บรรยากาศแบบนี้สมัยผมเด็กๆ ผมอยากเป็นเด็กคนนั้นที่ยกมือตอบ ถึงแม้จะผิด คุณครูก็ไม่หัวเราะ และถ้าเกิดผมไม่รู้ คุณครูก็จะพยายามหาวิธีอธิบายให้เข้าใจด้วยท่าทีที่เป็นกัลยาณมิตร
ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะยกมือตอบนะครับ เด็กบางคนก็เขินอายที่จะตอบ ซึ่งลูกผมทั้งสองคนก็อยู่ในกลุ่มนี้ แต่ผมสังเกตคุณครูผู้สอนครับว่า จะพยายามเปิดโอกาสให้เด็กที่ไม่ได้ยกมือได้ตอบคำถามบ้าง บางครั้งก็อาจจะเรียกชื่อเพื่อให้แสดงความคิดเห็น ช่วยกันค้นหาคำตอบ คำตอบไหนที่ผิด คุณครูก็จะไม่ใช้คำพูดที่ทำให้สูญเสียความมั่นใจลงไปอีก ซึ่งจุดนี้ผมให้ความสำคัญมากๆ ครับ เพราะผมไม่อยากให้เกิดสภาวะ “เด็กท้ายห้องที่ถูกหลงลืม”
คณิตสาสตร์แนว Open Approach นั้น คำถามหรือโจทย์ที่ถูกตั้งขึ้นมา ผลลัพธ์อาจจะเป็นคำตอบเดียวกัน แต่วิธีการคิดสามารถเกิดขึ้นได้หลายวิธี ซึ่งจุดนี้เองที่คุณครูพยายามระดมความคิดจากเด็กนักเรียนว่า ใครมีวิธีคิดแบบไหนบ้าง? ถ้าเป็นสมัยผมเรียนนะเหรอ? ครูไม่ถามหรอกครับ ขึ้นกระดานสอนไปเลย บอกวิธีลัดไปเลย
ผมขอชื่นชมคณะคุณครูที่เห็นความสำคัญของคณิตศาสตร์แนว Open-Approach
มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนเทน้ำร้อนเพื่อชงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพื่อรับประทานแล้วก็อิ่มไปวันๆ
แต่คณะครูต้องทำงานอย่างหนัก มีการระดมความคิดเพื่อจัดหารูปแบบการเรียนการสอนเพื่อให้เข้าสู่เป้าหมาย
ผมเห็นสื่อการสอนบนกระดานมีมากมายเหลือเกินครับ
“เธอต้องคำนวณแบบนี้นะ ใช้สูตรนี้นะ เจอตัวเลขนี้…ให้ปัดเศษไปเลย คิดได้เร็วสุดๆ เลยนะ เคล็ดลับนี้คุณครูไม่เคยบอกใครนะ รับรองว่าเธอคิดได้เร็วยังกับจรวด” เอ่อออ…แต่อย่ามาถามผมเรื่องความเข้าใจหรือกระบวนการคิดนะ…ผมไม่รู้
ในชั้นเรียนจำลองแนว open Approach ทำให้ผมเห็นศักยภาพของเด็ก ซึ่งบางคนผมเห็นเขาตั้งแต่อนุบาล ๑ จนถึง ป.๑ ผมคิดว่าเขาเป็นเด็กขี้อายมากนะครับ แต่ภาพที่เห็นในวันนั้น ผมกลับเห็นเขายกมือตอบตลอดเวลา ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างไม่เขินอาย เป็นภาพที่น่าประทับใจจริงๆ
หลังจากที่ชมภาพความประทับใจในระดับ ป.๑ ได้เห็นวิธีการสอนของคุณครูที่ทำให้ห้องเรียนสนุกสนาน มีชีวิตชีวา ผมจึงอยากเรียนรู้เพิ่มเติมว่า ผมสามารถนำไปสอนลูกตนเองได้หรือไม่ โดยใช้แนวคิด Open Approach? ถ้าเป็นการสอนแบบเดิมๆ ตามที่ผมเคยเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก ต้องยอมรับว่า มันเป็นวิธีคิดเลขที่เร็วมาก ได้คำตอบสำาเร็จรูปแบบฉับไว แต่…เด็กจะไม่เข้าใจกระบวนการอะไรเลย ซึ่งตรงนี้ทำให้ผมไม่กล้าสอนคณิตศาสตร์ให้ลูกมาตลอด เพราะเกรงว่าจะไปขัดแย้งกับแนว Open Approach และเพื่อเป็นการเพิ่มเติมความรู้ ผมจึงขออนุญาตคุณครูขอชมชั้นเรียนคณิตศาสตร์ในระดับชั้น ป.๒ ต่อในวันรุ่งขึ้น และหลังจากเข้าชมชั้นเรียนลูกสาวที่อยู่ในระดับชั้น ป.๓ ผมก็ได้รับความกรุณาจากครูจิ๋วให้เข้าชมในทุกระดับจนถึงชั้น ป.๖
ไม่ผิดหวังครับ ผมได้เรียนรู้วิธีการสอนของครูแต่ละคนว่าใช้เทคนิคอะไรในการที่จะระดมความคิดจากนักเรียน การสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเพื่อให้เชื่อมโยงระหว่างปัญหาและวิธีการแก้ไขนั้นมีส่วนสำคัญทีเดียว คำพูดของคุณครูก็มีส่วนสำคัญมากในการต่อยอดความคิดของนักเรียน ท่าทีความเป็นกัลยาณมิตรของคุณครูมีส่วนอย่างมากที่ทำให้เด็กเปิดใจรับรู้และกล้าแสดงความคิดเห็น คุณครูพยายามให้นักเรียนได้สร้างกระบวนความคิดที่หลากหลาย เพื่อนำพาถึงเป้าหมาย ถึงแม้คุณครูอยากจะบอกใจจะขาดว่ามันคืออะไร แต่ก็ต้องอดทนเพื่อรอคำตอบที่ซึ่งได้มาจากคำพูดของนักเรียนเอง คุณครูบางท่านบอกว่า “น้ำตาแทบไหลในยามที่นักเรียนได้คำๆ นั้นมาด้วยตัวนักเรียนเอง”
ส่วนนักเรียนคนไหนที่ยังไม่เข้าใจ คุณครูก็จะหาเวลามาอธิบายเพิ่มเติม เพื่อนำพาไปสู่เป้าหมายพร้อมกับเพื่อนคนอื่นๆ
มาถึงตรงนี้ ผมเข้าใจแล้วล่ะครับว่า ทำไมโรงเรียนถึงบอกว่าไม่ต้องพาลูกๆ ไปเรียนพิเศษ ก็เพราะกระบวนการเรียนการสอนแตกต่างกันนี่เอง ระบบ Open Approach ดูเหมือนช้าแต่ผมคิดว่ามั่นคงนะครับ และเหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่ผมไม่พาลูกไปเรียนพิเศษก็เพราะว่า กลัวลูกผมไม่ตั้งใจเรียนในเวลาเรียน เพราะคิดว่าตัวเองรู้วิธีลัดแล้ว ไม่จำเป็นต้องสนใจในชั้นเรียนก็ได้
ผมขอชื่นชมคณะคุณครูที่เห็นความสำคัญของคณิตศาสตร์แนว Open- Approach มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนเทน้ำร้อนเพื่อชงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพื่อรับประทานแล้วก็อิ่มไปวันๆ แต่คณะครูต้องทำงานอย่างหนัก มีการระดมความคิดเพื่อจัดหารูปแบบการเรียนการสอนเพื่อให้เข้าสู่เป้าหมาย ผมเห็นสื่อการสอนบนกระดานมีมากมายเหลือเกินครับ เพราะครูเห็นว่าการได้ทดลองสร้างเหตุการณ์หรือการจำลองสถานการณ์ขึ้นมาจะมีส่วนทำให้นักเรียนเข้าใจกระบวนการได้ง่าย มีการซ้อมสอนโดยให้คุณครูท่านอื่นมาทดลองเป็นนักเรียน เมื่อสอนเสร็จ คุณครูผู้สอนต้องสามารถวิเคราะห์ชั้นเรียนของตัวเองว่า บรรลุเป้าหมายหรือไม่ มีอะไรที่ขาดตกบกพร่องไปบ้าง เพื่อที่จะได้นำไปแก้ไขในคาบเรียนหน้า คุณครูเองก็จะได้ฟังคำวิจารณ์จากคณะครูผู้สังเกตการณ์การเรียนการสอนในวันนั้นอีก
แค่คิดก็เหนื่อยแทนครูแล้ว ไม่ต้องถามผมหรอกครับว่าจะคิดมาเป็นคุณครูรุ่งอรุณบ้างหรือไม่? ผมตอบได้ทันทีว่า ผมคงไม่มีความสามารถขนาดนั้นหรอกครับ ผมขอแค่เป็นคนช่วยสานต่อกระบวนความคิดแล้วนำมาปรับใช้กับลูกๆ ของผม เท่านี้ก็เหงื่อตกแล้วครับ
ผมคิดว่าคณิตศาสตร์แนว Open Approach คงมีรายละเอียดต่างๆ อีกมากมายในกระบวนการ ซึ่งผมต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกมากมาย ที่เขียนในบทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผมที่มาพร้อมกับความรู้สึกดีๆ ที่มีกับการสอนในแนวนี้ที่เกิดมาจากการที่ได้เข้าชมชั้นเรียนทั้ง ๖ ระดับครับ
ขอขอบคุณผู้บริหารและคณะครูโรงเรียนรุ่งอรุณทุกท่านครับที่เห็นความสำคัญ ระบบการเรียนรู้ในแนวนี้เป็นการเรียนที่เข้าถึงคุณค่าการเรียนรู้ที่แท้จริง ไม่ใช่แค่เรียนจากตำราเดิมๆ รูปแบบเดิมๆ ขอบคุณที่โรงเรียนไม่เคยย่่ำอยู่กับที่ มีการพัฒนาบุคลากรของโรงเรียนอยู่ตลอดเวลา และขอบคุณที่เปิดชั้นเรียนคณิตศาสตร์ให้ผู้ปกครองทุกท่านได้เข้าชมนะครับ